กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม โดยกรมทรัพยากรน้ำบาดาล ร่วมกับกองทุนพัฒนาน้ำบาดาล จัดงาน “วันน้ำบาดาลแห่งชาติ” ภายใต้แนวคิด “รวมใจภักดิ์ รักษ์น้ำบาดาล” เพื่อประชาสัมพันธ์ให้ทุกภาคส่วนได้น้อมรำลึกถึงพระมหากรุณาธิคุณของสถาบันพระมหากษัตริย์กับการอนุรักษ์ทรัพยากร น้ำบาดาล สร้างการรับรู้ให้ประชาชนและผู้มีส่วนเกี่ยวข้องเล็งเห็นความสำคัญของวันที่ 3 เมษายนของทุกปี ซึ่งเป็นวันน้ำบาดาลแห่งชาติ พร้อมจัดกิจกรรมเผยแพร่เทคโนโลยีและนวัตกรรมด้านน้ำบาดาล รวมถึงการดำเนินโครงการบริหารจัดการน้ำบาดาลของประเทศ
เมื่อวันที่ 3 เมษายน 2566 ที่โรงแรมสวิสโฮเต็ล รัชดา กรุงเทพฯ นายจตุพร บุรุษพัฒน์ ปลัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เป็นประธานในพิธีเปิดงานวันน้ำบาดาลแห่งชาติ ครั้งที่ 1 ประจำปี พ.ศ. 2566 โดยมีนายธัญญา เนติธรรมกุล อธิบดีกรมทรัพยากรน้ำบาดาล พร้อมผู้บริหารกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ผู้บริหารกรมทรัพยากรน้ำบาดาล ผู้แทนภาครัฐและภาคเอกชน เครือข่ายน้ำบาดาล รวมถึงข้าราชการ และเจ้าหน้าที่กรมทรัพยากรน้ำบาดาล ร่วมให้การต้อนรับและเข้าร่วมกิจกรรมอย่างคับคั่ง
จากการที่คณะรัฐมนตรีได้มีมติเห็นชอบเมื่อวันอังคารที่ 21 มิถุนายน 2565 ให้วันที่ 3 เมษายนของทุกปี เป็น “วันน้ำบาดาลแห่งชาติ” (National Groundwater Day) สืบเนื่องจากเมื่อวันอาทิตย์ที่ 3 เมษายน 2565 เวลา 17.00 น. เป็นวันที่พระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินี เสด็จพระราชดำเนินไปทรงเปิดโครงการจัดหาน้ำบาดาลขนาดใหญ่แก้ปัญหาภัยแล้งอันเนื่องมาจากพระราชดำริ ที่บ้านปากชัดหนองบัว หมู่ที่ 2 ตำบลหนองฝ้าย อำเภอเลาขวัญ จังหวัดกาญจนบุรี ซึ่งเป็นการกำหนดวันในเชิงสัญลักษณ์ เพื่อใช้ในการรณรงค์ เผยแพร่ประชาสัมพันธ์ให้ทุกภาคส่วนได้น้อมรำลึกและซาบซึ้งในพระมหากรุณาธิคุณของสถาบันพระมหากษัตริย์กับการอนุรักษ์ทรัพยากรน้ำบาดาล และร่วมกันสืบสานพระราชปณิธานในการร่วมกันดูแล รักษา ปกป้องทรัพยากรน้ำบาดาลให้เกิดความยั่งยืนตลอดไป
นายจตุพร บุรุษพัฒน์ ปลัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เปิดเผยว่า น้ำบาดาล มีความสำคัญต่อการดำรงชีวิต ทั้งน้ำอุปโภคบริโภคและน้ำเพื่อการเกษตร จากข้อมูลแหล่งน้ำบาดาลในประเทศไทยมีแอ่งน้ำบาดาลทั่วประเทศ จำนวน 27 แอ่ง รวมปริมาณน้ำบาดาลกว่า 1.1 ล้านล้านลูกบาศก์เมตร ถือได้ว่าประเทศไทยมีศักยภาพแหล่งน้ำบาดาลปริมาณมากเพียงพอ สามารถนำมาพัฒนาและใช้ประโยชน์ตอบสนองความต้องการใช้น้ำบาดาลของประชาชนที่มีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้น เนื่องจากจำนวนประชากรที่เพิ่มขึ้น รวมทั้งการขยายตัวของชุมชน การพัฒนาทางด้านเกษตรกรรม เศรษฐกิจ และอุตสาหกรรม รวมทั้งปัญหาการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ
