ช่วยกันคิดช่วยกันทำ/ทหารประชาธิปไตย

 คำว่าโลกที่ 3 นั้นถูกบัญญัติขึ้นในยุคของเหมา เจ๋อ ตุง ซึ่งจีนแบ่งโลกออกเป็น 3 ส่วน คือ โลกที่ 1 ได้แก่ มหาอำนาจ 2 ขั้ว คือ สหรัฐอเมริกา และสหภาพโซเวียต ส่วนโลกที่ 2 หมายถึงประเทศที่พัฒนาแล้ว คือ ยุโรป และโลกที่ 3 มีความหมายรวมประเทศกำลังพัฒนา และประเทศด้อยพัฒนาเข้าด้วยกัน อันเป็นกลุ่มใหญ่ที่สุดบนโลกนี้

 อย่างไรก็ตามก็ยังมีคำเรียกขานกลุ่มประเทศโลกที่ 3 ว่าเป็นกลุ่มประเทศโลกซีกใต้ (GLOBAL SOUTH) เพราะประเทศกำลังพัฒนา และประเทศด้อยพัฒนาจะกระจุกตัวอยู่ในพื้นที่ใต้เส้นศูนย์สูตร ในขณะที่ประเทศพัฒนาแล้วจะกระจุกตัวอยู่ในพื้นที่เหนือเส้นศูนย์สูตร

 เมื่อสถานการณ์ของโลกเปลี่ยนแปลงไป โลกที่ 3 ก็มีการพัฒนาเจริญเติบโตขึ้นหลายประเทศ เช่น จีน ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ สิงคโปร์ ได้พัฒนาตนเองจนเป็นประเทศพัฒนาแล้ว

 นอกจากนี้ประเทศในโลกที่ 3 ยังมีการรวมกลุ่มกันตามภูมิภาคหรือตามระดับการพัฒนา เช่น อาเซียนBRICS

 อย่างไรก็ตามเมื่อเกิดความขัดแย้งขึ้นบนแผ่นดิน ประเทศโลกที่ 3 ซึ่งได้รับผลกระทบไม่ทางตรงหรือทางอ้อม ต่างก็มิได้มีบทบาทในการมีส่วนร่วมเพื่อการแก้ปัญหา

 บทบาทสำคัญกลับไปอยู่ที่สหรัฐฯที่ชี้นำและบงการให้ประเทศเหล่านั้นต้องปฏิบัติตามบัญชา มิฉะนั้นจะต้องรับแรงกดดันทั้งเศรษฐกิจ การเมือง และการทหาร

ดังนั้นปรากฏการณ์ความขัดแย้ง ยูเครน – รัสเซียที่เริ่มขึ้นด้วยการปฏิบัติการพิเศษทางทหารของรัสเซียเมื่อประมาณ 1 ปีเศษมานี้ ทำให้ยิ่งตอกย้ำว่าประเทศในโลกที่ 3 มิได้มีบทบาทหรือได้รับการเชื้อเชิญให้เข้าร่วมในการตัดสินใจเพื่อการแก้ปัญหาความขัดแย้ง

 แม้แต่จีนและอินเดีย ซึ่งเป็นประเทศใหญ่และมีขีดการพัฒนาในระดับสูง รวมทั้งมีพลังอำนาจทางทหารที่มีประสิทธิภาพในระดับโลก ก็ยังไม่ได้รับความสนใจ และพยายามด้อยค่า เช่น ข้อเสนอโครงร่างแผนสันติภาพของจีน

 ส่วนอินเดียก็เป็นแค่หมากตัวหนึ่งที่มหาอำนาจจะพยายามลากจูงไปอยู่ข้างตน และมิได้มีบทบาทท่าทีหรือความเห็นเป็นหลักในการสร้างสันติภาพ หรือระงับยับยั้งความขัดแย้งอันอาจบานปลายเป็นสงครามใหญ่ได้

