นายชัยชาญ เจริญสุข ประธานสภาผู้ส่งสินค้าทางเรือแห่งประเทศไทย (สรท.) ระบุว่า การส่งออกของไทยในปี 2566 มีปัจจัยที่ท้าทายมากขึ้น และมีโอกาสที่จะเติบโตได้ไม่ถึง 1% แต่ทั้งนี้ สรท.ยังคงเป้าหมายการส่งออกในปีนี้ไว้ตามเดิมที่ 1-2% ไปก่อน และรอให้คณะกรรมการชุดใหม่มีการประเมินและตัดสินใจอีกครั้ง คาดว่าการส่งออกของไทยในช่วงไตรมาส 1/66 จะหดตัวราว 10% (YoY) เนื่องจากเมื่อเทียบกับไตรมาส 1/65 การส่งออกของไทยมีการเติบโตค่อนข้างสูง และคาดว่าการส่งออกในไตรมาส 2/66 อาจจะยังไม่ฟื้นตัวนัก โดยจะยังหดตัวราว 5% แต่หลังจากนั้นไปแล้ว การส่งออกของไทยจะขึ้นกับการฟื้นตัวของเศรษฐกิจประเทศคู่ค้า เช่น จีน สหรัฐอเมริกา และสหภาพยุโรป เป็นสำคัญ

โดยถ้าสถานการณ์ไม่ได้เลวร้ายไปมากกว่านี้ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของราคาน้ำมัน เงินเฟ้อ อัตราแลกเปลี่ยน ถ้าทุกอย่างยังสามารถบริหารจัดการได้ การส่งออกในช่วงครึ่งหลังปีนี้ ก็มีโอกาสจะกลับมาเป็นบวกได้ แต่ต้องติดตามเรื่องราคาน้ำมัน เงินเฟ้อสหรัฐ และการฟื้นตัวของเศรษฐกิจจีนอย่างใกล้ชิด คาดว่าเดือน พ.ค.หรือ มิ.ย.น่าจะเห็นความชัดเจน และคาดการณ์ได้ชัดกว่านี้ ทั้งนี้มองว่า สินค้าส่งออกสำคัญของไทยที่ยังสามารถเติบโตได้ดี ได้แก่ กลุ่มอุตสาหกรรมอาหาร, รถยนต์ และชิ้นส่วนยานยนต์

สำหรับแนวโน้มการส่งออกในเดือนมี.ค.66 คาดว่าจะมีมูลค่าราว 23,000 - 23,500 ล้านดอลลาร์ ซึ่งต่ำกว่าช่วงเดียวกันของปีก่อน (มี.ค.65) ที่มีมูลค่าการส่งออกสูงถึง 28,800 ล้านดอลลาร์ ในขณะที่การส่งออกเดือน ก.พ.66 มีมูลค่า 22,376 ล้านดอลลาร์ หดตัว 4.7% การส่งออกในเดือนมี.ค.นี้ได้รับผลกระทบจาก 3 ปัจจัยคือ การชะลอตัวของเศรษฐกิจสหรัฐ,เศรษฐกิจจีนเติบโตได้ไม่เร็วอย่างที่คาด และดัชนี PMI ของยุโรปยังต่ำกว่าระดับ 50 ที่เป็นระดับปกติ

ทั้งนี้การฟื้นตัวของเศรษฐกิจจีนภายหลังการเปิดประเทศ ยังเติบโตได้ช้ากว่าที่ สรท.คาดไว้ การท่องเที่ยวส่วนใหญ่ยังคงเป็นการท่องเที่ยวภายในประเทศ การเดินทางไปต่างประเทศลดน้อยลง การฟื้นตัวของภาคอุตสาหกรรมไม่เร็วเท่าที่คาดไว้ ดังนั้นจึงต้องติดตามว่าการส่งออกของไทยไปจีนในช่วงมี.ค.จะเป็นอย่างไร ซึ่ง สรท.อาจจะมีการจัดกิจกรรมส่งเสริมการค้าไทย-จีน เพิ่มมากขึ้นตั้งแต่ช่วงไตรมาส 2 ของปีนี้
          
