สยามรัฐ ยึดมั่นอุดมการณ์ปกป้องเทิดทูนสถาบันชาติ ศาสน์กษัตริย์ ยืนหยัดรับใช้สังคมด้วยจิตสำนึกแห่งความรับผิดชอบ …*…
ถนนทุกสายมุ่งสู่การเลือกตั้ง อำนาจกำหนดอนาคตประเทศกลับมาอยู่ในมือประชาชนอีกครั้ง รักใคร ชอบพรรคใด อย่าลืมออกไปใช้สิทธิ์ …*…
ทวนกันอีกครั้ง หากคำนวณจำนวน ส.ส. แบบแบ่งเขต ตามมติศาลรัฐธรรมนูญ (3 มี.ค.2566) โดยใช้ตัวเลขประชากรจากประกาศสำนักทะเบียนกลาง เรื่องจำนวนราษฎรทั่วราชอาณาจักร ตามหลักฐานทะเบียนราษฎร เมื่อ 31 ธันวาคม 2565 โดยนับเฉพาะผู้มีสัญชาติไทยทั้งประเทศ จำนวน 65,106,481 คน จะได้จำนวน ส.ส. รายเขต ทั้ง 400 เขตแยกเป็น กรุงเทพมหานคร (กทม.) และภาคกลาง 26 จังหวัด มี ส.ส. 122 คน ภาคใต้มี ส.ส. 60 คน ภาคเหนือมี ส.ส. 37 คน ภาคอีสานมี ส.ส.133 คนภาคตะวันออกมี ส.ส. 29 คน และภาคตะวันตกมี ส.ส. 19 คน …*…
ทั้งนี้จากข้อมูลที่จัดทำและเผยแพร่โดย Rocket Media Lab ผู้มีสิทธิ์เลือกตั้งในครั้งนี้มีจำนวนรวม 52,322,824 คน แยกเป็นผู้มีสิทธิเลือกตั้งครั้งแรก (First Voter) ซึ่งหมายถึงผู้มีอายุ 18-22 ปี จำนวน 4,012,803 คน คิดเป็นร้อยละ 7.67 ของผู้มีสิทธิเลือกตั้งทั้งหมด ผู้มีสิทธิเลือกตั้งที่เป็นผู้สูงอายุ (อายุ 58 ปี)ขึ้นไป จำนวน 14,378,037 คน คิดเป็นร้อยละ 27.48 ของผู้มีสิทธิเลือกตั้งทั้งหมด …*…
เมื่อจำแนกเป็นเจเนอเรชั่นตามศูนย์วิจัย Pew Research Center สหรัฐอเมริกา พบว่าเจเนอเรชั่น Z (อายุ 18-25 ปี) มี 6,689,453 คน คิดเป็นร้อยละ 12.78 ของผู้มีสิทธิเลือกตั้งทั้งหมด เจเนอเรชั่น Y (อายุ 26-41 ปี )มี 15,103,892 คน คิดเป็นร้อยละ 28.87 ของผู้มีสิทธิเลือกตั้งทั้งหมด เจเนอเรชั่น X (อายุ 42-57 ปี) มี 16,151,442 คน คิดเป็นร้อยละ 30.87 ของผู้มีสิทธิเลือกตั้งทั้งหมด เจเนอเรชั่น Baby Boomers (อายุ 58-76 ปี) มี 11,844,939 คน คิดเป็นร้อยละ 22.64 ของผู้มีสิทธิเลือกตั้งทั้งหมด และเจเนอเรชั่น Silent (อายุ 77 ปีขึ้นไป) มี 2,533,098 คน คิดเป็นร้อยละ 4.84 ของผู้มีสิทธิเลือกตั้งทั้งหมด …*…
ทั้งนี้ 10 จังหวัดที่มีสัดส่วนร้อยละผู้มีสิทธิเลือกตั้งครั้งแรก อายุ 18-22 ปี (first voter) ต่อผู้มีสิทธิเลือกตั้งทั้งหมดมากที่สุด ได้แก่ 1.ปัตตานี ร้อยละ 12.25 2.ยะลา ร้อยละ 11.53 3.นราธิวาส ร้อยละ 11.38 4.ตาก ร้อยละ 10.67 5.แม่ฮ่องสอน 10.32 6.สตูล ร้อยละ 9.72 7.กระบี่ ร้อยละ 9.08 8.สงขลา ร้อยละ 8.91 9.กาญจนบุรี ร้อยละ 8.65 และ 10.ลพบุรี ร้อยละ 8.58 …*…
ส่วน 10 จังหวัดที่มีสัดส่วนร้อยละผู้มีสิทธิเลือกตั้งที่เป็นผู้สูงอายุ (58 ปีขึ้นไป) ต่อผู้มีสิทธิเลือกตั้งทั้งหมดมากที่สุด ได้แก่ 1.ลำปาง ร้อยละ 35.58 2.ลำพูน ร้อยละ 35.44 3.สิงห์บุรี ร้อยละ 35.38 4.แพร่ ร้อยละ 35.09 5.ชัยนาท ร้อยละ 34.10 6.พะเยา ร้อยละ 33.75 7.สมุทรสงคราม ร้อยละ 33.52 8.อ่างทอง ร้อยละ 33.22 9.อุตรดิตถ์ ร้อยละ 32.65 และ 10.เชียงใหม่ ร้อยละ 32.27 …*…
แม้ก่อนหน้านี้มีผลสำรวจจากสำนักโพลต่างๆ ออกมาสอดคล้องต้องกันว่า พรรคเพื่อไทยมีโอกาสชนะเลือกตั้งได้จำนวน ส.ส.มากที่สุด ทว่า คงเป็นไปได้ยาก ที่จะกวาด ส.ส.ถึง 310 ที่นั่งตามเป้าแลนด์สไลด์ที่วางไว้ ฉะนั้น พรรคไหนจะได้เป็นแกนนำจากท่านรัฐบาลใหม่จึงต้องลุ้นกันถึงนาทีสุดท้าย …*…
เพราะต้องไม่ลืมว่า ผู้ที่จะได้รับเลือกเป็นนายกรัฐมนตรีเข้ามาฟอร์มรัฐบาลนั้น ต้องได้รับเสียงเห็นชอบเกินกว่ากึ่งหนึ่งของ 2 สภาฯรวมกัน นั่นคือ 375 เสียง ที่ไม่ว่าจะมองในแง่มุมไหน เพื่อไทยและพรรคร่วมขั้วเสรีนิยมคงได้ส.ส.รวมกันไม่ถึงจำนวนดังกล่าว เพื่อไทยจึงมีสิทธิ์ต้องกลับไปทำหน้าที่เป็นฝ่ายค้านอีกสมัย หากไม่ได้รับการสนับสนุนจากบางพรรคในขั้วอนุรักษ์นิยม โดยเฉพาะพลังประชารัฐที่หัวหน้าพรรคมีสายสัมพันธ์อันดีกับ ส.ว. …*…
นั่นจึงเป็นที่มาว่าทำไมข่าวเรื่อง “ดีลลับ” จึงเป็นกระแสไม่เลิก ถูกพูดถึงตลอดทั้งในหมู่คอการเมือง นักวิเคราะห์ รวมไปถึงนักเลือกตั้งด้วยกันเอง …*…
วันนี้ พรรคเพื่อไทยจะปฏิเสธบ่ายเบี่ยงเลี่ยงตอบอย่างไรก็ได้ แต่สุดท้ายแล้วความจริงก็จะปรากฏให้เห็นเป็นที่ประจักษ์หลังการเลือกตั้ง …*…