 เป้าหมายของสหรัฐฯและพันธมิตรตะวันตกก็คือพยายามทำให้ประเทศโลกที่ 3 โดดเดี่ยวรัสเซียจากเวทีการเมือง และองค์การนานาชาติทั้งหลายที่มีอยู่ แม้แต่ในวงการกีฬาซึ่งก็ไม่ควรจะมีการเมืองมาเกี่ยวข้องก็ยังพลอยตกเป็นเครื่องมือเพื่อโดดเดี่ยวรัสเซีย

 ทั้งนี้เพราะสหรัฐฯ และพันธมิตรตะวันตกมองว่า กลุ่มของตนยังมีปริมาณไม่เพียงพอที่จะทำให้รัสเซียโดดเดี่ยวบนโลกใบนี้ได้ จึงพุ่งเป้าไปที่กลุ่มประเทศโลกที่ 3 เพื่อดึงมาอยู่ข้างตน อันอวดอ้างว่าเป็นฝ่ายที่ถูกต้อง ตลอดจนปลูกฝังแนวคิดการแบ่งขั้วแบ่งฝ่ายว่า ฝ่ายตนคือ “ฝ่ายประชาธิปไตย” ส่วนรัสเซียและพันธมิตรอยู่ “ฝ่ายเผด็จการ”

ด้วยเป้าหมายที่ตะวันตกจะทำให้รัสเซียกลายเป็นประเทศนอกรีต ทว่าขบวนการนี้กลับไม่ประสบความสำเร็จ หลังจากใช้เวลากว่าปี ปรากฏว่า ประเทศโลกที่ 3 ส่วนใหญ่ไม่ยอมรับปฏิบัติการปิดกั้นทางเศรษฐกิจและการเงินต่อรัสเซีย

 นอกจากนี้ประเทศในกลุ่มโลกที่ 3 ยังคัดค้านความพยายามในการที่ตะวันตกพยายามจะขับไล่รัสเซียออกจากองค์การระหว่างประเทศที่สำคัญต่างๆ ล่าสุดก็คือความพยามยามที่จะขับรัสเซียออกจากประธานคณะมนตรีความมั่นคง

ในทางตรงข้ามประเทศเหล่านั้นกลับต้อนรับเจ้าหน้าที่ระดับสูงจากมอสโก และมีการทำสนธิสัญญาความร่วมมือในด้านต่างๆ ตลอดรวมไปถึงความร่วมมือทางธุรกิจ ซึ่งประเทศเหล่านั้นต้องการการสนับสนุนในการพัฒนา

การดำเนินการเหล่านี้แสดงให้เห็นโดยชัดเจนว่า ประเทศโลกที่ 3 ไม่ต้องการเข้าเป็นคู่ขัดแย้งในกรณียูเครน ระหว่างสหรัฐฯ - รัสเซีย

ทว่าตะวันตกก็พยายามกดดันให้ประเทศเหล่านั้นชี้แจง ซึ่งจากมุมมองของประเทศโลกที่ 3 เห็นว่าหลักการที่ตะวันตกเป็นคนกำหนดนั้นมันมี 2 มาตรฐาน เช่น การบุกถล่มอิรักของสหรัฐฯ หรือสงครามในเยเมนที่ซาอุดีอาระเบีย และสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์เป็นฝ่ายไปรุกรานโดยมีตะวันตกหนุนหลัง สงครามในเอธิโอเปีย และลิเบียที่นาโตไปบุกถล่มจนลิเบียกลายเป็นรัฐล้มเหลว และรบพุ่งกันจนทุกวันนี้

 อีกประเด็นที่ชัดเจน คือการให้การดูแลผู้อพยพชาวยูเครนด้วยหลักการสิทธิมนุษยชนและมนุษยธรรมที่แตกต่างราวฟ้ากับเหว ในการดูแลผู้ลี้ภัยชาวอิรัก ซีเรีย และลิเบีย ที่ทำให้เห็นว่าหลักสิทธิมนุษยชนสากลของตะวันตกโดยความเป็นจริงก็มีการเลือกปฏิบัติด้วยอคติ

