ลีลาชีวิต/ทวี สุรฤทธิกุล

คนที่เป็นพ่อเป็นแม่อาจจะตกใจในพฤติกรรมของลูก ๆ แต่ก็ต้องพยายามเข้าใจพวกเขา มิฉะนั้นพ่อแม่เองนั่นแหละที่จะต้องไปอยู่อีกโลกหนึ่ง                  

วีวรินทร์เดิมมีชื่อเล่นที่พ่อแม่ตั้งให้ว่า “แป๋ว” จนเธอขึ้นชั้นประถมปีที่ 6 ก็สังเกตว่าชื่อของเธอช่าง “ล้าหลัง” มาก ๆ ดังนั้นพอขึ้นมัธยมปีที่ 1 ที่เธอได้ไปเรียนในโรงเรียนแห่งใหม่ เธอก็แนะนำตัวเองกับเพื่อนใหม่ว่า เธอชื่อ “วิเวียน” ที่ได้มาจากการหาเสียงที่พ้องกันกับชื่อจริง “วีวรินทร์” และต่อมาพอเข้ามหาวิทยาลัย เพื่อนบางคนก็เรียนเธอว่า “วิฟ” ซึ่งเป็นคำย่อของชื่อ “วิเวียน” นั่นเอง                  

พ่อและแม่ของวิเวียนนั้นค่อนข้างจะเป็นคนเจ้าระเบียบมาก เธอเองก็เหมือน “เด็กดี” ทั้งหลายที่ต้องทำตามที่พ่อแม่แนะนำสั่งสอน ตอนที่ยังไม่ได้เข้าโรงเรียน เวลาที่พ่อแม่ไปทำงาน เธอก็จะอยู่กับพี่เลี้ยงและปู่กับย่า ซึ่งทั้งสามคนนี้ตามใจเธอมาก ๆ ทำให้เวลาที่เธอเป็นตัวของตัวเองก็ดูจะเอาแต่ใจตัวเองมาก ๆ แต่พอพ่อแม่กลับมาเธอก็เหมือนปรับเปลี่ยนนิสัยได้โดยอัตโนมัติ กลายเป็นเด็กที่อยู่ในโอวาทและสงบเงียบ                  

นอกจากนี้ วิเวียนยังเป็นคนที่สมองดี พอเข้าโรงเรียน เธอก็เรียนได้ดีทุกวิชา เป็นที่ปลื้มใจของพ่อแม่และปู่ย่า แต่ผู้ใหญ่เหล่านั้นอาจจะไม่ได้เรียนในรูปแบบของโรงเรียนสมัยใหม่ ที่ไม่ได้เน้นการแข่งขันแบบนับคะแนน เพียงแต่ประเมินความสามารถในแต่ละวิชา แล้วจัดแบ่งเกรด ที่ส่วนมากเมื่อความสามารถผ่านก็จะได้เกรดที่ดีอยู่ด้วย ดังนั้นถ้าเด็กไม่ขี้เกียจหรือมีนิสัยดีเป็นทุนเดิมอยู่แล้ว ผลการประเมินก็จะออกมายอดเยี่ยมเสมอ                

คนที่เคยผ่านชีวิตจากเด็กเล็กมาเป็นเด็กโตจนถึงวัยรุ่น คงจะพอจำการเปลี่ยนแปลงทางนิสัยใจคอต่าง ๆ ของตัวเองได้ ตอนเด็ก ๆ ก็ขึ้นอยู่กับการเลี้ยงดูของครอบครัว ถ้ามีครอบครัวที่อบอุ่น พฤตินิสัยของเด็กก็จะออกมาค่อนข้างดี ตรงกันข้ามกับเด็กที่ขาดความอบอุ่น ก็อาจจะมีพฤตินิสัยเพี้ยน ๆ ตั้งแต่ก้าวร้าวเล็ก ๆ น้อย ๆ ไปจนถึงเกเรเกะกะระราน หรือเป็นอันธพาลแหกคอกไปเลย ซึ่งจะส่งผลในช่วงวัยที่ต้องเติบโตไปในลำดับต่อไป              