นายชัยชาญ กล่าวอีกว่า ปัจจุบัน สรท.ยังคงคาดการณ์การส่งออกไทยทั้งปี 2566 ไว้ที่ขยายตัว 1-2% (ณ เดือนเม.ย.66) โดยมีปัจจัยปัจจัยเสี่ยงที่เป็นอุปสรรคสำคัญ ได้แก่ 1.ความเสี่ยงจากการชะลอตัวของเศรษฐกิจโลก ความผันผวนของตลาดเงิน-ตลาดทุน และความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์ ปัญหาทางด้านภูมิรัฐศาสตร์ การแบ่งขั้วทางการเมืองและเศรษฐกิจ ที่ก่อให้เกิดสงครามทางการค้า เทคโนโลยี มาตรการกีดกันทางการค้า และต้นทุนราคาพลังงานโลกมีความผันผวนตามสถานการณ์การเมืองระหว่างประเทศ ส่งผลต่อต้นทุนการผลิตในภาคอุตสาหกรรมปรับตัวเพิ่มสูงขึ้น โดยเฉพาะค่าไฟฟ้า และภาวะเงินเฟ้อ ปัญหาการขาดสภาพคล่องของสถาบันการเงินในสหรัฐฯ และยุโรป ที่หากลุกลามอาจทำให้เศรษฐกิจโลกมีความเสี่ยงเข้าสู่ภาวะถดถอยสูงขึ้น สะท้อนความเชื่อมั่นและกำลังซื้อของผู้บริโภคมีแนวโน้มลดลง ส่งผลให้อุปสงค์การนำเข้าสินค้าปรับลดลงต่อเนื่อง 2.ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อ (PMI) ในเดือน มี.ค.ที่หดตัวรุนแรง โดยเฉพาะกิจกรรมภาคการผลิตในกลุ่มยูโรโซน ขณะที่ PMI ของสหรัฐ หดตัวน้อยลงในเดือนมี.ค. (MoM) เป็นผลจากปัญหาอุปทานค่อนข้างกระจุกตัว สินค้าคงคลังยังคงทรงตัวในระดับสูง

ขณะเดียวกันมีข้อเสนอแนะที่สำคัญไปถึงหน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้องดังนี้ 1.ขอให้ภาครัฐช่วยพิจารณาควบคุมหรือปรับขึ้นค่าไฟฟ้า (FT) ทั้งในภาคการผลิต และภาคครัวเรือน ให้อยู่ระดับที่เหมาะสมเพื่ออำนวยความสะดวก และลดภาระด้านต้นทุนให้ผู้ประกอบการสามารถรักษาระดับราคาสินค้าให้เหมาะสมกับความต้องการของตลาดและกำลังซื้อของผู้บริโภค 2.ขอให้ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) รักษาเสถียรภาพค่าเงินบาท ไม่ให้มีความผันผวนเกินกว่าประเทศคู่ค้าสำคัญของไทย รวมถึงทบทวนการขึ้นดอกเบี้ยนโยบายให้อยู่ในระดับที่เหมาะสม และเพิ่ม Local Currency เพื่อเป็นทางเลือกให้กับผู้ส่งออกและนำเข้าของไทย 3.พิจารณามาตรการสนับสนุนเพื่ออุดหนุนการใช้พลังงานทางเลือก เช่น มาตรการลดหย่อนภาษี ในการเปลี่ยนไปใช้พลังงานทดแทน เช่น พลังงานแสงอาทิตย์ (Solar), พลังงานหมุนเวียน (Renewable) และพลังงานชีวมวล (Biomass) เป็นต้น

ทั้งนี้ สรท.อยู่ระหว่างการทำสมุกปกขาวที่รวบรวมข้อมูลด้านการค้า การส่งออกของไทยเพื่อเสนอให้กับรัฐบาลชุดใหม่ คาดว่าน่าจะเห็นความชัดเจนในเดือนมิ.ย.66 ที่ต้องการให้รัฐบาลช่วยกระตุ้น สนับสนุนการส่งออกไทย