แม้ว่าในร่างกายของคนเราจะประกอบด้วย “น้ำ” ถึง 60% ของน้ำหนักตัว แต่ในทุกๆ วันร่างกายก็สูญเสียน้ำออกไปมากเช่นกัน ฉะนั้นเราควรดื่มน้ำให้เพียงพอต่อความต้องการของร่างกาย เพื่อชดเชยน้ำที่เสียไป เพราะหากเราดื่มน้ำไม่มากพอจะส่งผลให้ร่างกายต้องตกอยู่ใน “ภาวะขาดน้ำ” อย่างแน่นอน
“ ภาวะร่างกายขาดน้ำ ” คืออะไร??
ภาวะขาดน้ำ (Dehydration) คือ ภาวะที่ร่างกายสูญเสียน้ำมากกว่าที่ได้รับ จึงมีปริมาณน้ำไม่เพียงพอจนส่งผลต่อระบบไหลเวียนของเหลวและการทำงานของอวัยวะต่างๆ เช่น หัวใจ ไต สมอง ทางเดินอาหาร กล้ามเนื้อ และหากปล่อยให้ร่างกายขาดน้ำมากเกินไปเป็นเวลานาน อาจเป็นอันตรายถึงชีวิตได้
จะเป็นอย่างไร?...เมื่อร่างกายขาดน้ำ!
อาการของผู้ที่มีภาวะร่างกายขาดน้ำจะแตกต่างกันไป ขึ้นอยู่กับระดับความรุนแรงของภาวะ
อาการเบื้องต้นที่มีความรุนแรงระดับปานกลาง
กระหายน้ำ ตาแห้ง ปากแห้ง ผิวแห้ง เหงื่อออกน้อย ปัสสาวะน้อยกว่าปกติ ท้องผูก มึนงง ปวดศีรษะ คลื่นไส้ อาเจียน
อาการที่ขาดน้ำรุนแรงและเป็นอันตราย
หากมีอาการเหล่านี้ ควรรีบพบแพทย์โดยเร็วที่สุด กระหายน้ำอย่างรุนแรง ปัสสาวะน้อยและมีสีเข้ม หรือไม่มีปัสสาวะ อ่อนเพลีย มีไข้ หัวใจเต้นแรงและเร็ว หายใจหอบและถี่ ช็อก หมดสติ
เพราะอะไร?...จึงเกิดเป็น “ภาวะขาดน้ำ”
“ น้ำ ” เป็นสิ่งสำคัญต่อร่างกาย เพราะเป็นส่วนประกอบหลักในระบบไหลเวียนต่างๆ คุณอาจคาดไม่ถึงว่า “แค่ดื่มน้ำน้อย” ก็เป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้ร่างกายอยู่ในภาวะขาดน้ำได้ มาดูกันว่า มีสาเหตุใดบ้างที่ทำให้คุณเป็น “ภาวะขาดน้ำ”
การที่ร่างกายสูญเสียน้ำมากเกินไป
อาเจียนมาก ท้องเสียอย่างหนัก อยู่ในที่อากาศร้อนเป็นเวลานาน เหงื่ออกมากจากการออกกำลังกายเป็นเวลานาน เหงื่อออกมากในผู้ที่มีไข้สูง หรือมีภาวะติดเชื้อ ปัสสาวะมากผิดปกติในผู้ป่วยเบาหวาน ผู้ที่ใช้ยาขับปัสสาวะ ใช้ยาความดันโลหิต รวมถึงผู้ที่ดื่มแอลกอฮอล์ในปริมาณมาก
การที่ร่างกายได้รับน้ำไม่เพียงพอ
การดื่มน้ำน้อยเกินไป โดยเฉพาะผู้ป่วยอาการโคม่า หรือใช้เครื่องช่วยหายใจ ผู้ที่ป่วยเป็นหวัด เจ็บคอ ทำให้เบื่ออาหารและดื่มน้ำน้อยลง ผู้ที่ไม่ชอบดื่มน้ำ และดื่มน้ำไม่เพียงพอต่อความต้องการของร่างกาย หรือดื่มน้อยกว่า 5 ลิตรต่อวัน
วินิจฉัย...เพื่อหาสาเหตุ