นายธัญญา เนติธรรมกุล อธิบดีกรมทรัพยากรน้ำบาดาล กล่าวว่า กรมทรัพยากรน้ำบาดาล ในฐานะหน่วยงานหลักในการกำกับ ดูแล และบริหารจัดการน้ำบาดาล ได้กำหนดนโยบายจัดงานวันน้ำบาดาลแห่งชาติในวันที่ 3 เมษายนของทุกปี โดยวันน้ำบาดาลแห่งชาติ ครั้งที่ 1 ประจำปี พ.ศ. 2566 จัดขึ้นภายใต้แนวคิด “รวมใจภักดิ์ รักษ์น้ำบาดาล” เพื่อประชาสัมพันธ์ให้ทุกภาคส่วนได้น้อมรำลึกถึงพระมหากรุณาธิคุณของสถาบันพระมหากษัตริย์กับการอนุรักษ์ทรัพยากรน้ำบาดาล สร้างการรับรู้ให้ประชาชนและผู้มีส่วนเกี่ยวข้องเล็งเห็นความสำคัญของวันน้ำบาดาลแห่งชาติ พร้อมจัดกิจกรรมเผยแพร่เทคโนโลยีและนวัตกรรมด้านน้ำบาดาล รวมถึงการดำเนินโครงการบริหารจัดการน้ำบาดาลของประเทศ อาทิ การนำเสนอนิทรรศการด้านน้ำบาดาล การมอบรางวัลเชิดชูเกียรติให้แก่เครือข่ายน้ำบาดาลดีเด่นทั้งภาครัฐและภาคเอกชน การเสวนาทางวิชาการ และการบรรยายผลงานวิชาการด้านน้ำบาดาล
สำหรับผลการตัดสินเพื่อมอบรางวัลเชิดชูเกียรติให้แก่เครือข่ายน้ำบาดาลดีเด่น 4 ประเภท มีดังนี้
1) ประเภทสำนักงานทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมจังหวัด จำนวน 5 จังหวัด
- สำนักงานทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมจังหวัดในพื้นที่เขตวิกฤตการณ์น้ำบาดาล ได้แก่ สำนักงานทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมจังหวัดสมุทรสาคร
- สำนักงานทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมจังหวัด ที่จัดเก็บรายได้ค่าใช้น้ำบาดาลและ ค่าอนุรักษ์น้ำบาดาล 10,000,001 บาท ขึ้นไป ได้แก่ สำนักงานทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมจังหวัดสระบุรี
- สำนักงานทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมจังหวัด ที่จัดเก็บรายได้ค่าใช้น้ำบาดาลและ ค่าอนุรักษ์น้ำบาดาล 5,000,000-10,000,000 บาท ได้แก่ สำนักงานทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมจังหวัดลำพูน
- สำนักงานทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมจังหวัด ที่จัดเก็บรายได้ค่าใช้น้ำบาดาลและ ค่าอนุรักษ์น้ำบาดาล 2,000,000-5,000,000 บาท ได้แก่ สำนักงานทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมจังหวัดตราด
สำนักงานทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมจังหวัด ที่จัดเก็บรายได้ค่าใช้น้ำบาดาลและ ค่าอนุรักษ์น้ำบาดาล น้อยกว่า 2,000,000 บาท ได้แก่ สำนักงานทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมจังหวัดสตูล
2) ประเภทพื้นที่ต้นแบบในการบริหารจัดการน้ำบาดาลดีเด่น จำนวน 12 พื้นที่ ได้แก่
- โครงการจัดหาน้ำบาดาลขนาดใหญ่แก้ปัญหาภัยแล้งอันเนื่องมาจากพระราชดำริ โครงการศึกษาสำรวจและพัฒนาแหล่งน้ำบาดาลระดับลึกในสภาพพื้นที่หินแปร เพื่อแก้ไขปัญหาภัยแล้ง สนับสนุนการอุปโภคบริโภค ตำบลหนองฝ้าย อำเภอเลาขวัญ จังหวัดกาญจนบุรี
- โครงการศึกษานำร่องรูปแบบระบบส่งน้ำบาดาลระยะไกลเพื่อแก้ไขปัญหาความขาดแคลนน้ำในพื้นที่ขอบแอ่งเจ้าพระยาตอนล่าง ตำบลตลิ่งชัน อำเภอเมือง จังหวัดสุพรรณบุรี
- โครงการพัฒนาน้ำบาดาลเพื่อการเกษตรแปลงใหญ่ 300 ไร่ ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2565 งบกลาง ตำบลทะเลวังวัด อำเภอท่าหลวง จังหวัดลพบุรี
- โครงการพัฒนาน้ำบาดาลเพื่อการเกษตรด้วยเทคโนโลยีขั้นสูง เพื่อส่งเสริมการเกษตรแบบแปลงใหญ่ ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2564 ตำบลกุดหว้า อำเภอกุฉินารายณ์ จังหวัดกาฬสินธุ์
- โครงการพัฒนาน้ำบาดาลเพื่อการเกษตรแปลงใหญ่ พื้นที่ 300 ไร่ ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2564 งบกลาง ตำบลโบสถ์ อำเภอพิมาย จังหวัดนครราชสีมา
- โครงการพัฒนาน้ำบาดาลเพื่อความมั่นคงระดับชุมชน ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2565 ตำบลนาโต๊ะหมิง อำเภอเมือง จังหวัดตรัง
- โครงการพัฒนาน้ำบาดาลเพื่อการเกษตรแปลงใหญ่ พื้นที่ 500 ไร่ (โครงการตามมาตรการสถานการณ์ขาดแคลนน้ำฤดูแล้ง ปี 2563/2564) ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2564 ตำบลเมืองเก่า อำเภอเมืองสุโขทัย จังหวัดสุโขทัย
- โครงการพัฒนาน้ำบาดาลเพื่อการเกษตรด้วยพลังงานแสงอาทิตย์ในพื้นที่หาน้ำยาก ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2563 ตำบลปากช่อง อำเภอจอมบึง จังหวัดราชบุรี
- โครงการศึกษาพัฒนาน้ำบาดาลเพื่อการเกษตรแปลงใหญ่ ภายใต้โครงการเพื่อเตรียมการรับมือ บรรเทาปัญหาน้ำท่วม และเพิ่มประสิทธิภาพการเก็บกักน้ำ ในฤดูฝน ปี 2563 ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2563 ตำบลทุ่งมหาเจริญ อำเภอวังน้ำเย็น จังหวัดสระแก้ว
- โครงการพัฒนาน้ำบาดาลเพื่อการเกษตรแปลงใหญ่ พื้นที่ 500 ไร่ ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2564 งบกลาง ตำบลหนองแวงใต้ อำเภอวานรนิวาส จังหวัดสกลนคร
- โครงการพัฒนาน้ำบาดาลเพื่อการเกษตรแปลงใหญ่ พื้นที่ 500 ไร่ ปีงบประมาณ พ.ศ. 2565 ตำบลหนองเป็ด อำเภอเมืองยโสธร จังหวัดยโสธร
- โครงการพัฒนาน้ำบาดาลเพื่อความมั่นคงระดับชุมชน ตำบลเขามีเกียรติ อำเภอสะเดา จังหวัดสงขลา
3) ประเภทกลุ่มผู้ประกอบกิจการน้ำบาดาลภาคเอกชน จำนวน 3 บริษัท
- ธุรกิจขนาดใหญ่ มีปริมาณน้ำตามใบอนุญาต ตั้งแต่ 5,000 ลบ.ม./วัน ขึ้นไป ได้แก่ บริษัท ปทุมธานี บริวเวอรี่ จำกัด