ที่สำคัญหลายประเทศในแอฟริกา ตะวันออกกลาง หรือแม้แต่เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ต่างก็ไม่มีคุณสมบัติเพียงพอที่จะถูกนับเข้าเป็นกลุ่มประเทศประชาธิปไตยที่แสนดีของตะวันตก โดยที่ประเทศเหล่านี้ไม่ได้รับการเชิญเข้าร่วมประชุมกลุ่มประเทศประชาธิปไตยที่จัดขึ้นโดยรัฐบาลไบเดน เมื่อปี 2021 จึงไม่น่าแปลกใจว่าทำไมประเทศที่มีคุณสมบัติไม่เหมาะกับประชาธิปไตยของตะวันตก จึงไม่ยอมทำตามคำบงการของสหรัฐฯ และดำเนินนโยบายที่เป็นอิสระอย่างตะวันออกกลาง

ที่ย้อนแย้งมากที่สุดในการปฏิบัติการของตะวันตก คือนอกจากไม่สนใจปัญหาความขัดแย้งในโลกส่วนอื่นๆ กลับไปเติมเชื้อไฟเพื่อให้ความขัดแย้งรุนแรงขึ้น เช่น ในแอฟริกา เพื่อหวังโค่นล้มรัฐบาลและแสวงประโยชน์จากทรัพยากรธรรมชาติอันมีอุดมสมบูรณ์

อนึ่งต้องไม่ไปสับสนกับการที่ประเทศจำนวนถึง 141 ประเทศ ที่คัดค้านรัสเซียในเรื่องอำนาจอธิปไตย และบูรณภาพในดินแดน เพราะนั่นเป็นหลักการสำคัญของกฎหมายระหว่างประเทศ ซึ่งถ้าประเทศเหล่านั้นไม่สนับสนุนก็เท่ากับเปิดทางให้มหาอำนาจทำตามอำเภอใจของตนได้สะดวกยิ่งขึ้น

ดังนั้นการลงคะแนนเสียงดังกล่าวจึงมิได้หมายความว่า ประเทศในโลกที่ 3 จะยอมทำทุกอย่างตามคำบงการของตะวันตก ตรงข้ามเขาเหล่านั้นกำลังขัดขืนและมีความอ่อนตัวในการแก้ปัญหาเพื่อความอยู่รอดของตนเอง ซึ่งในความเป็นจริงได้รับผลกระทบจากนโยบายแซงค์ชั่นที่ประกาศเพียงฝ่ายเดียวของสหรัฐฯ

 กล่าวโดยสรุปการแก้ปัญหาการขัดแย้งในยูเครนซึ่งกลายเป็นปัญหาของโลก จึงควรมีการเชื้อเชิญให้กลุ่มประเทศโลกที่ 3 ได้มีส่วนร่วมในการตัดสินใจ หรือเสนอแผนสันติภาพเพื่อให้การแก้ปัญหาเป็นการพิจารณามุมมองอย่างรอบด้านไม่ใช่แค่คำบงการของสหรัฐฯ และตะวันตก

ประการสุดท้ายการให้ความสนใจและทุ่มเทให้กับปัญหายูเครนทำให้โลกลดความสนใจต่อปัญหาอื่นๆของโลกโดยเฉพาะปัญหาภาวะโลกร้อน และการเปลี่ยนแปลงของภูมิอากาศอันนับวันจะเลวร้ายไปทุกที

 ถึงเวลาแล้วที่ควรจะมีการปฏิรูประบบการทำงานขององค์การระหว่างประเทศ เช่น UN, IMF, WORLD BANK และ WTO เพื่อให้ประเทศโลกที่ 3 อันเป็นส่วนใหญ่ของโลกได้มีบทบาทและส่วนร่วมในการร่วมมือกันแก้ปัญหาโลก