ศูนย์วิจัยกสิกรไทยเผย เงินบาทสัปดาห์ที่ผ่านมาแข็งค่าผ่านแนว 34 บาทต่อดอลลาร์ แตะแข็งค่าสุดในรอบกว่า 1 เดือนครึ่ง ที่ 33.79 บาทต่อดอลลาร์ โดยในสัปดาห์หน้า จับตาการทบทวนประมาณการเศรษฐกิจโลกของ IMF ทิศทางเงินทุนต่างชาติและสกุลเงินเอเชีย
ศูนย์วิจัยกสิกรไทย สรุปความเคลื่อนไหวของค่าเงินบาทว่า เงินบาทแข็งค่าผ่านแนว 34.00 ไปแตะระดับแข็งค่าสุดในรอบกว่า 1 เดือนครึ่งที่ 33.79 บาทต่อดอลลาร์ฯ ก่อนลดช่วงบวกบางส่วนปลายสัปดาห์
โดยเงินบาทแข็งค่าขึ้นในช่วงต้น-กลางสัปดาห์ท่ามกลางแรงขายเงินดอลลาร์ฯ หลังตัวเลขเศรษฐกิจสหรัฐฯ ออกมาแย่กว่าที่ตลาดคาด (อาทิ ดัชนี ISM ภาคการผลิตและภาคบริการเดือนมี.ค. ตัวเลขการเปิดรับสมัครงานเดือนก.พ. รวมถึงจำนวนผู้ขอรับสวัสดิการรายสัปดาห์) ซึ่งกระตุ้นการคาดการณ์ของตลาดว่า ธนาคารกลางสหรัฐฯ (เฟด) ใกล้จะสิ้นสุดแนวโน้มการคุมเข้มนโยบายการเงิน โดยเฉพาะหากเศรษฐกิจสหรัฐฯ มีความเสี่ยงต่อภาวะถดถอยเพิ่มขึ้น อย่างไรก็ดี เงินบาทอ่อนค่ากลับมาในช่วงปลายสัปดาห์ตามทิศทางราคาทองคำในตลาดโลก ขณะที่แรงขายเงินดอลลาร์ฯ ชะลอลงบางส่วน เนื่องจากตลาดรอติดตามตัวเลขการจ้างงานนอกภาคเกษตร อัตราการว่างงาน และเครี่องชี้ตลาดแรงงานของสหรัฐฯ เพื่อประเมินทิศทางดอกเบี้ยของสหรัฐฯ ในระยะข้างหน้า
ในวันศุกร์ที่ 7 เม.ย. 2566 เงินบาทปิดตลาดที่ระดับ 34.07 บาทต่อดอลลาร์ฯ เทียบกับ 34.20 บาทต่อดอลลาร์ฯ ในวันศุกร์ก่อนหน้า (31 มี.ค.) สำหรับสถานะพอร์ตการลงทุนของนักลงทุนต่างชาติระหว่างวันที่ 3-7 เม.ย. 2566 นั้น นักลงทุนต่างชาติขายสุทธิหุ้นไทย 522 ล้านบาท และมีสถานะเป็น Net Outflows ออกจาดตลาดพันธบัตรไทย 16,003 ล้านบาท (ขายสุทธิพันธบัตร 11,671 ล้านบาท ขณะที่มีตราสารหนี้หมดอายุ 4,332 ล้านบาท)
สำหรับสัปดาห์ถัดไป (10-14 เม.ย.) ธนาคารกสิกรไทยมองกรอบการเคลื่อนไหวของค่าเงินบาทที่ระดับ 33.80-34.50 บาทต่อดอลลาร์ฯ ขณะที่ศูนย์วิจัยกสิกรไทยประเมินปัจจัยสำคัญที่ต้องติดตาม ได้แก่ การทบทวนประมาณการเศรษฐกิจโลกของ IMF ทิศทางเงินทุนต่างชาติและสกุลเงินเอเชีย
ขณะที่ตัวเลขเศรษฐกิจสหรัฐฯ ที่สำคัญ ได้แก่ ดัชนีราคาผู้บริโภค ดัชนีราคาผู้ผลิต ยอดค้าปลีก การผลิตภาคอุตสาหกรรมเดือนมี.ค. ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภค (เบื้องต้น) เดือนเม.ย. และรายงานการประชุมเฟดเมื่อวันที่ 21-22 มี.ค.