- ธุรกิจขนาดกลาง มีปริมาณน้ำตามใบอนุญาต ตั้งแต่ 1,000 ถึง 5,000 ลบ.ม./วัน ได้แก่ บริษัท ทีทีซี น้ำดื่มสยาม จำกัด
- ธุรกิจขนาดเล็ก มีปริมาณน้ำตามใบอนุญาต น้อยกว่า 1,000 ลบ.ม./วัน ได้แก่ บริษัท ไทยโอซูก้า จำกัด
4) ประเภทช่างเจาะน้ำบาดาล กรมทรัพยากรน้ำบาดาล จำนวน 12 ราย ได้แก่ นายทองสุข คานจันทึก ช่างเจาะบ่อบาดาล ช4/หัวหน้า สำนักทรัพยากรน้ำบาดาล เขต 1 (ลำปาง) นายสุธินทร์ ศรีจันทร์ ช่างเจาะบ่อบาดาล ช4 สำนักทรัพยากรน้ำบาดาล เขต 2 (สุพรรณบุรี) นายปรีชา สีหอม ช่างเจาะบ่อบาดาล ช4 สำนักทรัพยากรน้ำบาดาล เขต 3 (สระบุรี) นายวิชัย หาญรบ ช่างเจาะบ่อบาดาล ช4/หัวหน้า สำนักทรัพยากรน้ำบาดาล เขต 4 (ขอนแก่น) นายเกียรติศักดิ์ ไกรมณี ช่างเจาะบ่อบาดาล ช4 สำนักทรัพยากรน้ำบาดาล เขต 5 (นครราชสีมา) นายทวิชัย จันทร์เลื่อน ช่างเจาะบ่อบาดาล ช4 สำนักทรัพยากรน้ำบาดาล เขต 6 (ตรัง) นายมงคล บุญสืบ ช่างเจาะบ่อบาดาล ช4 สำนักทรัพยากรน้ำบาดาล เขต 7 (กำแพงเพชร) นายไชยา วงษ์เอี่ยม ช่างเจาะบ่อบาดาล ช3 สำนักทรัพยากรน้ำบาดาล เขต 8 (ราชบุรี) นายเสน่ห์ แก้วคำมี ช่างเจาะบ่อบาดาล ช4 สำนักทรัพยากรน้ำบาดาล เขต 9 (ระยอง) นายประจักษ์ พิมสะกะ ช่างเจาะบ่อบาดาล ช4 สำนักทรัพยากรน้ำบาดาล เขต 10 (อุดรธานี) นายคมเพชรรัตน์ พันธ์พิบูลย์ ช่างเจาะบ่อบาดาล ช4 สำนักทรัพยากรน้ำบาดาล เขต 11 (อุบลราชธานี) และนายนิพัฒ นะสุวรรณโน ช่างเจาะบ่อบาดาล ช4 สำนักทรัพยากรน้ำบาดาล เขต 12 (สงขลา)
ส่วนในช่วงของการเสวนา เรื่อง บทบาทของน้ำบาดาลในการพัฒนาประเทศและสนับสนุนการพัฒนาที่ยั่งยืน มีผู้ร่วมเสวนา ได้แก่ นายสิทธิศักดิ์ มั่นอยู่ หัวหน้าสำนักงานผู้เชี่ยวชาญ กรมทรัพยากรน้ำบาดาล นางศศิพร ปานิกบุตร ผู้อำนวยการกองกิจกรรมพิเศษและวิเทศสัมพันธ์ สำนักงานคณะกรรมการพิเศษเพื่อประสานงานโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ นายฐนโรจน์ วรรัฐประเสริฐ ผู้อำนวยการศูนย์อำนวยการน้ำแห่งชาติ สำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ นายธันยพัฒน์ มั่นณิชนันทน์ รองเลขาธิการสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย เลขาธิการสถาบันน้ำและสิ่งแวดล้อมเพื่อความยั่งยืน ศ.ดร. พิสุทธิ์ เพียรมนกุล อดีตคณะกรรมการจัดทำยุทธศาสตร์ชาติด้านการสร้างการเติบโตบนคุณภาพชีวิตที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม และผู้เชี่ยวชาญด้านนวัตกรรมสิ่งแวดล้อม และนายศศิน เฉลิมลาภ ประธานกรรมการบริหารมูลนิธิสืบนาคะเสถียร โดยในภาคบ่ายเป็นการบรรยายเพื่อนำเสนอผลงานวิชาการน้ำบาดาลและแลกเปลี่ยนเรียนรู้ประสบการณ์ตรงจากผู้บริหารของกรมทรัพยากรน้ำบาดาล