สัปดาห์พระเครื่อง/อ.ราม วัชรประดิษฐ์
หากพูดถึง เหรียญหลวงพ่อทวด วัดช้างให้ ที่ได้รับการยกย่องให้เป็นที่สุด แล้วมีเพียง 2 รุ่น 2 พิมพ์ เท่านั้น คือ เหรียญเสมา รุ่นแรก พิมพ์หัวโต ปี 2500 และ เหรียญรุ่นเลื่อนสมณศักดิ์ ปี 2508 พิมพ์นิยม อันลือลั่น
เหรียญหลวงพ่อทวด วัดช้างให้ ที่สร้างในยุคพระอาจารย์ทิม ปลุกเสก ทุกรุ่นทุกเนื้อ ในปัจจุบันมีมูลค่าการเช่าบูชาสูงขึ้นเรื่อยๆ แต่สำหรับเหรียญที่มีปริมาณการสร้างมากที่สุด และมีการแยกพิมพ์ย่อยๆ ออกไปอีกมากมายหลายสิบพิมพ์ ก็คือเหรียญรุ่น 3 สำหรับพิมพ์ที่ได้รับความนิยมสูงสุด และหายากที่สุดของเหรียญรุ่น 3 ก็คือ เหรียญเสมา พิมพ์ 3 จุด รัดประคดข้างเดียว และ พิมพ์ 3 จุด รัดประคดเต็ม ตามมาด้วย เหรียญเสมา พิมพ์ 3 ขีดใน หรือ พิมพ์กิ่งไผ่ และเหรียญที่ได้รับความนิยมอีกเหรียญหนึ่งที่น่ากล่าวถึงก็คือ เหรียญรุ่นเลื่อนสมณศักดิ์ ปี 2508 มีค่านิยมมาแรงแซงโค้งเหรียญรุ่นแรก หรือ เหรียญหัวโต ไปแล้ว อาจจะเป็นเพราะว่าเหรียญเลื่อนสมณศักดิ์มีประสบการณ์ด้านความเจริญรุ่งเรืองในหน้าที่การงาน ในเรื่องการเลื่อนยศเลื่อนตำแหน่ง จนเป็นที่เลื่องลือทั่วไปในหมู่ข้าราชการที่ต้องการความก้าวหน้าต่าง เสาะแสวงหา มาครอบครองไว้บูชากัน
เหรียญหลวงปู่ทวด วัดช้างให้ รุ่นเลื่อนสมณศักดิ์ ปี 2508 ยอดนิยม จัดสร้างขึ้นเมื่อ พ.ศ.2508 ในโอกาสที่ พระครูวิสัยโสภณ (ทิม ธมฺมธโร) อดีตเจ้าอาวาสวัดราษฎร์บูรณะ (วัดช้างให้) (2484-2512) ได้รับพระราชทานเลื่อนสมณศักดิ์เป็นพระครูสัญญาบัตร ชั้นโทพัดขาว ฝ่ายวิปัสสนา (พ.ศ.2499) ได้รับพระราชทานสัญญาบัตรเป็น พระครูสัญญาบัตร ชั้นตรี ที่ พระครูวิสัยโสภณ
พุทธลักษณะด้านหน้าเป็นเป็นรูปหลวงปู่ทวดนั่งขัดสมาธิ มีอักษรอักขระรอบข้าง มีรูปช้างที่ด้านข้างทั้งสองฝั่ง ที่บริเวณฐานมีอักษรคำว่า "หลวงพ่อทวด วัดช้างให้" มีห่วงในตัว ส่วนด้านหลัง มีรูปหลวงปู่ทิมครึ่งองค์หน้าตรง มีอักษรรอบข้างเป็นภาษาขอม และมีอักษรภาษาไทยคำว่า พระครูวิสัยโสภณ (ทิม) งานเลื่อนสมณศักดิ์ 08 เหรียญเลื่อนสมณศักดิ์ หลวงปู่ทวด วัดช้างให้ ปี 2508 รุ่นนี้จัดสร้างด้วยกันทั้งหมด 4 เนื้อ 1.เหรียญเลื่อนสมณศักดิ์ เนื้อทองคำ 2.เหรียญเลื่อนสมณศักดิ์ เนื้อเงิน 3.เหรียญเลื่อนสมณศักดิ์ เนื้ออัลปาก้า 4.เหรียญเลื่อนสมณศักดิ์เนื้ออัลปาก้า โดยเฉพาะเนื้อทองคำและเนื้อเงิน จะพบเห็นได้น้อยมาก