จะเห็นได้ว่า “ภาวะขาดน้ำ” เกิดได้จากหลายสาเหตุ จึงควรให้แพทย์ตรวจวินิจฉัยเพื่อหาสาเหตุที่แน่ชัด
การตรวจร่างกาย
๐ เพื่อหาสัญญาณของภาวะขาดน้ำ เช่น การตรวจอัตราการเต้นของหัวใจ ชีพจร และความดันโลหิตในขณะที่ผู้ป่วยเปลี่ยนจากท่านอนเป็นท่ายืน เพราะหากน้ำในเลือดน้อยเกินไปจะทำให้หัวใจเต้นเร็วขึ้น และเลือดไปเลี้ยงสมองไม่เพียงพอ ทำให้เกิดอาการวิงเวียนศีรษะหรือเป็นลมได้
การตรวจปัสสาวะ เช่น สีของปัสสาวะ การตรวจพบคีโตนในปัสสาวะ
การตรวจเลือด เช่น ปริมาณน้ำตาลในเลือด ปริมาณโซเดียมและโพแทสเซียมในเลือด ตรวจความเข้มข้นของเม็ดเลือดแดง
# ดูแลตัวเองได้เมื่อ... “ร่างกายขาดน้ำ”
“ภาวะขาดน้ำ” เกิดได้ทั้งในเด็กและผู้ใหญ่ ซึ่งมีวิธีการดูแลรักษาแตกต่างกัน หากมีอาการไม่รุนแรงมากนัก ผู้ป่วยสามารถดูแลตัวเองได้ไม่ยาก
เด็กแรกเกิดและเด็กอายุไม่ถึง 1 ปี
๐ ให้ดื่มนม หรือนมแม่บ่อยๆ และรีบมาพบแพทย์ที่โรงพยาบาล
๐ ในกรณีที่ต้องดื่มผงละลายเกลือแร่ ควรปรึกษาแพทย์ก่อนให้ทารกดื่ม
เด็กอายุ 1-11 ปี
๐ พยายามให้เด็กดื่มน้ำบ่อยๆ เพื่อเป็นการชดเชยน้ำในร่างกาย
๐ ดื่มผงละลายเกลือแร่
๐ หลีกเลี่ยงการดื่มน้ำผลไม้ น้ำอัดลม หรือน้ำหวานที่มีปริมาณน้ำตาลสูง
เด็กอายุตั้งแต่ 12 ปีขึ้นไป และผู้ใหญ่
๐ หากทำกิจกรรมอยู่ควรหยุดพัก และอยู่ในที่ที่อากาศถ่ายเทสะดวก
๐ ดื่มน้ำเปล่า หรือเครื่องดื่มเกลือแร่เพื่อเป็นการชดเชยน้ำในร่างกาย
ดูแลตัวเองก่อน “ ร่างกายขาดน้ำ ”
สิ่งสำคัญที่สุดคือ... การดื่มน้ำให้เพียงพอต่อความต้องการของร่างกาย โดยเฉพาะผู้ที่มีอาการป่วย เช่น อาเจียน ท้องเสีย มีไข้ หรือผู้ที่ต้องอยู่กลางแจ้งเป็นเวลานานๆ รวมทั้งผู้ที่ออกกำลังกายอย่างหนักและสูญเสียเหงื่อมากๆ ซึ่งปริมาณน้ำที่เพียงพอต่อคนทั่วไป คือประมาณ 1.5-2 ลิตร หรือ 8 แก้วต่อวัน แต่หากเป็นผู้ป่วยโรคไต หรือโรคหัวใจ อาจต้องจำกัดปริมาณในการดื่มน้ำ ทั้งนี้ต้องปรึกษาแพทย์เป็นรายบุคคล
ไม่น่าเชื่อว่า “ ภาวะขาดน้ำ ” จะส่งผลกระทบต่อร่างกายได้มากอย่างคาดไม่ถึง ฉะนั้นเราควรดูแลตัวเองและคนรอบข้างให้ดี... แค่ “ ดื่มน้ำในปริมาณที่เพียงพอ” เพื่อรักษาความสมดุลของน้ำในร่างกาย... วิธีง่ายๆ เท่านี้ก็ทำให้เราห่างไกลจากคำว่า “ ภาวะขาดน้ำ ” ได้แล้ว
นพ. ธิติวุฒิ หูแพทย์เวชปฏิบัติทั่วไปศูนย์สร้างเสริมสุขภาพโรงพยาบาลพญาไท นวมินทร์