วันที่ 4 เม.ย.66 ศ.นพ.ยง ภู่วรวรรณ หัวหน้าศูนย์เชี่ยวชาญเฉพาะทางด้านไวรัสวิทยาคลินิก ภาควิชากุมารเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊กส่วนตัว Yong Poovorawan ว่า ... 

โควิด 19 คำถามที่ถามบ่อย เราจะฉีดวัคซีนอีกดีหรือไม่

เป็นคำถามที่ถามบ่อยมาก วันนี้เราจะฉีดวัคซีนโควิด 19 อีก ดีหรือไม่ บางคนเกิดความลังเลใจ

ก่อนอื่นต้องยอมรับก่อนว่าโรคโควิด 19 อยู่กับเรา และกำลังเปลี่ยนเป็นโรคประจำฤดูกาล ไม่ได้หายไปไหน

ตามฤดูกาล ระยะนี้จะเป็นระยะสงบของโรค เช่นเดียวกับโรคทางเดินหายใจอื่นๆ และตามฤดูกาลจะไปเพิ่มมากขึ้นเมื่อเข้าสู่ฤดูฝน นักเรียนเปิดเทอม นักเรียนจะเป็นผู้ขยายโรคให้มีการระบาดเพิ่มขึ้น เห็นได้ชัดจากไข้หวัดใหญ่ ฤดูกาลของการฉีดไข้หวัดใหญ่จึงเป็นก่อนฤดูฝนหรือก่อนนักเรียนเปิดเทอมของทุกปี

ในทำนองเดียวกัน เมื่อโควิด 19 เข้าสู่โรคประจำฤดูกาล วัคซีนก็ควรจะได้รับก่อนที่จะมีการระบาดของโรคเพิ่มขึ้น ในช่วงเดือนกุมภาพันธ์ ถึงพฤษภาคม ประเทศไทยจะเป็นช่วงที่โรคสงบ อย่างไรก็ตามวัคซีนประจำปีควรได้รับตั้งแต่ปลายเมษายนจนถึงพฤษภาคมเพื่อไปรองรับ ในฤดูฝนหรือช่วงนักเรียนเปิดเทอม

ผู้ที่ควรได้รับวัคซีนอย่างยิ่งคือกลุ่มเสี่ยง ที่เมื่อติดโรคแล้ว จะรุนแรง ดังนั้น

จากข้อมูลการศึกษาที่ผ่านมาของศูนย์พบว่า

ผู้ที่ฉีดวัคซีนแล้วอย่างน้อย 3 เข็ม ร่วมกับการติดเชื้อมาแล้ว ภูมิต้านทานจะอยู่ในระดับที่สูงมากและอยู่นานเกิน 6 เดือน ยังมีระดับที่ค่อนข้างสูง ในกลุ่มเสี่ยง ที่ยังไม่เคยติดเชื้อ ควรได้รับการกระตุ้นด้วยวัคซีน หลังจากเข็มสุดท้ายเกิน 6 เดือนแล้ว เพื่อยกระดับภูมิต้านทานให้สูงขึ้นและเตรียมรองรับโควิด 19 ประจำฤดูกาล

อย่างไรก็ตามกลุ่มเสี่ยงที่เคยติดเชื้อมาแล้ว ถึงแม้ว่าภูมิจะอยู่ในระดับสูง เราก็คงจะปรับวิธีการให้วัคซีน เข้าสู่วัคซีนประจำฤดูกาล คือให้ทุกปีในปลายเดือนเมษายนต่อพฤษภาคมของทุกปีเพื่อป้องกันการระบาดในฤดูฝน

ส่วนในเด็กหรือวัยทำงานที่มีร่างกายแข็งแรงดีไม่มีโรคประจำตัว และได้รับวัคซีนมาแล้วอย่างน้อย 3 เข็ม และยังไม่เคยติดเชื้อมาก่อน หรือเคยติดเชื้อแต่ไม่เคยได้รับวัคซีน ก็สามารถปรับให้การให้วัคซีนเป็นแบบประจำปีไปได้เลย

ผู้ที่มีร่างกายแข็งแรงดีได้รับวัคซีนมาแล้ว 3 เข็มเป็นอย่างน้อยร่วมกับการติดเชื้อ จะยังไม่รับวัคซีนรอไปฤดูกาลหน้าก็มีความเป็นไปได้ แต่เมื่อได้รับเชื้อก็อาจจะมีการติดเชื้อแต่ส่วนใหญ่อาการจะไม่รุนแรง

แต่ละคนควรจะพิจารณาความเสี่ยงของตัวเองในการเกิดโรคแล้วจะรุนแรงโดยเฉพาะในกลุ่มเสี่ยงที่มีโรคประจำตัวหรือผู้สูงอายุ กับสถานการณ์การระบาดของโรคโควิด 19 ในประเทศไทยเมื่อเข้าสู่โรคประจำฤดูกาล