วันที่ 31 มีนาคม 2566 นางสาวรัชดา ธนาดิเรก รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า รัฐบาลได้เร่งดำเนินการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคมขนส่งของไทยมาอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะการพัฒนาโครงข่ายคมนาคม ได้แก่ การพัฒนาโครงข่ายรถไฟระหว่างเมือง การพัฒนาโครงข่ายขนส่งสาธารณะเพื่อแก้ไขปัญหาการจราจร เพื่อช่วยให้การคมนาคมขนส่งมีความสะดวกรวดเร็ว ช่วยให้ประชาชนมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น รัฐบาลโดย กรมการขนส่งทางราง ร่วมกับการรถไฟแห่งประเทศไทย องค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ บริษัท รถไฟฟ้า ร.ฟ.ท. จำกัด และ บมจ. ธนาคารกรุงไทย เปิดมิติใหม่ของเส้นทางคมนาคมให้มีความเชื่อมโยงอย่างต่อเนื่อง เพื่อการเดินทางที่สะดวกปลอดภัย เปิดตัวบัตรเหมาจ่าย TRANSIT PASS RED LINE BKK X BMTA

สำหรับ บัตรเหมาจ่าย TRANSIT PASS RED LINE BKK X BMTA เป็นบัตรโดยสารที่สามารถใช้เดินทางร่วมรถไฟชานเมืองสายสีแดง (ช่วงบางซื่อ-รังสิต และบางซื่อ-ตลิ่งชัน) และรถเมล์ ขสมก.ทั้งรถธรรมดาและรถปรับอากาศไม่จำกัดเที่ยว โดยจำนวนครั้งการเดินทางด้วยรถไฟชานเมืองสายสีแดง สูงสุดจำนวน 50 เที่ยว และรถเมล์ ขสมก. ไม่จำกัดเที่ยว ทั้งนี้ใช้บัตรเหมาจ่ายได้ภายในระยะเวลา 30 วัน นับจากวันที่ผู้โดยสารใช้บัตรครั้งแรกที่รถไฟฟ้าสายสีแดง หรือรถเมล์ ขสมก. อย่างใดอย่างหนึ่ง และเมื่อใช้งานรถไฟฟ้าสายสีแดงครบ 50 เที่ยวแล้ว จะไม่สามารถใช้ได้อีก แต่สามารถใช้ขึ้นรถเมล์ ขสมก. ได้จนกว่าจะครบ 30 วัน  บัตรเหมาจ่ายนี้ผู้โดยสารสามารถชำระค่าโดยสารโดยการใช้บัตรแตะชำระค่าโดยสารที่จุดชำระของรถไฟชานเมือง (สายสีแดง) ตามที่ทางรฟท. กำหนดและเครื่อง EDC บนรถเมล์ ขสมก.  สำหรับราคาค่าออกบัตรเหมาจ่ายมีค่าออกบัตร 100 บาท และราคาบัตรเหมาจ่าย 2,000 บาท 

ทั้งนี้ ผู้โดยสารสามารถซื้อบัตรเหมาจ่าย TRANSIT PASS RED LINE BKK X BMTA ครั้งแรกได้ที่ห้องจำหน่ายบัตรโดยสารรถไฟชานเมืองสายสีแดง และเขตการเดินรถตามที่ ขสมก. กำหนด สามารถเติมเงินเข้าบัตรได้หลายช่องทาง เช่น ตู้เอทีเอ็มของธนาคารกรุงไทย แอปพลิเคชัน Krungthai NEXT การเติมเงินผ่านการสแกน QR Code หลังบัตร รวมทั้งการเติมเงินผ่านช่องทางอื่นทาง MOBILE BANKING ของทุกธนาคาร และชำระเงินสดผ่านเครื่อง EDC ณ จุดจำหน่ายบัตร 

"บัตรเหมาจ่ายนี้จะช่วยให้เกิดการเดินทางที่เชื่อมต่อกันระหว่างรถไฟชานเมืองสายสีแดง และรถเมล์ ขสมก. ซึ่งผู้โดยสารจะได้รับการบริการที่มีความสะดวก รวดเร็ว และได้รับโปรโมชันที่ประหยัด ถูกกว่าการชื้อบัตรแยกประเภท ทำให้บัตรเหมาใบเดียวช่วยให้การเดินทางสะดวก คุ้ม รวดเร็ว จ่ายค่าโดยสารคล่องตัวผ่านบริการชำระเงินด้วยบัตรเหมาแบบไร้สัมผัส ซึ่งในระยะต่อไปหากจัดทำบัตรเหมาเที่ยวที่ใช้เดินทางร่วมทั้ง รถเมล์ ขสมก. และรถไฟฟ้าทั้งสายสีน้ำเงิน สายสีม่วง รวมทั้ง รถไฟชานเมือง (สายสีแดง) เมื่อคิดในอัตราเหมารายวันแล้วจะทำให้ช่วยลดภาระค่าใช้จ่ายในการเดินทางของประชาชน เกิดความสะดวกรวดเร็วในการเดินทาง ส่งเสริมให้เกิดการใช้ระบบขนส่งมวลชนในพื้นที่กรุงเทพมหานครเพิ่มขึ้นต่อไป" นางสาวรัชดา กล่าว