สร้างความสั่นสะเทือนในตลาดพลังงานกันอีกคำรบ
สำหรับ ถ้อยแถลงคำประกาศของ “ชาติพี่เบิ้มใหญ่” ใน “โอเปก” หรือ “กลุ่มประเทศผู้ส่งออกน้ำมัน” อย่าง “ซาอุดีอาระเบีย” ซึ่งมีขึ้นเมื่อช่วงต้นสัปดาห์นี้
โดยถ้อยแถลงของซาอุดีอาระเบีย ระบุว่า บรรดาชาติสมาชิกของกลุ่มโอเปกทุกประเทศ รวมถึง “รัสเซีย” ที่มาเข้าร่วมอีกชาติเป็น “โอเปกพลัส” จะร่วมมือกันลดปริมาณกำลังการผลิตน้ำมันดิบป้อนสู่ตลาดโลกลงอีกอย่างน้อย 1.15 ล้านบาร์เรลต่อวัน หรือมากกว่านั้น ซึ่งจะมีผลตั้งแต่เดือนพฤษภาคมนี้ไปจนสิ้นปี 2023 (พ.ศ. 2566)
ในการลดปริมาณกำลังการผลิตดังกล่าว ก็แบ่งเป็นแต่ละประเทศ ดังนี้ ซาอุดีอาระเบีย 5 แสนบาร์เรลต่อวัน รัสเซีย ลด 5 แสนบาร์เรลต่อวัน ส่วนที่เหลือก็เป็นของอิรัก ซึ่งในส่วนของอิรักนั้น ก็อาจจะปรับลดลงที่วันละ 2.11 แสนบาร์เรล
วัตถุประสงค์ของการลดปริมาณกำลังการผลิตน้ำมันดิบข้างต้น ทางซาอุดีอาระเบีย พี่เบิ้มใหญ่ของกลุ่มโอเปกก็ให้เหตุผลว่า เพื่อส่งเสริมสนับสนุนให้เกิดเสถียรภาพของตลาดพลังงาน
ทว่า ถ้อยแถลงการประกาศของซาอุดีอาระเบียดังกล่าว ก็ต้องถือว่าสร้างความประหลาดใจ เซอร์ไพรส์ ให้แก่ตลาดพลังงานมิใช่น้อย เนื่องจากแต่เดิมก็เชื่อกันว่า บรรดาประเทศกลุ่มโอเปก ผู้ส่งออกน้ำมันดิบรายใหญ่เหล่านี้ จะยังคงรักษาลดระดับปริมาณกำลังการผลิตน้ำมันดิบป้อนสู่ตลาดโลกไว้ที่วันละ 2 ล้านบาร์เรล ตามข้อตกลงที่พวกเขาบรรลุในการประชุมเจรจาก่อนหน้านี้เมื่อช่วงปลายปีที่แล้ว หรือถ้าจะปรับลดปริมาณกำลังการผลิตจากเดิมวันละ 2 ล้านบาร์เรลข้างต้น ก็น่าจะเพิ่มจำนวนการลดปริมาณกำลังการผลิตจากเดิมเพียงเล็กน้อยเท่านั้น ไม่ใช่มากมายกว่า 1 ล้านบาร์เรลต่อวัน ตามที่ซาอุดีอาระเบียประกาศ
ทั้งนี้ ถ้อยแถลงการประกาศของซาอุดีอาระเบียครั้งนี้ ก็ได้รับการโต้แย้งจากประเทศต่างๆ โดยเฉพาะกลุ่มประเทศผู้บริโภคพลังงานทั้งหลาย ซึ่งเป็นส่วนใหญ่ของโลกเรา หรือแม้กระทั่ง “สหรัฐอเมริกา” ประเทศที่ถูกยกให้เป็นชาติผู้ผลิตน้ำมันดิบมากเป็นอันดับ 1 ของโลก ก็ยังออกโต้แย้ง คัดค้าน แสดงความไม่เห็นด้วยกับการลดปริมาณกำลังการผลิตน้ำมันดิบครั้งใหม่ของโอเปก และโอเปกพลัส ในรอบล่าสุดนี้
โดยในกลุ่มประเทศผู้บริโภคพลังงาน ออกมาโต้แย้ง เพราะได้รับผลกระทบโดยตรงจากการปรับลดกำลังการผลิต ก็จะทำให้ราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกปรับตัวเพิ่มสูงขึ้น ส่งผลให้กลุ่มประเทศเหล่านี้ ต้องควักกระเป๋าจ่ายซื้อน้ำมันที่แพงขึ้นกว่าเดิม
ขณะที่ ในส่วนของสหรัฐฯ ที่ออกมาคัดค้านนั้น ก็เพราะเห็นว่า การปรับลดกำลังผลิตน้ำมัน นอกจากทำให้ราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกแพงขึ้นแล้ว ก็ยังจะส่งผลกระทบต่อภาวะเงินเฟ้อ ทำให้มีอัตราพุ่งสูงขึ้น ก่อนจะส่งผลให้สินค้าอุปโภค บริโภคอื่นๆ ต้องทะยานพุ่งสูงขึ้น กระทบเป็นลูกโซ่ตามมา และจะมีผลไปถึงการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลก ที่กำลังต้องเหตุปัจจัยมากระตุ้นเศรษฐกิจให้ฟื้นตัว ภายหลังจากที่ซบเซามา นับตั้งแต่เกิดวิกฤติการแพร่ระบาดของโควิด-19 ตามมาด้วยวิกฤติสงครามรัสเซีย-ยูเครน