เหรียญเลื่อนสมณศักดิ์ ปี 2508 พิมพ์นิยม แบ่งออกได้เป็น 2 บล็อก และ 2 ตัวตัด (ขอบข้างเหรียญ) โดยบล็อกแรกและตัวตัดแรก วงการมักจะเรียกว่า บล็อกนิยม และ ตัวตัดนิยม ซึ่งมีทั้งกรณีเนื้อทองแดงรมดำ และเนื้ออัลปาก้า ส่วนเหรียญบล็อก 2 และตัวตัดที่ 2 มักจะพบเนื้ออัลปาก้า เป็นส่วนใหญ่ และถ้าหากพิจารณาให้ดีแล้วจะสังเกตได้ว่าว่าลักษณะเหรียญบล็อก 2 และตัวตัดที่ 2 จะเป็นตัวเดียวกันกับเหรียญพุทธซ้อน ปี 2509 ให้พิจารณา จากรอยตัดขอบเหรียญ อย่างละเอียด จะเห็นได้ชัดว่าเหมือนกันทุกประการทั้งร่องฟันปลา และ รอยนูน ของผิวเนื้อ เนื่องจากการปั๊มตัดของขอบเหรียญ ข้อสังเกตอีกประการหนึ่งก็คือ ในเหรียญบล็อก 2 และตัวตัดที่ 2 ที่มีลักษณะเหมือนกันกับ เหรียญพุทธซ้อนปี 2509 ที่สังเกตเห็นได้อย่างชัดเจนก็คือ หากมองเหรียญทางด้านรูปพระอาจารย์ทิม ตรงปีกขอบเหรียญทั้ง 2 ข้าง จะไม่มีลักษณะโค้งดัดอย่างบล็อกแรก และตัวตัดแรก
จุดสังเกตที่สำคัญอีกจุดหนึ่งของเหรียญพิมพ์นี้ก็คือ บริเวณเม็ดผม เม็ดตา และรอบดวงตาพระอาจารย์ทิม จะต้องคมชัด และมีริ้วรอยของการปั๊มกระแทกที่เป็นธรรมชาติ และหากมองที่ด้านหลังเหรียญรูปพระอาจารย์ทิม บริเวณขอบเหรียญด้านบนมักจะปรากDรอยหักพับให้เห็น อีกอย่างการสังเกตรอย “เส้นเสี้ยน” ที่กระจายตามความคมชัดของอักขระตัวขอม รอยตัดขอบเหรียญ และคอ หูเหรียญ ก็เป็นสิ่งที่ต้องพิจารณาและศึกษาอย่างละเอียดถี่ถ้วน รอบคอบ
ปัจจุบันค่านิยมของเหรียญรุ่นนี้ ถ้าเป็นเนื้อทองคำ ก็อยู่ที่หลักล้านกลางๆขึ้นไปอยู่ที่สภาพความสวยงามของเหรียญ เนื้อเงินค่านิยมก็อยู่ที่แสนปลายถึงหลักล้านต้นๆ เนื้ออัลปาก้า ราคาค่านิยมหลักแสนกลางๆและ เนื้อทองแดง ค่านิยมก็ประมาณหลักแสนถึงล้าน ทั้งหมดนี้ขึ้นอยู่กับสภาพองค์พระ สุดท้ายท้ายสุดก็อย่าลืมอาราธนาพระคาถาบูชาหลวงพ่อทวดดังนี้ ตั้งนะโม 3 จบ แล้วว่า นะโมโพธิสัตโต อาคันติมายะ อิติภะคะวา 3 จบ สาธุ ครับผม