บุรีรัมย์ เทศบาล มทบ.26 ประมง จิตอาสา จับปลาออกจาก "สระน้ำศักดิ์สิทธิ์" วัดกลางพระอารามหลวง ปล่อยคลองละลม สระธรรมชาติ อนุรักษ์พันธุ์ปลา
เทศบาลเมืองบุรีรัมย์ ร่วมกับประมงจังหวัดบุรีรัมย์ ศูนย์วิจัยและพัฒนาพันธุกรรมสัตว์น้ำบุรีรัมย์ มณฑลทหารบกที่ 26 และวัดกลางพระอารามหลวง ระดมเจ้าหน้าที่ จิตอาสา จับปลาจำนวนมากออกจากสระศักดิ์สิทธิ์ นำไปปล่อยเลี้ยงอนุรักษ์ไว้ที่สระน้ำธรรมชาติ และคลองละลมโบราณ เพื่อน้ำในสระน้ำศักดิ์สิทธิ์ใสสะอาด สามารถนำน้ำศักดิ์สิทธิ์ไปไว้ใช้ในพระราชพิธีต่างๆ
วันนี้ (6 เม.ย.66) เทศบาลเมืองบุรีรัมย์ ร่วมกับประมงจังหวัดบุรีรัมย์ ศูนย์วิจัยและพัฒนาพันธุกรรมสัตว์น้ำบุรีรัมย์ มณฑลทหารบกที่ 26 ค่ายสมเด็จเจ้าพระยามหากษัตริย์ศึก จังหวัดบุรีรัมย์ และวัดกลางพระอารามหลวง นำเจ้าหน้าที่เทศบาล และเจ้าหน้าที่ประมง ทหาร มทบ.26 และจิตอาสา ร่วมกันจับปลาออกจากสระน้ำศักดิ์สิทธิ์ ซึ่งอยู่ภายในวัดกลางพระอารามหลวง ต.ในเมือง อ.เมือง จ.บุรีรัมย์ ซึ่งมีปลาหลากหลายชนิดอยู่เป็นจำนวนมาก ทั้งปลาขนาดใหญ่และขนาดเล็ก นำไปปล่อยเลี้ยงอนุรักษ์ไว้ที่สระน้ำธรรมชาติ และคลองละลมโบราณ ลูกที่ 6 เพื่อเป็นการอนุรักษ์พันธุ์ปลาต่อไป
ทั้งนี้ เนื่องจากปริมาณปลาที่มีจำนวนมาก และมีชาวบ้านมาให้อาหารปลา ทำให้น้ำในสระน้ำศักดิ์สิทธิ์ เริ่มจะเปลี่ยนเป็นสีเขียว และน้ำอาจจะเสียส่งผลให้ปลาตายได้ จึงต้องนำปลาออกจากสระน้ำศักดิ์สิทธิ์ แล้วไปปล่อยลงในสระน้ำธรรมชาติ และคลองละลมโบราณ เพื่อน้ำในสระน้ำศักดิ์สิทธิ์ใสสะอาด สามารถนำน้ำศักดิ์สิทธิ์ไปไว้ใช้ในพระราชพิธีต่างๆ ซึ่งปลาส่วนใหญ่เป็นปลาดุก ปลานิล ปลาสวาย ปลายี่สกเทศ ปลาตะเพียน ตะเพียนขาวปลาไน และปลาจีน มีน้ำหนักตั้งแต่ 300 กรัม จนถึง 8 กิโลกรัม ซึ่งก่อนหน้านี้ เมื่อเดือน ต.ค.64 เคยนำปลาออกจากสระแห่งนี้ไปแล้วครั้งหนึ่ง
สำหรับสระน้ำศักดิ์สิทธิ์แห่งนี้เดิมชาวบ้านเรียกว่า “สระสิงโต” ในสมัยกรุงธนบุรีเมื่อกรุงเจ้าพระยาจักรี ซึ่งต่อมาได้เป็น (พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช) ยกทัพมาตีเมืองจำปาศักดิ์ ทรงได้พักทัพที่บริเวณสระน้ำแห่งนี้ ในอดีตชาวเมืองอาศัยน้ำจากสระดังกล่าวสำหรับดื่มกิน และใช้ในพิธีถือน้ำพิพัฒน์สัตยา โดยนำน้ำในสระไปทำพิธีดื่มกินในพระอุโบสถหลังเก่า ซึ่งเป็นที่ตั้งของพระอุโบสถในปัจจุบัน และเมื่อคราวที่ทางราชการได้จัดพระราชพิธีมหามงคลต่าง ๆ ก็จะนำน้ำศักดิ์ศักดิ์จากสระแห่งนี้ไปประกอบพิธี
