รัฐมนตรีเศรษฐกิจอาเซียน เห็นชอบประเด็นสำคัญด้านเศรษฐกิจ เน้นอำนวยความสะดวกภาคธุรกิจ การเป็นตลาดและฐานการผลิตที่เข้มแข็ง เร่งอัปเกรด FTA อาเซียน และอาเซียน-คู่เจรจา จัดทำความตกลงเศรษฐกิจดิจิทัล มุ่งสู่เศรษฐกิจสีเขียวและการเงินที่ยั่งยืน หนุนจัดทำยุทธศาสตร์ความเป็นกลางทางคาร์บอน พร้อมถกเอกชนอาเซียนเน้นการอำนวยความสะดวกทางการค้าและการลงทุน
นายวันชัย วราวิทย์ รองปลัดกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า ได้รับมอบหมายจากนายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกฯและ รมว.พาณิชย์ ให้เป็นผู้แทนเข้าร่วมการประชุมรัฐมนตรีเศรษฐกิจอาเซียน อย่างไม่เป็นทางการ (AEM Retreat) ครั้งที่ 29 ระหว่างวันที่ 21-22 มีนาคม ที่ผ่านมา ณ เมืองมาเกอลัง ประเทศอินโดนีเซีย เพื่อพิจารณาประเด็นสำคัญด้านเศรษฐกิจของอาเซียนที่จะผลักดันในปีนี้ และหารือแนวทางการเพิ่มศักยภาพการเป็นตลาดและฐานการผลิตของอาเซียนให้เข้มแข็ง ทั้งนี้ ติมอร์-เลสเต ได้เข้าร่วมการประชุมเป็นครั้งแรกในฐานะสมาชิกสังเกตการณ์ของอาเซียนอีกด้วย
นายวันชัย กล่าวว่า ที่ประชุมได้เห็นชอบประเด็นสำคัญด้านเศรษฐกิจ ที่อินโดนีเซียในฐานะประธานอาเซียนผลักดันให้บรรลุผลในปีนี้ ซึ่งเน้นการฟื้นฟูเศรษฐกิจด้วยศักยภาพใหม่ๆ การสร้างสภาพแวดล้อมทางเศรษฐกิจที่อำนวยความสะดวกต่อภาคธุรกิจ โดยเฉพาะ MSMEs การยกระดับ FTA อาเซียน และอาเซียนกับคู่เจรจา การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานรองรับการเชื่อมโยงกันอย่างไร้รอยต่อด้วยเทคโนโลยีดิจิทัล และสภาพแวดล้อมที่สนับสนุนการพัฒนาที่ยั่งยืน อาทิ การพัฒนาระบบนิเวศด้านยานยนต์ไฟฟ้า และการพัฒนาภาคการเงินเพื่อสนับสนุนเศรษฐกิจสีเขียวและการเงินที่ยั่งยืน
โดยอาเซียนเห็นพ้องจะร่วมมือกันเพิ่มศักยภาพการเป็นตลาดและฐานการผลิตให้เข้มแข็งขึ้น เพื่อให้การค้าในภูมิภาคขยายตัวถึงสองเท่า จากมูลค่า 5.9 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐในปี 2560 เป็น 1.2 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ ภายในปี 2568 ที่ประชุมจึงผลักดันให้เร่งการเจรจายกระดับความตกลงการค้าสินค้าอาเซียน (ATIGA) และการจัดทำความตกลงเศรษฐกิจดิจิทัลของอาเซียน (DEFA) เพื่อยกระดับมาตรฐานอาเซียนให้ทันสมัย และรองรับประเด็นการค้าใหม่ๆ โดยเฉพาะด้านเศรษฐกิจหมุนเวียนและเศรษฐกิจดิจิทัล ซึ่งจะครอบคลุมการค้าไร้กระดาษและการชำระเงินด้วยดิจิทัล เพื่อช่วยอำนวยความสะดวกทางการค้า และนำไปสู่การเพิ่มมูลค่าการค้าภายในอาเซียน รวมทั้งสนับสนุนการเริ่มจัดทำยุทธศาสตร์ความเป็นกลางทางคาร์บอนของอาเซียน เพื่อเสริมศักยภาพทางแข่งขันของอาเซียน และดึงดูดการลงทุนและเทคโนโลยีใหม่ๆ มายังภูมิภาคให้มากขึ้น
นอกจากนี้ ที่ประชุมได้หารือกับสภาที่ปรึกษาธุรกิจอาเซียน (ASEAN-BAC) โดยชูแนวคิดหลัก “ASEAN Centrality: Innovating Towards Greater Inclusivity” ซึ่งภาคเอกชนเน้นความสำคัญเรื่องการอำนวยความสะดวกทางการค้าและการลงทุน ลดอุปสรรคทางการค้า การใช้ประโยชน์จาก FTA ของอาเซียนที่มีอยู่ การใช้ระบบ e-formD อย่างเต็มรูปแบบผ่านระบบศุลกากรอิเล็กทรอนิกส์ ณ จุดเดียว และการยกระดับมาตรฐานและประสานกฎระเบียบที่เกี่ยวกับแรงงานฝีมือ นอกจากนี้ ASEAN-BAC ยังเสนอให้ใช้เทคโนโลยีดิจิทัล เพื่อกระตุ้นการเติบโตทางเศรษฐกิจของอาเซียน การพัฒนาอย่างยั่งยืน การบรรลุเป้าหมาย Net Zero การพร้อมรับมือกับปัญหาด้านสาธารณสุขและโรคระบาด และการสร้างความเข้มแข็งเรื่องความมั่นคงทางอาหาร โดย ASEAN-BAC ได้เสนอโครงการที่จะดำเนินการในปีนี้ จำนวน 8 โครงการ อาทิ ASEAN QR Code สนับสนุนการชำระเงินด้วยระบบดิจิทัลในอาเซียน ASEAN Net Zero ส่งเสริมการใช้พลังงานหมุนเวียน และ ASEAN One Shot Campaign จะช่วยจัดหาวัคซีนและการเข้าถึงเรื่องสาธารณสุข
ทั้งนี้ ในเดือน ม.ค.66 การค้าระหว่างไทยกับอาเซียน มีมูลค่า 9,365 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (+1.1%) เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้า โดยไทยส่งออกไปอาเซียน มูลค่า 5,044 ล้านดอลลาร์สหรัฐ และไทยนำเข้าจากอาเซียน มูลค่า 4,322 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ตลาดคู่ค้าสำคัญ คือ มาเลเซีย อินโดนีเซีย เวียดนาม สิงคโปร์ และฟิลิปปินส์