วันที่ 7 เม.ย.66 ที่ศาลาว่าการ กทม.เสาชิงช้า นายชัชชาติ สิทธิพันธ์ุ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร กล่าวภายหลังเป็นประธานการประชุมหัวหน้าหน่วยงานของ กทม.ครั้งที่ 4/2566 ว่า จากกรณีการทุจริตของเจ้าหน้าที่ฝ่ายรายได้เขตราชเทวี จากการรายงานพบว่า ส่วนใหญ่ฝ่ายที่มีปัญหาคือ ฝ่ายเทศกิจ ฝ่ายโยธา และฝ่ายรายได้ จึงเน้นย้ำให้ ผอ.เขตให้ความสำคัญเรื่องนี้ อย่างไรก็ตาม ต้องให้กำลังใจเจ้าหน้าที่ เนื่องจากยังมีคนดีอีกมาก หน้าที่ กทม.คือคัดแยกคนไม่ดีออกไป ทั้งนี้ กทม.ทราบข้อมูลเรื่องดังกล่าวมาก่อนแล้ว แต่ไม่มีอำนาจในการจับกุมและดำเนินคดีทางอาญา จึงได้ประสานกับ สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตในภาครัฐ (ป.ป.ป.) นำโดย พ.ต.อ.ประสงค์ เฉลิมพันธ์ เพื่อดำเนินการจับกุมตามกฎหมาย ซึ่ง กทม.เป็นผู้ให้ความร่วมมือกับ ป.ป.ป. แต่ไม่ได้ร่วมวางแผนในการจับกุมครั้งนี้ ความคืบหน้าปัจจุบันอยู่ระหว่างการสอบสวนขยายผลของเจ้าหน้าที่ตำรวจ

นายชัชชาติ กล่าวว่า ในส่วนของ กทม.จะดำเนินการ 2 ส่วน ประกอบด้วย 1.ลดการใช้วิจารณญาณของฝ่ายฝ่ายรายได้ลง โดยนำเทคโนโลยีมาช่วย เช่น นำข้อมูลการเสียภาษีที่ดิน อาคาร ป้าย เข้าระบบดิจิตอล สามารถตรวจสอบได้ว่า มีการจ่ายภาษีจำนวนใดบ้าง เพื่อลดการใช้วิจารณญาณลง ทำให้ขบวนการเรียกรับสินบนน้อยลง ถือเป็นโอกาสที่ดี เนื่องจากแต่เดิมภาษีโรงเรือนคิดเป็น 12.5% ของรายได้ แต่ปัจจุบันภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างคิดตามราคาประเมินของกรมธนารักษ์ และการประมาณราคาอาคาร ซึ่งมีความเที่ยงตรงมากกว่า ทั้งนี้ การนำข้อมูลเข้าระบบดิจิตอลจะทำให้การตรวจสอบข้อมูลมีประสิทธิภาพมากขึ้น 2.เพิ่มฝ่ายตรวจสอบภายในและผู้ตรวจ เพื่อช่วยกำกับดูแลขบวนการเก็บเงินของเขตต่างๆ ลดการใช้วิจารณญาณโดยคนใดคนหนึ่งเพียงผู้เดียว นอกจากนี้ กทม.จะพยายามผลักดันเรื่องการขอใบอนุญาตต่างๆ ในรูปแบบออนไลน์มากขึ้น ลดการเจอกันระหว่างผู้ให้ใบอนุญาตกับประชาชน โดยได้ทดลองตั้งคณะกรรมการเพื่อพิจารณาใบอนุญาตแบบกลุ่ม แทนการพิจารณาจากเจ้าหน้าที่คนเดียว เพื่อช่วยกันตรวจสอบและให้เป็นไปตาม พ.ร.บ.อำนวยความสะดวก

ปัจจุบัน เจ้าหน้าที่ฝ่ายรายได้เขตราชเทวีคนดังกล่าว ถูกย้ายมาในพื้นที่สำหรับข้าราชการที่มีปัญหา ซึ่งรับได้ 20 ตำแหน่ง เพื่อให้ตำแหน่งเดิมที่มีปัญหาสามารถนำคนเข้าไปแทนได้ หากไม่ย้ายเข้าพื้นที่สำหรับข้าราชการที่มีปัญหาก่อน จะไม่สามารถนำคนอื่นเข้าไปแทนที่ได้ จะทำให้เสียตำแหน่งดังกล่าวไป เมื่อย้ายแล้ว กทม.จึงสั่งพักงานและตั้งคณะกรรมการตรวจสอบวินัยร้ายแรงต่อไป โดย กทม.ยืนยันว่า ผู้บริหารไม่มีผลประโยชน์ใดๆ ทั้งสิ้น หากมีผลประโยชน์เกี่ยวข้องคงไม่กล้าดำเนินการอย่างเด็ดขาด เพราะสุดท้ายจะถูกขยายผลมาถึงในที่สุด ดังนั้น จึงสามารถดำเนินการได้อย่างเต็มที่