ถือเป็นความชัดเจนมากที่สุด เมื่อ “บิ๊กตู่” พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา  ว่าที่แคนดิเดตนายกรัฐมนตรี ของพรรครวมไทยสร้างชาติ ประกาศ “ทายาททางการเมือง” คือ “พีระพันธุ์  สาลีรัฐวิภาค” หัวหน้าพรรครวมไทยสร้างชาติ ที่จะขึ้นมาทำหน้าที่ “นายกฯ” ต่อในห้วง 2 ปีหลังเมื่อพล.อ.ประยุทธ์ ลงจากตำแหน่ง “นายกฯคนที่ 30”

สำหรับที่มา ที่ทำให้ พล.อ.ประยุทธ์ ต้องประกาศความชัดเจนเรื่อง ทายาททางการเมืองครั้งนี้ก็มาจากการที่ “พี่ใหญ่” คือ “บิ๊กป้อม” พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ ในฐานะหัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ เขียนจดหมายเปิดผนึก เผยแพร่ก่อนหน้านี้ถึงการตัดสินใจลงสมัคร ส.ส.บัญชีรายชื่อ อันดับ 1 ของพรรคพลังประชารัฐ เพราะต้องการเข้ามาเป็นนายกฯ อย่างสง่างาม ได้รับการยอมรับจากประชาชน

ดังนั้นเมื่อ “บิ๊กป้อม” ส่งสัญญาณ ออกมาเช่นนี้ จึงทำให้เกิด “แรงกดดัน” ไปยัง พล.อ.ประยุทธ์ ที่ตัดสินใจไม่ลงสมัครส.ส.บัญชีรายชื่อ อันดับ 1 แต่เป็น แคนดิเดตนายกฯให้กับรวมไทยสร้างชาติ

 โดยพล.อ.ประยุทธ์ ตอบชัดเจนว่า เพราะเขาเองมองถึงการให้โอกาสคนอื่นขึ้นมาเป็นบ้าง

“ ใครจะว่าอะไรก็ว่าไป ผมมองในเรื่องของการให้โอกาสคนอื่นเขาขึ้นมาเป็นบ้าง ผมก็เลยให้นายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค หัวหน้าพรรครวมไทยสร้างชาติ เป็น ส.ส. บัญชีรายชื่ออันดับ 1  เพราะมีผลกับการอยู่ 2 ปีของผม

หลายคนถามว่าผมอยู่ 2 ปีแล้วจะเป็นยังไง ก็นั่นไงคือ คำตอบ ซึ่งเป็นตัวเลือกในการเลือกนายกรัฐมนตรีครั้งต่อไป  ถ้าผมได้อยู่ 2 ปี ก็จะมีคนสานต่อตรงนี้  ทุกอย่างมันคือ ยุทธศาสตร์ ยุทธศาสตร์คือ ระยะยาวไป” (3 เม.ย.66)

ที่ผ่านมา ต้องยอมรับว่าประเด็น เรื่อง “นายกฯ 2 ปี”  จนมาถึง “นายกฯคนละครึ่ง” ล้วนแล้วแต่เป็น “เงื่อนไข” ทางการเมืองที่ “ฝ่ายค้าน” หยิบมาใช้โจมตี ทั้งตัวพล.อ.ประยุทธ์เอง และพรรครวมไทยสร้างชาติ มาโดยตลอด คล้ายกับเป็น “จุดอ่อน” ที่ชี้ช่องให้พี่น้องประชาชนตัดสินใจให้ดีว่าหากเลือกพล.อ.ประยุทธ์ เป็นนายกฯ เขาก็จะดำรงตำแหน่ง ได้เพียง 2ปีเท่านั้น

เพราะอย่าลืมว่า คำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ เมื่อเดือน ก.ย.2565 ที่ผ่านมาคือแนวทางที่ชี้ชัดเอาไว้แล้วว่า การดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี ของพล.อ.ประยุทธ์ ยังไม่ครบกำหนด 8 ปี เวลาตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2560 มาตรา 158 วรรคสี่ ที่ห้ามมิให้เป็นนายกฯ “ติดต่อกัน” 8 ปี โดยให้นับวาระตั้งแต่วันที่ 6 เม.ย. 2560 

หมายความว่า หากพรรครวมไทยสร้างชาติ ได้ ส.ส.เข้าสภาผู้แทนราษฎร มากพอในการที่จะเสนอชื่อนายกฯ ของพรรค แต่พล.อ.ประยุทธ์ จะเป็นนายกฯ ได้จนถึงปี 2568 ก็จะครบระยะเวลาตามกรอบรัฐธรรมนูญ มาตรา 158 วรรค 4 คือการเป็นนายกฯ 8 ปี

และนี่จึงเป็นที่มาของ “ช่องโหว่” ที่ทำให้พรรคฝ่ายตรงข้าม หรือแม้แต่พรรคร่วมรัฐบาลด้วยกันในเวลานี้ นำไปขยายผลในการปราศรัย และชูแคนดิเดตนายกฯของพรรคตัวเองขึ้นมาแทน

