วันที่ 7 เม.ย.66 ที่ห้องรัตนโกสินทร์ ศาลาว่าการกรุงเทพมหานคร นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครแถลงข่าวการจัดงานเทศกาลมหาสงกรานต์กรุงเทพมหานคร ประจำปี พ.ศ. 2566 พร้อมเชิญชวนประชาชนและทุกภาคส่วนร่วมกิจกรรมสงกรานต์ ตามแนวคิด “ใส่ดอกออกเที่ยว ร่วมสร้างปรากฏการณ์ลายดอกบานสะพรั่งทุกพื้นที่ทั่วกรุงเทพมหานคร” ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งในการนำประเพณีสงกรานต์ในประเทศไทยเข้าสู่การพิจารณาของยูเนสโกในการขึ้นทะเบียนมรดกโลก ภายใต้แนวทาง “สืบสานสงกรานต์วิถีไทย ร่วมสานใจสู่สากล”
นายชัชชาติ กล่าวว่า กทม.ให้ความสำคัญกับวันสงกรานต์ซึ่งเป็นวัฒนธรรมประเพณีอันดีงามของไทยที่มีมาอย่างยาวนาน โดยในปีนี้ถือเป็นครั้งแรกในรอบ 4 ปี ที่มีการเปิดให้ภาครัฐ ภาคเอกชน ได้จัดงานในทุกพื้นที่อย่างเต็มรูปแบบ หลังจากมีการงดกิจกรรมสงกรานต์ติดต่อกันเนื่องจากสถานการณ์โรคโควิด-19 โดยกรุงเทพฯ มีการจัดเทศกาลสงกรานต์ถึง 198 จุด มีจุดสำคัญได้แก่
1.ลานคนเมือง ระหว่างวันที่ 12 - 14 เมษายน เวลา 10.00 - 22.00 น. 2.งานสงกรานต์ วัดปทุมวนารามราชวรวิหารเขตปทุมวัน จัดขึ้นในวันที่ 13 เมษายน 3.งานสงกรานต์สยาม สงกรานต์เมษาผ้าขาวม้า จัดขึ้นระหว่างวันที่ 13 - 15 เมษายน เวลา 11.00 - 22.00 น. ณ สยามสแควร์ เขตปทุมวัน เชิญชวนแต่งกายด้วยผ้าขาวม้า นุ่งชุดไทยเพื่ออนุรักษ์ความเป็นไทย 4.เทศกาลเย็นทั่วหล้า มหาสงกรานต์ ณ บริเวณจุฬาลงกรณ์ ซอย 5 และ Stadium One เขตปทุมวัน จัดขึ้นระหว่างวันที่ 13 - 15 เมษายน เวลา 12.00 - 22.00 น. 5.เพลินสงกรานต์ อาหารย่านถิ่น ฟินการเงิน ณ ศูนย์การเรียนรู้ธนาคารแห่งประเทศไทย (ใต้สะพานพระราม 8) 6.งาน ICONIC SONGKRAN FESTIVAL มหัศจรรย์เจ้าพระยามหาสงกรานต์ ณ ไอคอนสยาม เขตคลองสาน ระหว่างวันที่ 11 - 17 เมษายน เวลา 10.00 - 22.00 น. 7.งานTHAILAND’S SONGKRAN FESTIVAL 2023 สงกรานต์มหาบันเทิงทั่วไทย ระหว่างวันที่ 7 - 16 เมษายน ณศูนย์การค้าเซ็นทรัลทั่วประเทศ 8.งานเทศกาลมหาสงกรานต์ ถนนข้าวสาร เขตพระนคร จัดขึ้นระหว่างวันที่ 13 - 15 เมษายน เวลา 17.00 - 24.00 น. 9.เทศกาลวิถีน้ำวิถีไทย Water Festival Thailand 2023 สนับสนุนการท่องเที่ยวแบบยั่งยืนริมแม่น้ำสายวัฒนธรรมตลอดโค้งน้ำเจ้าพระยา ณ 11 ท่าน้ำวิถีไทย สัมผัสวิถีชุมชน ระหว่างวันที่ 13 - 16 เมษายน ตั้งแต่เวลา 09.00 น. - 17.00 น.