ในส่วนวัดกลางพระอารามหลวงดังกล่าว เป็นวัดเก่าแก่คู่บ้านคู่เมืองบุรีรัมย์มาแต่โบราณ ตั้งเมื่อ พ.ศ.2329 มีประวัติเล่าสืบต่อกันว่าสมัยกรุงธนบุรี เจ้าพระยามหากษัตริย์ศึก นำทัพไปปราบเจ้าเมืองนางรอง จัดระเบียบการปกครอง และได้หยุดพักทัพที่บริเวณนี้ ซึ่งมีสระน้ำขนาดใหญ่แห่งนี้ ปัจจุบันเชื่อกันว่าเป็นสระน้ำศักดิ์สิทธิ์อยู่ในวัดกลางบุรีรัมย์ และทางราชการได้มีประกาศยกวัดกลางเป็นพระอารามหลวง แห่งแรกของบุรีรัมย์ เมื่อปี พ.ศ.2533
พระเทพปริยัตยาจารย์ เจ้าคณะจังหวัดบุรีรัมย์ เจ้าอาวาสวัดกลางพระอารามหลวง กล่าวว่า สาเหตุที่นำปลาไปปล่อยที่อื่น เพราะสระน้ำแห่งนี้ เป็นสระน้ำศักดิ์สิทธิ์ ซึ่งชาวบ้านเรียกติดปากว่า สระสิงโต ในสมัยโบราณชาวบ้านต่างนำน้ำในสระไปดื่ม ไปอาบ เพราะเมื่อก่อนไม่มีประปา มีแต่น้ำในสระสิงโตนี้ ต่อมาทางกรมศิลปากรได้มาปรับปรุงให้เป็นสระน้ำที่สวยงาม ระยะหลังได้มีชาวบ้านนำปลามาปล่อย เพราะว่าการปล่อยปลาในวัดถือว่าเป็นมงคลลงในสระแห่งนี้ ทำให้ปลามีปริมาณมากขึ้น ก็ทำให้น้ำศักดิ์สิทธิ์ไม่สะอาด
วันนี้ ทางประมงจังหวัดบุรีรัมย์ ศูนย์วิจัยและพัฒนาพันธุกรรมสัตว์น้ำบุรีรัมย์ เทศบาลเมืองบุรีรัมย์ ทหาร มทบ.26 และจิตอาสา ได้มาจับปลาในสระนี้ไปไว้ในสถานที่อื่น ให้น้ำดูสะอาดขึ้น เพื่อสามารถนำน้ำศักดิ์สิทธิ์ไปไว้ใช้ในพระราชพิธีต่างๆ อย่างไรก็ดี ขอความร่วมมือญาติโยมทั้งหลายอย่าได้นำปลามาปล่อยลงในน้ำศักดิ์สิทธิ์แห่งนี้ ขอให้นำปลาไปปล่อยที่อื่นแทน เพราะที่ผ่านมา ได้นำปลาขึ้นจากสระน้ำแห่งนี้มาแล้ว 3 ครั้ง
ด้านนายสกล ไกรรณภูมิ นายกเทศมนตรีเมืองบุรีรัมย์ กล่าวว่า ชาวบ้านจะนำปลามาปล่อยลงในสระน้ำศักดิ์สิทธิ์แห่งนี้ ในโอกาสต่างๆ ทั้ง วันเกิด ทำบุญ งานประเพณีต่างๆ อาจจะทำให้น้ำสกปรก ซึ่งที่ผ่านมา ทางเทศบาลเมืองบุรีรัมย์ ประมงจังหวัด และวัดกลางพระอารามหลวง ได้นำปลาที่มีจำนวนมากในสระน้ำศักดิ์สิทธิ์ไปปล่อยตามสระน้ำธรรมชาติ และคลองละลม เพื่ออนุรักษ์พันธุ์ปลาต่อไป