ดูเหมือนว่าข้อโต้แย้งคัดค้าน ที่ปนความวิตกกังวลเรื่องราคาน้ำมันจะเพิ่มสูงขึ้นเป็นจริง ในไม่กี่อึดใจต่อมา
เมื่อปรากฏว่า ในการซื้อขายน้ำมันดิบที่ตลาดโลกต่างๆ ล้วนปรับตัวเพิ่มขึ้นทุกตลาดการซื้อขายเมื่อช่วงต้นสัปดาห์นี้ อาทิเช่นในการซื้อขายที่ตลาดสำคัญๆ ของโลก ได้แก่
การซื้อขายที่ตลาดเวสต์เทกซัส หรือดับเบิลยูทีไอ ของทางฝั่งสหรัฐฯ ราคาน้ำมันดิบในขึ้นไปบาร์เรลละ 4.10 ดอลลาร์สหรัฐฯ มาอยู่ที่ 79.77 ดอลลาร์สหรัฐฯ ต่อบาร์เรล หรือคิดเป็นร้อยละ 5.42 เมื่อเปรียบเทียบกับราคาการซื้อขายของเมื่อวันก่อน
เช่นเดียวกับการซื้อขายที่ตลาดเบรนต์ ทะเลเหนือ กรุงลอนดอน ประเทศอังกฤษ ของทางฟากยุโรป ราคาก็ปรับเพิ่มขึ้นมาอีกบาร์เรลละ 4.27 ดอลลาร์สหรัฐฯ ไปอยู่ที่ 84.16 ดอลลาร์สหรัฐฯ ต่อบาร์เรล หรือคิดเป็นการเพิ่มขึ้นจากเมื่อวันก่อนที่ร้อยละ 5.34
นอกจากนี้ ราคาน้ำมันดิบที่พุ่งสูงขึ้นแล้ว ปรากฏว่า หุ้นพลังงานในตลาดหลักทรัพย์ต่างๆ ก็ปรับตัวเพิ่มขึ้นตามมาแบบได้รับอานิสงส์ พลอยฟ้าพลอยฝนไปกับเขาด้วย ยกตัวอย่าง หุ้นพลังงานในตลาดหลักทรัพย์บางแห่งในยุโรป ราคาหุ้นปรับตัวขึ้นมาถึงกว่าร้อยละ 3
ทั้งนี้ จากราคาน้ำมันดิบที่พุ่งสูงขึ้น นอกจากทำให้ภาวะเงินเฟ้อมีอัตราเพิ่มขึ้น และทำให้สินค้าต่างๆ ราคาแพงขึ้นอย่างที่สหรัฐฯ มีความวิตกแล้ว ทางสหรัฐฯ ก็ยังเป็นห่วงกังวลว่า ราคาน้ำมันดิบที่แพงขึ้น จะทำให้รัสเซีย ภายใต้การนำของประธานาธิบดีวลาดิเมียร์ ปูติน มีรายได้เพิ่มขึ้นจากการขายน้ำมัน ก่อนจะกลายเป็นทุนรอนให้รัสเซีย สามารถนำไปใช้ในการทำสงครามกับยูเครน ได้อย่างยืดเยื้อยาวนานต่อไปขึ้นอีก ทำให้มาตรการคว่ำบาตร หรือแซงก์ชันทางเศรษฐกิจของบรรดาชาติตะวันตกที่นำโดยสหรัฐฯ เพื่อลงโทษต่อรัสเซียที่ก่อสงครามรุกรานยูเครน ไม่สัมฤทธิ์ผล
ก่อนหน้านี้ ในการปรับลดปริมาณกำลังการผลิตน้ำมันดิบป้อนสู่ตลาดโลก เมื่อครั้งก่อน คือ ช่วงเดือนตุลาคม 2022 (พ.ศ. 2565) ที่ในครั้งนั้นโอเปกพลัส ได้ประสานเสียงปรับลดวันละ 2 ล้านบาร์เรล ซึ่งมีผลในอีกเดือนถัดมา คือ พฤศจิกายน ก็ทำให้นางเจเน็ต เยลเลน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังของสหรัฐฯ ออกมาส่งเสียงเพรียกเตือนด้วยความวิตกกังวลยิ่งว่า การปรับลดปริมาณกำลังการผลิตน้ำมันในครั้งนั้น ถือเป็นเหตุปัจจัยที่ส่งผลเลวร้ายต่อเศรษฐกิจโลก
โดยการปรับลดปริมาณกำลังการผลิตเมื่อช่วงปลายปีที่ผ่านมานั้น ทางขุนคลังหญิงแห่งเมืองลุงแซม ก็ยังตำหนิว่า นอกจากจะไม่เกิดประโยชน์แล้ว ก็ยังเป็นการกระทำที่ไม่ฉลาดอีกต่างหากด้วย เพราะส่งผลกระทบต่อกลุ่มประเทศกำลังพัฒนา ชาติผู้บริโภคพลังงาน ที่ต้องจ่ายกับราคาน้ำมันที่แพงขึ้น ซ้ำเติมกับปัญหาอื่นๆ ที่ประเทศเหล่านี้ถูกรุมเร้าเป็นทุนเดิมให้เลวร้ายหนักขึ้น