เมื่อเวลา 13.30 วันที่ 5 เม.ย. 66 สำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) โดยสำนักประชาสัมพันธ์ จัดพิธีลงนามบันทึกความเข้าใจระหว่าง กกต. และ บริษัท ไลน์ คอมพานี (ประเทศไทย) จำกัด ในการประชาสัมพันธ์การเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร เป็นการทั่วไป โดยมี นายแสวง บุญมี เลขาธิการ กกต. และ ดร.พิเชษฐ ฤกษ์ปรีชา ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัทไลน์ คอมพานี (ประเทศไทย) จำกัด ร่วมลงนามบันทึกความเข้าใจในครั้งนี้ พร้อมกับ นายวีระ ยี่แพร รองเลขาธิการคณะกรรมการการเลือกตั้ง นางสาวสิริกาญจน์ สมนึก ผู้อำนวยการฝ่ายธุรกิจ LINE TODAY บริษัท ไลน์ คอมพานี (ประเทศไทย) จำกัด ร่วมเป็นสักขีพยาน

สำหรับการลงนามบันทึกความเข้าใจครั้งนี้ จัดทำขึ้นเพื่อเป็นการประชาสัมพันธ์เผยแพร่ข้อมูลข่าวสาร การเลือกตั้งที่จะมีขึ้นในวันที่ 14 พ.ค. 66 ผ่านแพลตฟอร์ม Line Today แอปพลิเคชัน Line ให้มีความถูกต้อง และมีคุณภาพ 

โดยนายแสวง กล่าวว่า ทาง กกต. เล็งเห็นความสำคัญของไลน์ทูเดย์ที่เป็นแพลตฟอร์มที่รวบรวมเนื้อหาที่ถูกต้องและหลากหลายให้กับประชาชนได้ตลอด 24 ชม. และเป็นอีก 1 ช่องทางการสื่อสารที่มีพลัง ที่จะสามารถนำไปสู่การออกไปใช้สิทธิเลือกตั้งของประชาชน หวังว่าความร่วมมือในครั้งนี้ จะเป็นฟันเฟืองสำคัญที่จะขับเคลื่อนระบอบประชาธิปไตยของประเทศไทย 

และภายหลังจากเสร็จงาน นายแสวง ได้เปิดเผยถึงกรณีที่นายศรีสุวรรณ จรรยา เลขาธิการองค์การพิทักษ์รัฐธรรมนูญไทย ได้ยื่นเรื่องต่อ กกต. ขอให้ตรวจสอบพรรคการเมืองใช้รถแห่หาเสียงเข้าข่ายผิดกฎหมายเลือกตั้งหรือไม่ ว่า นับตั้งแต่วันที่เริ่มมีการหาเสียงและสมัคร ส.ส. แต่ละพรรคการเมือง ก็จะต้องมีขบวนรถเป็นของตัวเอง ซึ่งผู้สมัครก็ต้องมีการขึ้นรถ เพื่อใช้ในการหาเสียง โดยประเด็นดังกล่าวสามารถทำได้ เพราะเป็นการแนะนำตัวเอง และหากเป็นการปราศรัยย่อยบนรถหาเสียงก็สามารถทำได้เช่นกัน 

แต่หากเป็นกรณี ที่รถแห่หาเสียงมีลักษณะเข้าข่ายการแสดงแบบรื่นเริง เช่น คนบนรถแห่มีการร้องเพลง การเต้น หรือทำอะไรที่เป็นลักษณะเพื่อความบันเทิง ในส่วนนี้ถือว่าผิดกฎหมายเลือกตั้ง 

ซึ่งผู้ที่สามารถขึ้นรถแห่เพื่อใช้ในการหาเสียง ก็ต้องเป็นบุคคลที่อยู่ในพรรคการเมืองนั้นๆ เช่น ตัวผู้สมัครเอง สมาชิกพรรค และแคนดิเดตนายกรัฐมนตรี ที่สามารถหาเสียงบนรถได้ 

ส่วนผู้ช่วย ผู้สมัคร ส.ส. สามารถดีเบตหรือหาเสียงได้หรือไม่นั้น นายแสวงยืนยันว่า ทำได้ แต่ต้องได้รับการมอบหมายจากพรรคการเมืองนั้นๆ เสียก่อน 

สำหรับกรณีการดีเบตที่ทางสำนักข่าวแต่ละแห่งเชิญไป นอกเหนือจากการได้รับมอบหมายจากทางพรรคแล้ว ในเรื่องค่าใช้จ่ายทาง กกต. ไม่ได้นำมาคิดในส่วนของค่าใช้จ่ายการหาเสียง เป็นเรื่องของสำนักข่าวที่จะต้องจัดการค่าใช้จ่ายเอง 

และกรณีผู้สมัคร ส.ส. ที่มีสามีหรือภรรยา เป็น ดารา นักแสดง สามารถนำมาช่วยหาเสียงหรือขึ้นเวทีได้หรือไม่ นายแสวงยืนยันว่า ทำได้ เพราะสามี ภรรยา เสมือนเป็นคนเดียวกัน