กระทรวงเกษตรฯ คัดเลือก 3 สหกรณ์ดีเด่นแห่งชาติ ปี 66 กลุ่มเกษตรกรทำนาและทำสวนดีเด่น 2 แห่ง เข้ารับพระราชทานโล่รางวัล เนื่องในงานพระราชพิธีพืชมงคลจรดพระนังคัลแรกนาขวัญ ณ ท้องสนามหลวง พร้อมยกย่องเกียรติคุณ เผยแพร่ผลงานดีเด่นของสหกรณ์ ยกเป็นสหกรณ์ต้นแบบและแหล่งเรียนรู้ให้แก่เกษตรกรทั่วไป
วันที่ 5 เม.ย.66 นายวิศิษฐ์ ศรีสุวรรณ์ อธิบดีกรมส่งเสริมสหกรณ์ เปิดเผยถึงผลการคัดเลือกสหกรณ์และกลุ่มเกษตรกรที่มีผลงานดีเด่นเป็นที่ประจักษ์ และมีความเหมาะสมสำหรับการยกย่องให้เป็นสหกรณ์และกลุ่มเกษตรกรดีเด่นแห่งชาติ ประจำปี 2566 โดยในปีนี้มีสหกรณ์ดีเด่นแห่งชาติ จำนวน 3 สหกรณ์ และกลุ่มเกษตรกรดีเด่นแห่งชาติ 3 แห่ง ซึ่งจะเข้ารับพระราชทานโล่รางวัล เนื่องในงานพระราชพิธีพืชมงคลจรดพระนังคัลแรกนาขวัญ ประจำปี พ.ศ. 2566 ณ พลับพลาที่ประทับมณฑลพิธีท้องสนามหลวง ในวันที่ 17 พฤษภาคม 2566 นี้
สหกรณ์ดีเด่นแห่งชาติทั้ง 3 แห่ง ได้แก่ สหกรณ์การเกษตรด่านมะขามเตี้ย จำกัด จังหวัดกาญจนบุรี ประสบผลสำเร็จจากการเสริมสร้างองค์ความรู้ด้านการบริหารเงินในครอบครัวของสมาชิกให้เห็นถึงความสำคัญของการบริหารรายรับ รายจ่าย เพื่อสร้างวินัยทางการเงินและพัฒนาคุณภาพชีวิตของสมาชิกให้ดียิ่งขึ้น ส่งเสริมการออมให้แก่สมาชิกเพื่อให้มีภูมิคุ้มกันและมีวินัยทางการเงิน สมาชิกมีเงินออมมากขึ้นสามารถนำไปแก้ไขปัญหาด้านการเงินให้แก่สมาชิกและครอบครัวได้ สหกรณ์ออมทรัพย์กรมการพัฒนาชุมชน จำกัด กรุงเทพมหานคร ดำเนินโครงการที่มุ่งเน้นนวัตกรรมการนำเทคโนโลยีมาใช้ในการให้บริการ ได้แก่ การตรวจสอบข้อมูลส่วนตัวของสมาชิกผ่าน Application และ Website สมาชิกสามารถตรวจสอบได้ตลอด 24 ชั่วโมง ส่งเสริมนวัตกรรมในองค์กรเพื่อเป็นองค์กรที่มีสมรรถนะสูงเพื่อประโยชน์ของสมาชิก อาทิ Smart Bill ลดระยะเวลาการจัดทำใบสำคัญรับเงิน ใช้ QR Code แจ้งเปลี่ยนที่อยู่ลดระยะเวลาจัดทำหนังสือแจ้งสมาชิก การพัฒนาโปรแกรมตรวจสอบคะแนนเครดิต ช่วยลดความเสี่ยงด้านการบริหารสินเชื่อให้สหกรณ์มีการวิเคราะห์ความเสี่ยงของลูกหนี้สินเชื่ออย่างเป็นระบบ พัฒนาโปรแกรมเชื่อมโยงกับระบบฐานข้อมูลและซอฟต์แวร์ระบบงานสหกรณ์ ทำให้สมาชิกมีเครื่องมือในการตรวจสอบคะแนนเครดิตของตนเองและสามารถวางแผนบริหารการเงินให้มีความเหมาะสม สหกรณ์เครดิตยูเนี่ยนศูนย์กลางละอาย จำกัด จังหวัดนครศรีธรรมราช ประสบความสำเร็จจากโครงการสร้างครัวเรือนต้นแบบประกวดบ้านเศรษฐกิจพอเพียง น้อมนำหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงมาปรับใช้ในการส่งเสริมอาชีพให้กับสมาชิกสหกรณ์ ลดรายจ่าย สร้างรายได้ คณะกรรมการสหกรณ์ลงพื้นที่เพื่อรับฟังและแก้ไขปัญหาอย่างสม่ำเสมอ ทำให้สมาชิกสามารถส่งชำระหนี้ดอกเบี้ยค้างนานของสหกรณ์ได้
