อ่างทอง อบต.ตลาดใหม่ ทำพิธีเททองหล่อบรรพชนนักรบแขวงเมืองวิเศษไชยชาญ ในโครงการก่อสร้างอุทยานประวัติศาสตร์แขวงเมืองวิเศษไชยชาญ อนุสรณ์สถานแห่งความจงรักภักดี
วันนี้ (6 เมษายน 2566) เวลา 09.30 น. ณ องค์การบริหารส่วนตำบลตลาดใหม่ อำเภอวิเศษชัยชาญ จังหวัดอ่างทอง นายรังสรรค์ ตันเจริญ ผู้ว่าราชการจังหวัดอ่างทอง เป็นประธานฝ่ายฆราวาสในพิธีเททองหล่อบรรพชนนักรบแขวงเมืองวิเศษไชยชาญ ในโครงการก่อสร้างอุทยานประวัติศาสตร์แขวงเมืองวิเศษไชยชาญ อนุสรณ์สถานแห่งความจงรักภักดี ขององค์การบริหารส่วนตำบลตลาดใหม่ โดยมี พระเทพสุวรรณมุนี เจ้าคณะจังหวัดอ่างทอง (มหานิกาย) เจ้าอาวาสวัดต้นสน และพระเทพบัณฑิต เจ้าคณะจังหวัดอ่างทอง (ธรรมยุต) เจ้าอาวาสวัดเฉลิมกาญจนาภิเษก เป็นประธานฝ่ายสงฆ์ และมีนายสมศักดิ์ ปริศนานันทกุล อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ รองผู้ว่าราชการจังหวัดอ่างทอง ผู้แทนผู้ว่าการการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย หัวหน้าส่วนราชการ นายอำเภอวิเศษชัยชาญ นายอำเภอโพธิ์ทอง นายอำเภอไชโย ดร.ธวัช ทองโอภาส นายกองค์การบริหารส่วนตำบลตลาดใหม่ ผู้บริหารองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน และประชาชน เข้าร่วมพิธี
ตามที่องค์การบริหารส่วนตำบลตลาดใหม่ ได้ดำเนินโครงการก่อสร้างอุทยานประวัติศาสตร์แขวงเมืองวิเศษไชยชาญ อนุสรณ์สถานแห่งความจงรักภักดี เพื่อส่งเสริมการท่องเที่ยวเชิงประวัติศาสตร์ และเป็นศูนย์เรียนรู้อย่างครอบคลุมในบริบทของชุมชน สร้างเสริมเศรษฐกิจเพิ่มรายได้ให้กับประชาชน และประเทศชาติ เพื่อให้คนไทยมีอนุสรณ์สถานซึ่งเป็นศูนย์รวมบรรพชนแขวงเมืองวิเศษไชยชาญ อันเป็นต้นแบบในการดำรงชาติ ซึ่งเกิดจากความกล้าหาญ ความเสียสละด้วยเลือดเนื้อและชีวิตเพื่อลูกหลานไทย และเป็นศูนย์รวมในการปลูกจิตสำนึกความรักชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ อันนำไปสู่ความเป็นปึกแผ่นเข้มแข็งและดีงาม โดยดำเนินการปั้น ถอดแบบพิมพ์ และเททองหล่อบรรพชนนักรบแขวงเมืองวิเศษไชยชาญ จำนวน 12 ท่าน ขนาดองค์มีความสูง 3 เมตร ประกอบด้วย
1. เจ้าพระยาอัครมหาเสนาธิบดี สมุหพระกลาโหม (พระราชมนู) ขุนศึกคนสำคัญในรัชสมัยสมเด็จพระนเรศวรมหาราช
2. ออกพระวิเศษไชยชาญ เจ้าเมืองคนแรกแห่งแขวงเมืองวิเศษไชยชาญ ในรัชสมัยสมเด็จพระนเรศวรมหาราช
3. พระยาพิชัยสงคราม หรือขุนรองปลัดชู กรมการเมืองวิเศษไชยชาญ ในรัชสมัยสมเด็จพระที่นั่งสุริยาศน์อมรินทร์ (พระเจ้าเอกทัศ) ซึ่งรวบรวมไพร่พลเข้าเป็นกองอาสาสมัคร 400 คน สังกัดกองอาทมาต เข้าร่วมทัพกรุงศรีอยุธยาต่อต้านการบุกครองของกองทัพพม่าในสงครามพระเจ้าอลองพญา ถึงแม้กำลังพลน้อยกว่าข้าศึกมาก แต่ก็สู้ด้วยความกล้าหาญและเสียสละเลือดเนื้อและชีวิต เพื่อผืนแผ่นดินไทย
4. พันท้ายนรสิงห์ นายท้ายเรือในรัชสมัยสมเด็จพระสรรเพชญ์ที่ 8 (พระเจ้าเสือ) เป็นผู้แสดงความซื่อสัตย์ ความกล้าหาญ เคารพต่อกฎหมาย แสดงออกซึ่งความจงรักภักดีต่อพระมหากษัตริย์ ซึ่งหาใครเทียบได้ยาก
5. ขุนรัตนาวุธ ผู้นำกองทหารดาบทะลวงฟันในสงครามเก้าทัพ รัชสมัยสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช สู้จนข้อมือขวาขาด และได้ใช้นิ้วซ้ายจุ่มที่เลือดและเขียนบนผ้าว่า “จงรักษาลาดหญ้าไว้ด้วยเลือดเนื้อและชีวิต” อันแสดงถึงความกล้าหาญ และรักชาติ รักแผ่นดิน จนตัวตาย
6. พระอาจารย์ธรรมโชติ ปู่ดอก ปู่แก้ว ปู่แท่น ปู่อิน ปู่เมือง ปู่โชติ ผู้ร่วมสร้างวีรกรรมอันกล้าหาญในการต่อสู้ด้วยการรวบรวมชาวบ้านต้านศึกพม่าได้ถึง 5 เดือน ชนะศึกได้ถึง 7 ครั้ง ก่อนต้องเสียชีวิตด้วยกำลังพลที่น้อยกว่าในครั้งที่ 8 เนื่องจากขาดอาวุธปืนใหญ่ในการสู้รบ และพม่าใช้อาวุธปืนใหญ่เข้ายิงจำนวนมาก ทำให้ บางระจันต้องแตกพ่ายในที่สุด