แต่พอเป็นเด็กโต เด็กจะเริ่มมีการปรับตัวให้เข้ากันได้กับกลุ่ม คือกลุ่มเพื่อน โดยเฉพาะเพื่อนที่โรงเรียน ดังนั้นเด็กจะมีนิสัยที่โน้มเอียงไปในทางลอกเลียนแบบกันและกัน แบบที่เรียกในสมัยภาษาสมัยใหม่ว่า “ของมันต้องมี” คือเพื่อนมีอะไร เราก็ต้องมีเหมือนอย่างเพื่อนนั้นด้วย แต่พอโตเป็นวัยรุ่นก็จะเริ่มเป็นตัวของตัวเอง คือเริ่มสร้างความโดดเด่นให้กับตนเอง ตั้งแต่การแต่งกายไปจนถึงการพูดและการแสดงออก                 

วิเวียนก็มีพัฒนาการไปในแนวนั้น แต่เธอยังเป็นคน “สองบุคลิก” คือในบ้านก็จะเป็น “เด็กดี” ของทุกคนในบ้าน แต่พออยู่ข้างนอกที่เรียนและมหาวิทยาลัย เธอก็จะเป็น “คนพิเศษ” ของเพื่อน ๆ ทุกคน เธอเป็นคนอย่างที่ภาษาคนรุ่นใหม่เรียกว่า “ป๊อปปูลาร์” ไม่เพียงแต่รูปร่างหน้าตาที่ “เปรี้ยวอมหวาน” แบบที่แตกต่างจากคนอื่นแล้ว การวางตัวหรือท่าทางต่าง ๆ ก็ดูน่ามอง เพียงแต่เธอยังแต่งตัวอยู่ในความเป็นปกติ เพื่อรักษาสภาพในเวลาที่ต้องกลับเข้าบ้านนั้นด้วย แต่ถ้าเป็นช่วงเวลาที่เป็นส่วนตัวและอยู่แต่ในหมู่เพื่อนสนิท เช่น เวลาที่ไปเที่ยว หรือไปต่างจังหวัด เธอก็จะ “สุด ๆ” หรือแต่งตัวอย่างเต็มที่ อย่างที่เรียกว่า “ล้ำ” เหนือกว่าเพื่อน ๆ นั้นอีกด้วย                  

พอวิเวียนจบปริญญาตรี พ่อกับแม่ก็ให้ไปเรียนต่อที่อังกฤษในด้านการบริหารธุรกิจ เธอเองก็ตามใจพ่อแม่ แม้ว่าจะเป็นวิชาที่ออกจะ “เฟ้อ” หรือใคร ๆ ก็ไปเรียนกัน แต่เป้าประสงค์ของเธอนั้นไม่ได้อยากจะไปเรียน แต่อยากไป “เปิดหู เปิดตา” หรือเรียนรู้โลกข้างนอกประเทศ เธออยากไปดูพวกพังก์ที่พิคคาเดลลี อยากไปดูบริติชมิวเซียมที่ว่าเป็นสุดยอดพิพิธภัณฑ์ของโลก ไปเดินย่านเซนต์เจมส์ที่มีกลิ่นอายของราชสำนักในทุกอณู และที่สุดคือย่านต่างๆที่ใช้ถ่ายทำภาพยนตร์เรื่อง “แฮร์รี่ พอตเตอร์” ไอดอลในสมัยที่เธอเติบโตมา รวมถึงอาหารประจำชาติอังกฤษ “ฟิชแอนด์ชิพ” ที่คนอังกฤษทุกคนต้องกินนั้นด้วย

ที่ประเทศอังกฤษ วิเวียนได้เรียนรู้หลายสิ่งหลายอย่างมากมาย เธอมีเพื่อนนักศึกษาที่สนิทกันอยู่คนหนึ่ง ชื่อ “ออฟ” เป็นหนุ่มคนไทยแต่นิสัยออกไปในแนวสาว ๆ ทางบ้านจึงค่อนข้างสบายใจเมื่อรู้ว่าหนุ่มที่ถ่ายรูปมาให้ดูนั้นก็เป็นอีกสาวหนึ่งนั่นเอง วิเวียนกับออฟชอบที่จะไปเที่ยวตามสถานที่ต่าง ๆ ทั้งในและนอกลอนดอน ตลอดเวลาสองปีที่เรียนอยู่เรียกว่าจะต้องไปเดินหรือนั่งรถใต้ดินไปที่โน่นที่นั่นในลอนดอนแทบทุกวัน ไปเที่ยวต่างจังหวัดแทบทุกเดือน และไปปาร์ตี้กับเพื่อน ๆ ฝรั่งแทบทุกสัปดาห์ ทำให้เธอได้พบได้เห็นสิ่งต่าง ๆ และผู้คนมากมาย              

