ปัญหาบ้านรุกล้ำพื้นที่สาธารณะ เหมือนบททดสอบการใช้อำนาจระหว่างรัฐกับประชาชน บนพื้นฐานความยุติธรรม เนื่องจากมีความเป็นมา มีรากฐานยึดโยงกว่า 100 ปี ขณะเดียวกัน การพัฒนาเปลี่ยนแปลงให้เหมาะสมกับยุคสมัยก็ต้องดำเนินควบคู่ไปด้วย จึงเป็นเรื่องที่ต้องอาศัยเวลาและความเข้าใจอย่างที่สุด

นายขจิต ชัชวานิชย์ ปลัดกรุงเทพมหานคร เปิดเผยว่า สำหรับปัญหาบ้านรุกล้ำริมคลอง ตนในฐานะผู้ดูแลเรื่องนี้มาตั้งแต่ปี 2547 สมัยเป็นผู้ช่วยเขตบางเขน เคยช่วยประชาชนจากที่อยู่บ้านริมคลองขึ้นมาอาศัยในบ้านพักที่รัฐจัดสวัสดิการให้กว่า 400 หลังคาเรือน ได้รับเสียงตอบรับจากประชาชนถึงชีวิตที่ดีขึ้น ไม่ต้องอยู่ในชุมชนแออัดเหมือนเดิม ที่สำคัญคือบุตรหลานมีความเป็นอยู่ปลอดภัยมากขึ้น นอกจากนี้ ยังมีผู้ที่ยอมเสียสละจากที่เคยมีบ้านหลังใหญ่หลายหลัง ก็ย้ายมาอยู่บ้านหลังเดียวเพราะยอมรับว่าตนเองรุกล้ำพื้นที่สาธารณะ ต้องอยู่ด้วยความไม่สบายใจ แต่ปัจจุบัน สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (พอช.) มีการสนับสนุนเงินบ้านรุกล้ำหลังคาเรือนละประมาณ 140,000 บาท เพื่อเป็นต้นทุนในการย้ายไปอยู่บ้านมั่นคงที่รัฐจัดเตรียมให้

หากเล่าถึงความเป็นมาเดิม ปี 2497 พื้นที่ริมคลองเป็นของหลวง (สาธารณะ) กลุ่มผู้มาอาศัยรุ่นแรกเลือกที่จะเข้ามายึดพื้นที่ของหลวง ทั้งที่สามารถยึดพื้นที่เอกชนและสามารถขึ้นทะเบียนแจ้งการครอบครองที่ดิน (ส.ค.1) ได้ในสมัยนั้น แต่พวกเขาไม่ทำ เพราะรู้ว่าเป็นการขโมยที่ดิน สำหรับที่ดินแปลงคลองเปรมประชากร เคยมีพระราชกระแสจากรัชกาลที่ 6 ว่า “ซื้อเพื่อชลประทานให้กับประชาชน หากใครมาใข้พื้นที่ ห้ามชดใช้ค่าเสียหายใดๆ ทั้งสิ้น” ซึ่งระบุไว้ชัดเจน ปัจจุบัน กรมธนารักษ์ ในฐานะผู้ดูแลพื้นที่หลวง จึงคำนึงถึงพระราชกระแสดังกล่าว โดยการแบ่งพื้นที่ให้บุคลได้ใช้ ซึ่งตนมองว่าถูกต้อง เพราะมีความมั่นคงและส่งเสริมคุณภาพชีวิตได้ดีกว่าตามยุคสมัยปัจจุบัน

นายขจิต กล่าวอีกว่า เงินที่ พอช.อุดหนุน สมทบกับบ้านในราคาประมาณ 500,000 บาท หากผู้อยู่อาศัยไม่สามารถผ่อนได้หรือไม่อยากอยู่จริงๆ สหกรณ์ก็จะรับซื้อในราคาไม่น้อยกว่าราคาเดิม แต่ต้องให้สิทธิ์เท่าเทียมกันทั้งผู้อาศัยเดิมและผู้อาศัยใหม่ ปัจจุบันมีบางหลังคาเรือนจะขอเช่าที่เอง ซึ่งไม่เป็นไปตามนโยบายของกรมธนารักษ์ จึงอนุญาตไม่ได้ กรมธนารักษ์อนุญาตเฉพาะรูปแบบสหกรณ์เท่านั้น ส่วนเรื่องที่ว่า การย้ายไปแล้วมีความสุขมากน้อยเพียงใดก็ต้องปรับแก้ไขกัน เนื่องจากมีทั้งผู้ที่ชื่นชอบและไม่ชื่นชอบ เป็นเรื่องธรรมดา ตนมองว่าทุกที่มีปัญหาเหมือนกันหมด ต้องปรับปรุงแก้ไขกันไป

นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร กล่าวว่า กรณีบ้านรุกล้ำริมคลอง ยังเป็นเรื่องที่ต้องหารือกันอยู่เสมอ การประชุมผู้บริหาร กทม.ล่าสุด ได้ข้อสรุปว่า หากลดจำนวนไม่ได้ ก็ต้องควบคุมไม่ให้เพิ่มขึ้น อย่างไรก็ตาม กทม.ต้องชะงักโครงการเขื่อนคลองเปรมฯ โครงการอุโมงค์ระบายน้ำคลองเปรมฯโดยไม่มีกำหนด ส่งผลให้การป้องกันน้ำท่วมไม่เป็นไปตามแผนที่วางไว้ โดย กทม.มีหน้าที่ดำเนินการควบคู่กันไป ทั้งเรื่องบริหารจัดการบ้านรุกล้ำและการทำเขื่อนและอุโมงค์ระบายน้ำ ปัจจุบันยังมีการรุกล้ำทั้งคลองเปรมประชากรและคลองลาดพร้าว เป็นปัญหาหลายมิติที่ต่อเนื่องมานาน มีทั้งอาคารรุกล้ำในคลองและริมคลองซึ่งเป็นที่ดินของกรมธนารักษ์ ปัญหาที่พบคือ แต่ละหน่วยงานมีความเร่งด่วนไม่เหมือนกัน เช่น กทม.มีความเร่งด่วนเรื่องการระบายน้ำ ส่วนหน่วยงานที่ดูแลเรื่องที่อยู่อาศัยมีความเร่งด่วนเรื่องการหาที่อยู่อาศัยใหม่ให้ผู้รุกล้ำ สิ่งสำคัญคือการร่วมมือกันให้โครงการเดินหน้า ซึ่งเป็นเรื่องที่ค่อนข้างกังวล

ที่ผ่านมาเราพยายามเจรจาย้ายประชาชนเข้าสู่บ้านมั่นคง เบื้องต้นกำชับนโยบายห้ามให้มีจำนวนบ้านรุกล้ำเพิ่มขึ้น ทั้งนี้ ยอมรับว่า กทม.ไม่สามารถดำเนินการสำเร็จได้ ต้องร่วมมือกับ พอช. ซึ่งเป็นหน่วยงานหนึ่งที่ทำโครงการบ้านมั่นคงร่วมกับกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ปัจจุบันกำลังเร่งให้ พอช.ทำความเข้าใจกับชาวบ้านเรื่องโครงการบ้านมั่นคง เนื่องจาก กทม.รับผิดชอบโครงการทำเขื่อนทั้งคลองลาดพร้าวและคลองเปรมฯ แต่ยังติดบ้านรุกล้ำอยู่หลายพันหลังคาเรือน แม้จะมีบางส่วนยอมย้ายเข้าบ้านมั่นคงไปแล้ว อย่างไรก็ตาม การดำเนินการเรื่องนี้มีความละเอียดอ่อน ต้องมีความสมดุลระหว่างการใช้อำนาจกับความยุติธรรม

นายเจษฎา จันทรประภา รองผู้อำนวยการสำนักการระบายน้ำ กทม. เปิดเผยว่า กทม.กำลังหาทางระบายน้ำทดแทนเพิ่มเติมในส่วนของคลองเปรมฯและคลองลาดพร้าว เพราะไม่สามารถดำเนินการก่อสร้างตามแผนป้องกันน้ำท่วมได้ ซึ่งตามแผนเดิม กำหนดการสร้างอุโมงค์ระบายน้ำคลองเปรมประชากร ขนาด 5.70 เมตร ยาวประมาณ 13.50 กิโลเมตร พร้อมก่อสร้างสถานีสูบน้ำตอนปลายอุโมงค์กําลังสูบ 60 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที โดยเริ่มรับน้ำจากคลองบางบัว ลอดใต้คลองวัดหลักสี่ คลองเปรมประชากร ถนนรัชดาภิเษก ถนนวงศ์สว่าง ก่อนออกแม่น้ำเจ้าพระยา บริเวณใต้สะพานพระราม 7 ช่วยระบายน้ำครอบคลุมพื้นที่ประมาณ 109 ตารางกิโลเมตร ได้แก่ พื้นที่เขตดอนเมือง สายไหม บางเขน หลักสี่ และจตุจักร ใช้งบประมาณ 9,800 ล้านบาท ปัจจุบันยังไม่มีกำหนดแล้วเสร็จ เนื่องจากติดปัญหาบ้านรุกล้ำริมคลอง ไม่สามารถก่อสร้างได้

นายเฉลิมพล โชตินุชิต รองปลัดกทม. กล่าวว่า ในด้านกฎหมาย กทม.มีอำนาจดำเนินการ แต่ต้องยึดถือคุณธรรมและความเห็นอกเห็นใจเพื่อนมนุษย์เป็นหลัก โดยในทางปฏิบัติ ผู้อำนวยการเขตคือพนักงานเจ้าหน้าที่ในการกำกับดูแลเรื่องนี้ โดยหลักการ ผอ.เขตสามารถออกคำสั่งไว้แล้วแจ้งความเป็นรายคดีกับผู้รุกล้ำที่ไม่ยอมย้ายออกได้ ซึ่งมีโทษทางอาญา อย่างไรก็ตาม แม้ ผอ.เขตจะมีอำนาจทางกฎหมาย แต่ประชาชนก็มีสิทธิ์ฟ้องร้องเพื่อขอความเป็นธรรมได้ เช่นกัน โดยภาพรวมต้องยึดถือการเจรจาและความเข้าใจอย่างสันติ แม้จะต้องใช้เวลานานก็ต้องทำ เพราะเป็นเรื่องสำคัญต่อชีวิตประชาชน