นอกจากนี้ตลาดยังรอติดตามผลการประชุมนโยบายการเงินของธนาคารกลางเกาหลีใต้ และตัวเลขเศรษฐกิจจีน อาทิ ดัชนีราคาผู้บริโภค ดัชนีราคาผู้ผลิต และตัวเลขการส่งออกเดือนมี.ค.
ส่วนความเคลื่อนไหของตลาดหุ้นไทย หุ้นไทยปรับตัวลงเกือบตลอดสัปดาห์ ทั้งนี้หุ้นไทยร่วงลงตั้งแต่ช่วงต้นสัปดาห์ โดยเผชิญแรงฉุดหลักจากแรงขายหุ้นบริษัทผู้ผลิตชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์รายใหญ่แห่งหนึ่งเพื่อลดความเสี่ยง เนื่องจากตลท. ประกาศให้เข้าเกณฑ์ต้องใช้บัญชีเงินสดในการซื้อขายหลักทรัพย์ หลังราคาหุ้นปรับขึ้นค่อนข้างร้อนแรงในช่วงที่ผ่านมา
อย่างไรก็ดี หุ้นไทยฟื้นตัวกลับมาได้บางส่วนช่วงปลายสัปดาห์ตามทิศทางหุ้นภูมิภาค ประกอบกับมีแรงซื้อคืนหุ้นหลังร่วงลงแรงก่อนหน้านี้ อนึ่ง หุ้นกลุ่มพลังงานดีดตัวแรงช่วงต้นสัปดาห์ โดยมีแรงหนุนจากราคาน้ำมันโลกที่ปรับตัวขึ้น หลังโอเปกพลัสประกาศลดกำลังการผลิตน้ำมันลงอีก 1.16 ล้านบาร์เรลต่อวัน ส่วนหุ้นกลุ่มแบงก์มีแรงซื้อเข้ามาก่อนการประกาศงบไตรมาส 1/66
ในวันศุกร์ (7 เม.ย.) ดัชนี SET ปิดที่ระดับ 1,577.07 จุด ลดลง 1.99% จากระดับปลายสัปดาห์ก่อน ขณะที่มูลค่าการซื้อขายเฉลี่ยต่อวันอยู่ที่ 42,845.55 ล้านบาท ลดลง 2.36% จากสัปดาห์ก่อน ส่วนดัชนี mai ลดลง 2.30% มาปิดที่ระดับ 525.74 จุด
สำหรับสัปดาห์ถัดไป (10-14 เม.ย.) บริษัทหลักทรัพย์กสิกรไทย จำกัด มองว่า ดัชนีหุ้นไทยมีแนวรับที่ 1,565 และ 1,550 จุด ขณะที่แนวต้านอยู่ที่ 1,595 และ 1,615 จุด ตามลำดับ
โดยศูนย์วิจัยกสิกรไทยประเมินปัจจัยสำคัญที่ต้องติดตาม ได้แก่ ทิศทางเงินทุนต่างชาติ สถานการณ์ราคาน้ำมันในตลาดโลก และการปรับโพสิชันของนักลงทุนก่อนการประกาศผลประกอบการงวดไตรมาส 1/66 ของบจ.ไทย
ส่วนข้อมูลเศรษฐกิจสหรัฐฯ ที่สำคัญ ได้แก่ ดัชนีราคาผู้บริโภค ดัชนีราคาผู้ผลิต ยอดค้าปลีก ผลผลิตภาคอุตสาหกรรมเดือนมี.ค. รายงานการประชุมเฟด (21-22 มี.ค.) รวมถึงจำนวนผู้ขอรับสวัสดิการว่างงานรายสัปดาห์ ขณะที่ปัจจัยต่างประเทศอื่นๆ ได้แก่ ผลผลิตภาคอุตสาหกรรมและยอดค้าปลีกเดือนก.พ. ของยูโรโซน รวมถึงข้อมูลเศรษฐกิจเดือนมี.ค. ของจีน อาทิ ดัชนีราคาผู้บริโภค และดัชนีราคาผู้ผลิต