นอกจากนี้ กทม.ยังเปิดตัวแอปพลิเคชัน Nicemap รวมทุกสถานที่จัดงานทั้ง 189 จุด ไว้ในแอพฯเดียว ซึ่งจะแสดงรูปแบบของการจัดงานในแต่ละจุด สามารถปักหมุดหรือตรวจสอบข้อมูลต่างๆ ก่อนไปร่วมกิจกรรมได้ พร้อมแจ้งเตือนเหตุในพื้นที่ เพื่อให้นักท่องเที่ยวและประชาชนสามารถเลือกเที่ยวสงกรานต์ได้ตรงกับความต้องการของตนเอง
นายชัชชาติ กล่าวว่า สำหรับเทศกาลสงกรานต์ ณ ลานคนเมือง ซึ่งจัดโดยกรุงเทพมหานคร ระหว่างวันที่ 12 -14 เมษายน 2566 ภายใต้ชื่อ “สงกรานต์ลานคนเมือง” ถือเป็น 1 จุดสำคัญ ประกอบไปด้วยกิจกรรมต่างๆ เช่น สรงน้ำพระ ประพรมน้ำมนต์ เสริมสิริมงคล รับปีใหม่ไทย รูปแบบงานเป็นการอนุรักษ์วัฒนธรรมไทย จำลองบรรยากาศของงานวัด มีการสรงน้ำพระพุทธรูปประจำวันเกิด ลานก่อเจดีย์ทราย การแสดงดนตรีจากศิลปินที่มีชื่อเสียง การแสดงโขนลิเก ดนตรีไทย เครื่องเล่นและการละเล่นไทย เช่น ชิงช้าสวรรค์ มวยทะเล มอญซ่อนผ้า รีรีข้าวสาร เป็นต้น โดยในส่วนของเวทีการแสดงศิลปวัฒนธรรมไทยจะเริ่มระหว่างเวลา 17.00 - 22.00 น.
โดยกรุงเทพมหานครได้จัดรถพลังงานไฟฟ้า BMA Feeder (20 ที่นั่ง รองรับผู้พิการ 2 ที่) บริการฟรีแก่นักท่องเที่ยวและประชาชนที่มาร่วมงานเทศกาลสงกรานต์กรุงเทพมหานคร ระหว่างวันที่ 8 - 16 เมษายน 2566 เวลา 16.00 - 20.00 น. จอดรับ-ส่ง ในเส้นทางตั้งแต่ ลานคนเมือง คลองผดุงฯ ถนนข้าวสาร ทุก 1 ชั่วโมง โดยได้จัดทำป้ายจอด 11 จุด ได้แก่ 1.ลานคนเมือง(เสาชิงช้า) 2.อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย(ถนนข้าวสาร) 3.สงกรานต์คลองผดุงฯ เขตดุสิต(คุรุสภา) 4.ท่าเรือราชดำเนินนอก(มัฆวาน) 5.ท่าเรือนครสวรรค์(ตลาดนางเลิ้ง) 6.ท่าเรือหลานหลวง(โบ๊เบ๊) 7.ท่าเรือกระทรวงพลังงาน (รพ.หัวเฉียว) 8.ท่าเรือยศเส(เทพศิรินทร์) 9.สงกรานต์คลองผดุงฯ เขตป้อมปราบฯ(สายปัญญา) 10.ท่าเรือนพวงศ์(การรถไฟฯ) 11.ท่าเรือหัวลำโพง(สถานีรถไฟกรุงเทพฯ) ทั้งนี้ หากประชาชนต้องการแจ้งเหตุด่วนเหตุร้าย โทร. 191 เจ็บป่วยฉุกเฉิน โทร. 1669 และพบเหตุเพลิงไหม้หรือสาธารณภัย โทร. 199 ได้ตลอด 24 ชั่วโมง
“กรุงเทพมหานครขอความร่วมมือประชาชนที่เข้าร่วมงานเทศกาลมหาสงกรานต์ เล่นสงกรานต์อย่างสุภาพ เน้นการรักษาวัฒนธรรมและประเพณีอันดีงามของไทยโดยยึดหลัก 4 ป. คือ ปลอดแป้ง ปลอดปืนฉีดน้ำแรงดันสูง ปลอดโป๊และปลอดเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ พร้อมร่วมใจใส่ดอกออกเที่ยวตลอดช่วงเทศกาลสงกรานต์ปีนี้” นายชัชชาติ กล่าว