ขณะที่พรรคพลังประชารัฐ โดยมี พล.อ.ประวิตร ได้ประกาศความพร้อมมาโดยตลอด แม้บิ๊กป้อม จะอายุมาก แต่สิ่งที่เป็น “จุดแข็ง” คือการเป็นนายกฯคนที่ 30 สามารถพาประเทศชาติ ก้าวข้ามความขัดแย้ง ประสาน ประนีประนอมได้กับ “ทุกขั้ว” 

ดังนั้นจึงไม่น่าแปลกใจที่จะพบว่า ทันทีที่พล.อ.ประยุทธ์ แสดงความชัดเจนว่าพีระพันธุ์ คือผู้ที่จะมา “รับไม้ต่อ” เป็นนายกฯ ในห้วงปีที่3-4 จึงทำให้มีการตั้งข้อสังเกตตามมาว่า พล.อ.ประยุทธ์ ต้องการ “ปิดประตู” สำหรับ พล.อ.ประวิตร ใช่หรือไม่

รวมไปถึง “เสี่ยหนู” อนุทิน ชาญวีรกูล ในฐานะหัวหน้าพรรคภูมิใจไทย  ซึ่งเขาเองถูกตั้งคำถามมาตั้งแต่แรกว่า อาจจะเป็น “นายกฯคนละครึ่ง”  ต่อจากพล.อ.ประยุทธ์ ใช่หรือไม่ ?

ด้วย “ไมตรี” ที่อนุทิน มีต่อ “2 ป.” คือ บิ๊กป้อมและบิ๊กตู่ และที่สำคัญ พรรคภูมิใจไทยยังถูกประเมินว่ามีโอกาสที่จะได้ ส.ส.เข้าสภาฯรอบนี้เกินกว่าการเลือกตั้ง 2562 นั่นคือแตะหลักร้อย

  จึงเท่ากับว่า ทั้งพล.อ.ประวิตร และอนุทิน ล้วนอยู่ในกลุ่มที่จ่อคิวขึ้นเป็นนายกฯได้ด้วยกันทั้งคู่ทั้งในการเลือกตั้งครั้งนี้ 14 พ.ค.66 โดยไม่ต้องรอนายกฯคนละครึ่ง

ทว่าหากมองข้ามช็อตการเมือง วันนี้ต้องยอมรับว่าหลังการเลือกตั้งโอกาสที่จะเกิด “รัฐบาลผสม” มีความเป็นไปสูงกว่าสูตร “รัฐบาลพรรคเดียว” ตามเป้าหมายของ พรรคเพื่อไทย และที่สำคัญไปมากกว่านั้น การ “จับขั้ว” เพื่อเตรียมตั้งรัฐบาลครั้งหน้าถูกคาดการณ์ว่า “หน้าตา” จะไม่เปลี่ยนแปลงไปจากเดิม นั่นคือ “พรรคร่วมรัฐบาล” วันนี้ จะเป็นรัฐบาลใหม่ หลังเลือกตั้งอยู่ดี

เพียงแต่สิ่งที่เป็น “เงื่อนไขใหม่” คือการยอมรับว่า นายกฯคนต่อไป ใน 2 ปีหลัง ยังคงเป็น “แคนดิเดตนายกฯ” ของพรรครวมไทยสร้างชาติ อย่างนั้นหรือ ?

ในเมื่อ แคนดิเดตจากทุกพรรคร่วมรัฐบาล ต่างแต่งองค์ทรงเครื่องกันพร้อมตั้งแต่วันนี้ ดังนั้นเก้าอี้นายกฯ จึง “เปิดโอกาส” ให้คนใหม่ จากพรรคอื่นด้วยเช่นกัน

และนี่คือ ปัญหาที่รออยู่เบื้องหน้า ในรัฐสภา เมื่อการโหวตเลือกนายกฯ มาถึง แต่สิ่งที่อาจกลายเป็น “วิกฤติใหญ่” ทั้งต่อพล.อ.ประยุทธ์ และพรรครวมไทยสร้างชาติ เวลานี้ คือการที่จะทำอย่างไร จึงจะได้ตัวเลข ส.ส.เข้าสภาฯ ให้มากที่สุด

เพราะอย่าลืมว่ากฎหมายรัฐธรรมนูญ กำหนดเอาไว้ชัดเจน ผู้ที่จะได้รับการเสนอชื่อให้ ส.ส. โหวตลงคะแนนเลือกเป็นนายกฯ จะต้องมาจากพรรคการเมืองที่มีจำนวน ส.ส. ไม่น้อยกว่าร้อยละ 5 ของสมาชิกที่มีอยู่ นั่นคือพรรครวมไทยสร้างชาติ จะต้องได้ ส.ส.เข้าสภาฯอย่างน้อย 25 คน !

 วันนี้หลายคนจึงอดเป็นห่วงไม่ได้ว่า บิ๊กตู่ จะต้อง “สู้” ให้ “ชนะ” เสียก่อน อย่าไปไกลถึง เรื่องการวาง “ทายาทการเมือง” ทำหน้าที่  ในครึ่งหลัง !