“ทรีนีตี้” ให้กรอบดัชนีหุ้นเดือนเม.ย.แนวต้าน 1640 และ 1690 จุด แนวรับ 1580 -1600 จุด และ 1550-1560 จุด เชิงกลยุทธ์ แนะขึ้นขาย-ลงซื้อตามกรอบดังกล่าว มองตลาดหุ้นและเศรษฐกิจโลกมีความเสี่ยงมากขึ้นจากการลดกำลังการผลิตน้ำมันของโอเปก ระยะสั้นจึงเน้นกลุ่มที่อิงกับภาคบริการ เลือกโรงพยาบาล โรงแรม ร้านอาหาร ค้าปลีก สื่อฯ แนะ BDMS,BH,CENTEL,ERW,AU,ZEN,CRC,DOHOME และ PLANB
นายณัฐชาต เมฆมาสิน ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ ฝ่ายวิเคราะห์หลักทรัพย์ บริษัทหลักทรัพย์ ทรีนีตี้ จำกัด เปิดเผยถึงทิศทางการลงทุนเดือนเมษายน 2566 ว่า ประเมินตลาดหุ้นไทยมีความเสี่ยงมากขึ้นในเดือนเมษายน จากตอนแรกที่เคยมองไว้ว่าหนทางค่อนข้างสะดวก เพราะมีทั้งปัจจัยผลักดันเม็ดเงิน Fund flow และปัจจัยดึงดูดในส่วนของธีมการเลือกตั้งบ้านเรา อย่างไรก็ดี ด้วยการประกาศลดกำลังการผลิตน้ำมันขนานใหญ่ของกลุ่ม OPEC+ เมื่อสุดสัปดาห์ที่ผ่านมา มองว่าหากเกิดขึ้นจริง ปัจจัยนี้อาจเป็นจุดพลิกเกมส์ที่สำคัญของการลงทุนทั่วโลกในช่วงถัดไป และจะทำให้สมมติฐานการลงทุนเดิมหลายๆอย่างจะต้องมีการปรับเปลี่ยนด้วยเช่นกัน
ทั้งนี้ประเมินกรอบแนวต้านแรกของ SET เดือนนี้ที่ 1640 จุด ส่วนกรอบแนวต้านสำคัญที่ไม่น่าทะลุได้แก่ระดับสูงสุดเดิมของปีที่ 1690 จุด เนื่องจากเป็นระดับที่ตึงตัวในแง่ของ Valuation แล้ว ในทางกลับกัน ให้กรอบแนวรับแรกไว้ที่ 1580-1600 จุด แต่อาจต้องแบ่งไม้ในการเข้าซื้อ เผื่อดัชนีมีการ Price in ปัจจัยเสี่ยงใหม่ที่เกิดขึ้น โดยมองกรอบแนวรับสำคัญเดือนนี้ที่บริเวณ 1550-1560 จุด
โดยในเชิงกลยุทธ์ แนะขึ้นขาย-ลงซื้อตามกรอบดังกล่าว ส่วนในแง่ของกลุ่มหุ้นนั้น จากความเสี่ยงทางด้านต้นทุนพลังงานที่สูงขึ้น ซึ่งจะส่งผลต่อความเสี่ยงเงินเฟ้อด้านสูง และการเข้มงวดนโยบายการเงินในช่วงถัดไป แต่ในระยะสั้นอาจมีธีมการเลือกตั้งช่วยหนุนภาคการบริโภคภายในอยู่ได้บ้าง จึงขอโฟกัสไปยังกลุ่มบริการเป็นหลัก เนื่องจากดูแล้วค่อนข้างปลอดภัยที่สุดจากเหตุการณ์ต่างๆตอนนี้ ไม่ว่าจะเป็น โรงพยาบาล โรงแรม ร้านอาหาร ค้าปลีก สื่อฯ เป็นต้น โดยมีหุ้นที่แนะนำ ได้แก่ BDMS, BH, CENTEL, ERW, AU, ZEN, CRC, DOHOME, และ PLANB
สำหรับปัจจัยที่ต้องติดตามจับตาการตอบรับเชิงบวกในระยะสั้นของราคาน้ำมันดิบ หลังซาอุฯและประเทศสมาชิกในกลุ่ม OPEC+ ประกาศหั่นกำลังการผลิตน้ำมันรวมกันราว 1.1 ล้านบาร์เรลต่อวัน โดยเป็นสัดส่วนของซาอุฯ เอง 5 แสนบาร์เรลต่อวัน และจะเริ่มต้นตั้งแต่เดือนพฤษภาคมนี้ไปจนถึงสิ้นปี ซึ่งเมื่อมารวมกับการลดกำลังการผลิตเดิมของรัสเซียที่ระดับ 5 แสนบาร์เรลต่อวันที่มีการต่ออายุเพิ่มเติมออกไปอีกจนกระทั่งถึงสิ้นปีนี้ จะทำให้กำลังการผลิตที่หายไปทั้งสิ้นรวมเป็น 1.6 ล้านบาร์เรลต่อวัน หากเกิดขึ้นจริงจะถือว่าเป็นระดับที่มีนัยสำคัญมากต่อสมดุล Demand-Supply ในตลาดพลังงานโลกได้
นายณัฐชาต กล่าวอีกว่า ได้สรุป 11 ผลกระทบสำคัญต้องรู้จากการประกาศปรับลดกำลังการผลิตน้ำมันของกลุ่ม OPEC+ ล่าสุดไว้ดังต่อไปนี้ 1.เป็น Sentiment เชิงบวกระยะสั้นต่อกลุ่ม Commodity เช่นกลุ่ม E&P และ Refinery 2.กลุ่ม Anti-commodity พลิกกลับมามีความเสี่ยงขึ้นมาทันที แนะหลีกเลี่ยงการลงทุนในระยะสั้น เช่น กลุ่ม Utilities 3.เพิ่มความเสี่ยงของแรงกดดันเงินเฟ้อทั่วโลกและเศรษฐกิจถดถอย ซึ่งจะนำมาสู่ความเสี่ยง Stagflation ที่มากขึ้น 4.เพิ่มความเสี่ยงทางด้านดอกเบี้ยนโยบายให้อยู่ในโหมด Higher for Longer 5.เพิ่มความเสี่ยงต่อปรากฏการณ์ PE contraction 6.เพิ่มความเสี่ยงต่อการลงทุนในพันธบัตร จากการที่ Yield มีโอกาสปรับตัวสูงขึ้นอีกครั้ง 7.ลดความน่าสนใจของตลาดหุ้นลง ผ่านมาตรวัด Earning yield gap ที่ปรับลดลง 8.เพิ่มความเสี่ยงต่อหุ้นกลุ่ม Growth และ Technology 9.เพิ่มความเสี่ยงต่อต้นทุนการนำเข้าสินค้าน้ำมันดิบของไทย 10.เพิ่มความเสี่ยงต่อการขาดดุลการค้าและดุลบัญชีเดินสะพัดมากขึ้น 11.เพิ่มความเสี่ยงด้านอ่อนค่าของเงินบาท