เธอทราบว่าประเทศไทยเมื่อตอนเปลี่ยนแปลงการปกครอง ได้นำแบบอย่างของประเทศอังกฤษไปใช้ แบบที่เรียกว่าการปกครองที่มีกษัตริย์อยู่ใต้รัฐธรรมนูญ มีรัฐสภา มีผู้แทนราษฎร และการเลือกตั้งเหมือนอย่างที่มีในประเทศอังกฤษ แต่เธอก็ไม่เข้าใจว่าผ่านมา 90 ปี ประเทศไทยก็ยังเป็นเผด็จการ มีทหารบงการการปกครอง และนักการเมืองจำนวนมากยอมก้มหัวให้ทหาร รวมถึงที่สถาบันพระมหากษัตริย์เป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์ แตะต้องไม่ได้ รวมถึงใครที่คิดเปลี่ยนแปลงก็อาจจะเป็นอันตราย ถึงขั้นติดคุกติดตะรางได้ง่าย ๆ          

เพื่อนชาวอังกฤษบางคนเขารักและเทิดทูนควีนของเขามาก ๆ เขาสามารถชื่นชมและติติงควีนและราชวงศ์ได้ เหมือนพูดคุยถึงคนในครอบครัว ทำให้วิเวียนเอามาคิดแล้วก็นึกถึงของประเทศไทย แต่ก็ได้แต่คิดเงียบ ๆ รวมถึงที่ไม่สามารถตอบคำถามเพื่อนชาวอังกฤษนั้นได้ว่า ก็ไหนว่าเอาแบบอย่างการปกครองของอังกฤษนั้นไป แต่ทำไมจึงยังคงมีความแตกต่างในเรื่องของปฏิบัติต่อพระมหากษัตริย์นั้นด้วย      

วิเวียนนำเรื่องนี้มาคุยกับผมในเวลาที่ไม่มีคนอื่นในวันหนึ่ง ในฐานะที่ผมเป็นอาจารย์ผู้สอนรัฐศาสตร์ ผมอธิบายให้เธอฟังอย่างยืดยาวพอควร ซึ่งเธอก็เข้าใจดี แต่ผมขอสรุปเป็นเชิงอุปมาอุปไมยให้ท่านผู้อ่านเรื่องนี้ ให้พอเข้าใจได้ตามกรอบกฎหมายของไทยที่มีโทษอย่างน่ากลัวนั้นว่า “ดินฟ้าอากาศของเมืองไทยนั้นแตกต่างจากอังกฤษมาก คณะราษฎรคงคิดที่จะเอาแอปเปิ้ลไปปลูกในพระบรมมหาราชวัง ไม่เพียงแต่ปลูกไม่ขึ้น ยังส่งผลเสียให้คนบางกลุ่มอยากเข้ามาช่วยปลูกด้วย อย่างทหารนั่นไง และทหารก็แอบเอามะม่วงมาปลูก แล้วบอกว่านี่แหละแอปเปิ้ลแบบไทย ๆ”

วิเวียนพูดถึงเรื่องที่คนอังกฤษมีมากกว่าคนไทยอีกเรื่องหนึ่ง คือเรื่องของ “เสรีภาพ” ที่เธอเคยได้ยินจากรัฐบาลไทยว่า ประเทศไทยนี่แหละมีเสรีภาพมาก ๆ แต่เธอก็ไม่เข้าใจว่าแล้วทำไมประเทศไทยจึงยังปกครองด้วยระบอบเผด็จการ ซึ่งคนอังกฤษตอบให้เธอฟังได้อย่างเจ็บปวดมากว่า คนไทยคิดไปเองว่ามีเสรีภาพมาก แต่เสรีภาพนั้นเป็น “ของปลอม” เพราะมันเป็นเสรีภาพที่คนไทยยอมมอบให้ทหารมาปกครอง เสรีภาพของคนไทยนั้นคือ “การเอาแต่ใจ” มากกว่า ซึ่งทหารก็เอาแต่ใจและใช้เสรีภาพของทหารแบบไทย ๆ ด้วยนั้น ทำรัฐประหาร “เอาตามแต่ใจ”

ในวิชารัฐศาสตร์ เสรีภาพไม่ใช่การทำอะไรเอาแต่ใจหรือทำได้ตามใจตัวเอง แต่เป็นเสรีภาพที่จะไม่เอาเปรียบหรือทำร้ายคนอื่น และจะต้องเกิดจากความเห็นพ้องต้องตรงกันของสังคมส่วนรวมเท่านั้น