ในส่วนกลุ่มเกษตรกรดีเด่นระดับชาติมี 2 แห่ง ได้แก่ กลุ่มเกษตรกรทำนาบ้านร้องประดู่ จังหวัดอุตรดิตถ์ ปัจจุบันมีสมาชิก 272 ราย ได้รับรางวัลจากการส่งเสริมและสนับสนุนให้สมาชิกผลิตเมล็ดพันธุ์ข้าวปลอดภัยคุณภาพดีไว้ใช้ในการเพาะปลูกของตนเอง โดยช่วยเหลือตั้งแต่กระบวนการผลิตจนถึงการจำหน่ายผลผลิตทางการเกษตร เพื่อให้สามารถพัฒนาเมล็ดพันธุ์ข้าวคุณภาพและปลอดภัยสู่มาตรฐาน GAP ในอนาคต รวมทั้งส่งเสริมให้สมาชิกปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์เป็นพืชรายได้เสริมหลังฤดูทำนา โดยกลุ่มเกษตรกรเป็นผู้รับซื้อผลผลิตในชุมชนเพื่อให้สมาชิกมีความมั่นใจว่ามีแหล่งจำหน่ายผลผลิตและได้รับราคาที่เป็นธรรม และกลุ่มเกษตรกรสวนยางตำบลกันทรอม จังหวัดศรีสะเกษ มีสมาชิก634 ราย ประสบผลสำเร็จจากการส่งเสริมให้สมาชิกกลุ่มเกษตรกรปฏิบัติตามหลักปฏิบัติทางการเกษตรที่ดีและเหมาะสม หรือ GAP ดำเนินโครงการฝึกอบรมหลักสูตรผลิตยางก้อนถ้วยคุณภาพ GAP ให้ความรู้แก่สมาชิกให้สามารถผลิตยางที่มีคุณภาพดีตรงตามมาตรฐานที่กำหนด ดูแลสวนยางก่อนและหลังกรีด การกรีดยางที่ถูกวิธีเพื่อเพิ่มผลผลิต การผลิตยางให้ได้ผลผลิตสูงคุ้มค่ากับการลงทุน ตลอดจนกระบวนการผลิตจะต้องปลอดภัยต่อเกษตรกรแลผู้บริโภค มีการใช้ทรัพยากรให้เกิดประโยชน์สูงสุด เกิดความยั่งยืนทางการเกษตรและไม่เกิดมลพิษต่อสิ่งแวดล้อมด้วย
ทั้งนี้ การพิจารณาคัดเลือกสหกรณ์และกลุ่มเกษตรกรดีเด่นแห่งชาติ ได้แต่งตั้งคณะกรรมการพิจารณาคัดเลือก สหกรณ์ดีเด่นตั้งแต่ระดับจังหวัด เพื่อส่งมาประกวดในระดับภาค ก่อนจะเข้าสู่การพิจารณาคัดเลือกสหกรณ์ดีเด่นระดับประเทศ ซึ่งจะมีคณะกรรมการลงพื้นที่ไปตรวจสอบข้อมูลและโครงการต่างๆ ที่สหกรณ์ดำเนินการ และมีเกณฑ์การพิจารณาให้คะแนน แบ่งออกเป็น 5 หมวด ได้แก่ ความคิดริเริ่มสร้างสรรค์ ความสามารถในการบริหารและการจัดการสหกรณ์ บทบาทและการมีส่วนร่วมของสมาชิก ความมั่นคงและฐานะทางเศรษฐกิจ และการทำกิจกรรมด้านสาธารณประโยชน์และการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม
สหกรณ์ดีเด่นทั้ง 3 แห่ง และกลุ่มเกษตรกรดีเด่นระดับชาติ 2 แห่งนี้ จะได้รับการประกาศเกียรติคุณและเผยแพร่ผลการดำเนินงานที่ประสบผลสำเร็จและได้รับคัดเลือกเป็นสหกรณ์และกลุ่มเกษตรกรดีเด่นแห่งชาติ พร้อมเน้นย้ำให้สหกรณ์และกลุ่มเกษตรกรทุกแห่งที่ได้รับโล่พระราชทานในครั้งนี้ รักษามาตรฐาน ในการดำเนินงานเพื่อเป็นต้นแบบและแหล่งเรียนรู้ให้กับสหกรณ์อื่นๆ และประชาชนทั่วไปได้มาเรียนรู้และศึกษาดูงาน และนำแนวคิดจากการดำเนินโครงการที่ประสบผลสำเร็จของแต่ละสหกรณ์ไปปรับใช้เป็นแนวทางในการดำเนินงานของสหกรณ์อื่นๆ ต่อไป พร้อมทั้งขอให้ยึดถือหลักและวิธีการของสหกรณ์อย่างเข้มแข็ง ยึดประโยชน์ของสมาชิกเป็นหลักในการดำเนินกิจกรรมหรือโครงการต่างๆ ซึ่งจะส่งผลให้สหกรณ์และกลุ่มเกษตรกรเหล่านี้มีการพัฒนาที่เจริญก้าวหน้ายิ่งขึ้นในอนาคตต่อไป