กลายเป็นเรื่องฮือฮายิ่งที่ “บิ๊กบี้” พล.อ.ณรงค์พันธ์ จิตต์แก้วแท้ ผู้บัญชาการทหารบก ที่ เป็นผู้บังคับหน่วยเฉพาะกิจกรมทหาร มหาดเล็กรักษาพระองค์ 904(ผบ.ฉก.ทม.รอ.904) คุมทหารคอแดง ทบ. ด้วย

สั่งเด้ง 3 นายทหารยศพันเอก ในโผโยกย้าย ผู้การกรม 137 นาย เมื่อ 24 มีนาคม 2566 ที่ผ่านมาจากตำแหน่งหลัก คุมกำลัง เข้ากรุ มทบ.11 โดยพร้อมเพรียงกัน

จนถูกเรียกว่า เป็นการเขย่า กองพล สไตรเกอร์ กองพลทหารราบที่ 11  (พล.ร.11)  ให้สั่นสะเทือน เมืองแปดริ้ว ฉะเชิงเทรา ระดับ 7 ริคเตอร์เลยทีเดียว

หากไล่ตามบัญชีคำสั่งทบ. จะพบว่า  พ.อ.สังกาศ สร้อยคำ รองผบ.พล.ร.11  ที่จ่อขึ้น ผบ.พล.ร.11 อยู่  ถูกย้ายไปประจำมณฑลทหารบกที่ 11

แล้วให้ พ.อ.ธีรยุทธ์ เส้งรอด ผู้บังคับการกรมสนับสนุนกองพลทหารราบที่ 9 ข้ามมาเป็นรอง ผบ.พล.ร.11 แทน  เพิ่มเติมส่ง พ.อ.ยุทธนา มีเจริญ จาก รองผบ.มทบ.14 ข้าม มาเป็นรอง ผบ.พล.ร.11  อีกคน พ.อ.ถิรเดช ลิ้มคุณากูล  ผบ.ร.111  ย้ายไปเป็นนายทหารปฏิบัติการประจำ มทบ.11 แล้วให้พ.อ.อภิชัย จูสนิท จากรอง ผบ. 12 รอ. มาเป็น ผบ.ร.111 แทน ส่วน พ.อ.กริช บุญเกิด ผบ.ร. 112  ที่คุมกำลัง กรมสไตรเกอร์ ถูก ย้ายไปเป็น นายทหารปฏิบัติการประจำ มทบ.11  แล้วให้ พ.อ.ศรัณยนิษฐ์ สุทธวัจน์ชินเดช  จากนายทหารปฏิบัติการประจำ มทบ.11  ออกจากกรุ มาเป็น ผบ.ร. 112 แทน

  ด้วยเหตุผล ที่หาก พี่ๆ น้องๆ คุยกันได้ ก็ถือเป็นเรื่องธรรมดา และเป็นสิ่งที่ปฏิบัติกันมายาวนาน ที่ นายทหารระดับผู้บังคับบัญชา และ ผบ.หน่วยทหาร ในจังหวัดต่างๆ มักจะต้องทำ ความรู้จัก กับ หัวหน้าสวนราชการทั้งพลเรือนข้าราชการตำรวจและนักการเมืองในพื้นที่ เพื่อการประสานงาน และความร่วมมือต่างๆในการช่วยเหลือประชาชน

หลังจากที่มีรายงานว่า 3 นายพัน ไปร่วมโต๊ะอาหาร กับนักการเมืองใหญ่ในพื้นที่  แต่ เหตุผล ที่ 3 พันเอก ชี้แจง ในเรื่องการประสาน ทำโครงการช่วยเหลือประชาชนและหน่วยทหาร ที่เคยทำด้วยกันมาตลอด  ไม่ได้เกี่ยวข้องกับ เรื่องการเมือง ก็ตาม

แต่เพราะเป็นช่วงใกล้เลือกตั้ง  ที่ พล.อ.ณรงค์พันธ์ เพราะกฎกติการะเบียบของกำลังพลในการปฏิบัติตัว ช่วงเลือกตั้ง 5 ข้อควรทำ และ 5 ข้ออย่าทำ  และได้ประกาศจุดยืนเป็นกลางทางการเมือง ไว้แล้ว

แม้ในกองทัพบก ระหว่าง พล.อ.ณรงค์พันธ์ กับ น้องๆ จะคุยกันได้ เพราะ บางคน ก็ถือว่า เป็นน้องรัก ที่เติบโตมาจาก ร.31 รอ. กับ “บิ๊กบี้” มาเลย

หากจะลงโทษ แบบเบาะๆ ย่อมทำได้  แต่ทว่า เรื่องนี้ ไม่ได้เกิดจาก ใน ทบ.เอง แต่ มีการส่งภาพ ร่วมโต๊ะอาหาร กับ นักการเมือง “ส.” นั้น มาจาก ทำเนียบรัฐบาล เลยทีเดียว

พล.อ.ณรงค์พันธ์ จึงไม่มีทางเลือกอื่น ต้องยอมกลืนเลือด ย้าย 3 พันเอก  ที่ไม่ใช่แค่ เปลี่ยนไปตำแหน่งรองๆลงไป  แต่ทว่า ย้ายเข้ากรุ ประจำ เลยทีเดียว

