วันที่ 3 เม.ย.รศ.นพ.ธีระ วรธนารัตน์ อาจารย์คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โพสต์เฟซบุ๊กส่วนตัว "Thira Woratanarat" ระบุว่า...

กัญชาทำให้ปัญหาทางจิตเวชกำเริบขึ้น

งานวิจัยล่าสุดจากทวีปยุโรป โดย Levi L และคณะ ตีพิมพ์เผยแพร่ในวารสารการแพทย์ Schizophrenia Bulletin เมื่อปลายเดือนมีนาคมที่ผ่านมา

ศึกษาในผู้ป่วยที่มีอาการโรคจิตต่างๆ ได้แก่ จิตเภท (schizophrenia) รวมถึง ประเภท Schizophreniform และ Schizoaffective disorder จำนวน 446 คน

หลังจากรักษา โดยได้รับยาจิตเวชนาน 10 สัปดาห์ พบว่ามีผู้ป่วยราว 63% ที่อาการสงบ และมีการติดตามผู้ป่วยต่อไปอีก 1 ปีได้ราวครึ่งหนึ่ง

พบว่า คนที่เสพกัญชาจะมีอัตราการเป็นกลับซ้ำ (relapse) ของโรคจิตเวชเหล่านี้มากกว่าคนที่ไม่ได้เสพกัญชาถึง 3.03 เท่า

แม้แต่กลุ่มผู้ป่วยที่ได้รับยาจิตเวชอยู่ หากเสพกัญชา ก็จะทำให้มีอัตราโรคกำเริบขึ้นมากกว่ากลุ่มที่ไม่ได้ใช้กัญชา 2.89 เท่า

งานวิจัยนี้ตอกย้ำให้เราเห็นถึงผลกระทบของการเสพกัญชา ที่ทำให้คนที่เคยมีปัญหาทางจิตเวชอยู่ แม้รักษาอยู่ หรือรักษาจนโรคสงบแล้ว ก็จะกำเริบขึ้นได้มากกว่าเดิมหลายเท่า

ผลกระทบจากกัญชานั้น เกิดกับทุกเพศทุกวัย ทั้งคนทั่วไป และผู้ป่วยที่มีโรคจิตเวชอยู่เดิม

ข้อควรระวังคือ ในประชาชนทั่วไป บางคนอาจมีปัญหาทางจิตเวชอยู่โดยที่ยังไม่รู้ตัว การเข้าถึงกัญชา และสิ่งเสพติดชนิดต่างๆ โดยง่าย และเสพเข้าไป ก็จะกระตุ้นให้เกิดปัญหาอาการขึ้นมาได้เช่นกัน เราจึงไม่แปลกใจว่าในช่วงปีที่ผ่านมา เห็นข่าวมากมายที่มีคนเสพแล้วเกิดภาวะหลอน ทำร้ายตนเอง ทำร้ายผู้อื่นได้ การช่วยกันยับยั้งการเข้าถึงสิ่งเสพติดจึงมีความสำคัญมากในสังคม

...ไม่สนับสนุนการเมืองที่หากินกับสิ่งเสพติด

...ไม่อุดหนุนกิจการต่างๆ ที่ค้าขายสินค้าและบริการที่เกี่ยวข้องกับสิ่งเสพติด

...ช่วยกันเตือน ให้ความรู้ สอน ลูกหลาน ไม่ให้ริลองเสพ และระมัดระวังการกินอาหาร ของขบเคี้ยว ขนม เครื่องดื่ม ที่น่าสงสัยหรือไม่คุ้นเคย จากเพื่อนฝูงหรือคนแปลกหน้า

...สิ่งเสพติดเป็นภัยต่อชีวิต เป็นพิษต่อสังคม

อ้างอิง

Levi L et al. Cannabis Use and Symptomatic Relapse in First Episode Schizophrenia: Trigger or Consequence? Data From the OPTIMISE Study. Schizophrenia Bulletin. 31 March 2023