เรื่องราวนี้ส่งผลให้ความสัมพันธ์ระหว่างพล.อ.ประยุทธ์ และ พล.อ.ณรงค์พันธ์ กลับมาถูกจับตามองอีกครั้งหนึ่ง ทั้งๆที่ เมื่อไม่นานมานี้ พล.อ.ประยุทธ์ ก็พยายามแสดงออกถึงความใกล้ชิด เมื่อเจอหน้าก็พูดคุยทักทายเกาะแขน เกาะไหล่ จนถึงขั้นกอด พล.อ.ณรงค์พันธ์ มาหลายครั้ง

ในขณะที่ เป็นที่รู้กันดีในกองทัพว่า พล.อ.ณรงค์พันธ์  หัวหน้าทหารคอแดง ทบ. เป็น นายทหารที่เถรตรง  เป็นกลางทางการเมืองอย่างเคร่งครัดเพราะถือว่าตนเองเป็นทหารอาชีพและทหารของพระราชา  อย่าได้มีใคร ไปพูด หรือขอให้ช่วย ลงคะแนนให้ พล.อ.ณรงค์พันธ์ จะไม่ทำเด็ดขาด

ประกอบกับการที่ ผู้บัญชาการเหล่าทัพเอง ก็ต้องระมัดระวังตัว ในเรื่องของพล.อ.ประยุทธ์ ซึ่งกลายเป็นนักการเมือง และ เป็นแคนดิเดตนายกฯ สังกัดพรรครวมไทยสร้างชาติ ที่ลงเลือกตั้ง แม้จะเป็นผู้บังคับบัญชาอยู่ เพราะเป็นนายกฯ และ รมว.กลาโหมรักษาการก็ตาม

แม้ว่าสายตาจากภายนอกจะไม่เชื่อในความเป็นกลางของกองทัพและผู้บัญชาการเหล่าทัพ ชุดนี้ก็ตาม เพราะในความเป็นส่วนตัวก็ย่อมต้องสนับสนุนพรรคทหาร ทั้ง รทสช. ของพล.อ.ประยุทธ์ หรือ พรรคพลังประชารัฐ ของ “บิ๊กป้อม” พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ หากไม่มี “ใบสั่ง” หรือการส่งสัญญาณใดๆ มายังกองทัพ หรือ ผบ.เหล่าทัพ โดยตรง  ก็คงไม่มีใครกล้าหลิ่วตา  ต่อให้พยายามมองตา ก็ตาม  แต่ก็ไม่อาจรู้ใจ

ดังนั้นการที่พล.อ.ประยุทธ์ ยกบทเพลงพระราชนิพนธ์รัชกาลที่ 6  มาให้คิด พร้อมฝากการบ้านให้กองทัพหาทางในการแก้ปัญหาชาติ จึงถูกมองว่าเป็นการส่งสัญญาณสะกิดให้ผู้บัญชาการเหล่าทัพได้คิดเอาเองว่า ถ้าบ้านเมืองไม่สงบจะทำอย่างไร หาก พล.อ.ประยุทธ์แพ้ เลือกตั้ง ไม่ได้ไปต่อ

จนถูกตีความว่าเป็นการปลุกกระแสให้ประชาชนหวาดกลัวต่อความไม่สงบที่จะเกิดขึ้นหากพล.อ.ประยุทธ์ไม่อยู่ และอาจจะวุ่นวาย จนนำไปสู่การปฏิวัติรัฐประหารอีกครั้งได้

แม้ในความเป็นจริงหลังการเลือกตั้ง ไม่ว่า ใครได้เป็นรัฐบาลโอกาสที่อีกฝ่ายหนึ่ง ที่แพ้เลือกตั้งจะก่อม็อบ หรือสร้างความวุ่นวาย สร้างสถานการณ์ ย่อมมีโอกาสเกิดขึ้น

แต่ที่ผ่านมา ที่สงบ เพราะสถานการณ์โควิดฯ 2-3 ปี และต่อมาก็ใกล้การเลือกตั้ง แล้ว ฝ่ายเห็นต่างหรือกลุ่มต่อต้าน จึงเลือกที่จะใช้การเลือกตั้งเป็นทางออกในการให้ประชาชนตัดสินมากกว่า ที่จะออกมายึดถนน หรือใช้ความรุนแรง

  แต่หากพรรคเพื่อไทยชนะเลือกตั้งได้เป็นรัฐบาลและเป็นนายกรัฐมนตรี ฝ่ายต่อต้าน ก็ต้องหาเหตุก่อม็อบ สร้างความวุ่นวาย กวักมือให้ทหารออกมารัฐประหาร อีก แต่หากพล.อ.ประยุทธ์ ได้ไปต่อเป็นนายกฯ อีกสมัย  ก็จะมีแต่ม็อบ  ที่ทำให้ทหารและตำรวจต้องเหนื่อย กันอีก

ดวงเมือง ชะตาประเทศ ได้ถูกกำหนด ไว้แล้ว