ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) หนึ่งหน่วยงานรัฐวิสาหกิจ ที่ต้องจับตามองกับการเปลี่ยนแปลงผู้บริหารที่คุมบังเหียนในการขับเคลื่อนให้เป็นไปตามนโยบายของรัฐบาลในการยกคุณภาพชีวิตของพี่น้องเกษตรกร ที่ถือว่าเป็นกลุ่มคนที่สำคัญในการผลิตอาหารที่ใช้หล่อเลี้ยงคนทั้งประเทศ พร้อมทั้งสร้างรายได้ให้กับประเทศอีกทางหนึ่ง
ทั้งนี้ยุทธศาสตร์การดำเนินงานขององค์กร ระยะ 5 ปี ปีบัญชี 2564 – 2568 (ทบทวนครั้งที่ 1) ปีบัญชี 2565 มุ่งเน้นเชื่อมโยงกับเครือข่ายด้านการเกษตรตลอดห่วงโซ่คุณค่า โดยขับเคลื่อนซ่อม (Repair) การจัดการข้อมูลและคุณภาพข้อมูล (Big Data) และการใช้ AI ในการวิเคราะห์พฤติกรรมลูกค้า เพื่อสร้างนวัตกรรมทางการเงินและบริการใหม่ๆ และนำเทคโนโลยีดิจิทัลมาใช้ในการปรับปรุงกระบวนการทำงานในรูปแบบ Agile การบริหารจัดการคุณภาพหนี้ทั้งระบบและสร้าง (Re-Build) สร้าง Platform เชื่อมโยงธุรกิจภาคการเกษตร ร่วมกับพันธมิตรธุรกิจ รองรับการเติบโตใหม่ (New Business) ในกลุ่มที่มีศักยภาพ เช่น Young Smart Farmer, Smart Farmer, SMAEs เป็นต้น โดยอาศัยศักยภาพของดิจิทัล เทคโนโลยีภายใต้แนวคิด BCG รวมทั้ง ต่อยอด (Re-Business) พัฒนาการทำงานร่วมกับเครือข่ายด้านการเกษตรตลอดทั้งห่วงโซ่คุณค่าเกษตรกร SMAEs Agri Tech และ Startup
และวันนี้ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) ได้ก้าวเข้าสู่การขับเคลื่อนโดย “นายฉัตรชัย ศิริไล” ผู้จัดการ ธ.ก.ส. คนที่ 14 ที่พร้อมนำพา ธ.ก.ส. ก้าวข้ามความเปลี่ยนแปลงและความท้าทายใหม่ ๆ พร้อมสานต่อเจตนารมณ์การเป็นธนาคารพัฒนาชนบทอย่างยั่งยืนที่จะนำพาเกษตรกรไทย เร่งพัฒนาด้วยเทคโนโลยี และองค์ความรู้สมัยใหม่เพื่อการเติบโตอย่างยั่งยืนและมั่นคง ผ่านกลยุทธ์ที่มีการใช้เทคโนโลยีและฐานข้อมูลเป็นตัวขับเคลื่อนหลัก ควบคู่ไปกับการส่งเสริมวินัยทางการเงินอย่างเป็นระบบ พร้อมเติมองค์ความรู้จากสถาบันการศึกษาเครือข่ายต่อยอดการพัฒนามาตรฐานสินค้าเกษตร เพื่อยกระดับชีวิตเกษตรกรไทย สู่สังคมที่ภาคภูมิ
นายฉัตรชัย ศิริไล เปิดเผยถึงเป้าหมายว่าจะขับเคลื่อนและส่งเสริมให้เกษตรกรว่า กลุ่มเกษตรกร วิสาหกิจชุมชน และสถาบันเกษตรกร เข้าถึงแหล่งเงินทุนและบริการทางการเงินอย่างครบวงจรด้วยต้นทุนที่ต่ำและรวดเร็ว โดยใช้เทคโนโลยี วิทยาการสมัยใหม่ นวัตกรรม และประโยชน์จากฐานข้อมูล (Database) ที่ธนาคารมีมาวิเคราะห์ (Data Analytics) และวางแผนสร้างผลิตภัณฑ์และบริการให้สามารถตอบโจทย์ความต้องการของลูกค้าได้อย่างตรงความต้องการ รวมถึงวางแผนบริหารจัดการการผลิต การเพิ่มมูลค่าเพิ่ม และคาดการณ์ความต้องการสินค้าการเกษตร เพื่อให้เกษตรกร กลุ่มเกษตรกร และวิสาหกิจชุมชนสามารถบริหารจัดการการผลิตได้อย่างสอดคล้องกับความต้องการของกลุ่มผู้บริโภคต่าง ๆ ในตลาด
ลดการเกิดภาวะสินค้าเกษตรล้นตลาด ทำให้เกษตรกรสามารถกำหนดปริมาณและราคาสินค้าได้อย่างเหมาะสม และป้องกันราคาสินค้าเกษตรตกต่ำ ควบคู่ไปกับการส่งเสริมวินัยทางการเงินอย่างเป็นระบบ
เตรียมความพร้อมให้เกษตรกรเกษียณอายุอย่างมีคุณภาพ ด้วยแนวทางสร้างกองทุนเงินเกษียณอายุ (Pension Fund) และยังมีแนวทางนำเทคโนโลยีที่ทันสมัยมาปรับเปลี่ยนกระบวนการให้บริการลูกค้าที่มีความสะดวก รวดเร็ว ทั้งในมิติของ Mobile Application และ Self Service Machine
พร้อมส่งเสริมความรู้ด้านเทคโนโลยีและการทำการเกษตรแบบใหม่ โดยอาศัยทักษะของกลุ่มคนที่ความเชี่ยวชาญในด้านการผลิต การออกแบบ การแปรรูปเพื่อสร้างมูลค่าเพิ่ม การทำการตลาดแบบ Digital และการกระจายสินค้าเกษตร ผนวกกับการทำธุรกิจแบบ Mutualism
สำหรับเกษตรกรผู้เป็นเจ้าของแหล่งปัจจัยการผลิตหรือที่ดินทำการเกษตรแต่ขาดทักษะ ร่วมกับกลุ่มคนที่มีทักษะแต่ขาดทรัพยากรการผลิต ให้ได้มีโอกาสส่งเสริมซึ่งกันและกัน ในธุรกิจรูปแบบการแบ่งปันผลกำไร (Profit Sharing) และใช้องค์ความรู้จากสถาบันการศึกษาเครือข่ายในการพัฒนามาตรฐานการผลิตสินค้าเกษตร ในรูปแบบของ 1U (University) 1C (Community) พัฒนาและต่อยอดเพิ่มมูลค่าผลิตภัณฑ์ของวิสาหกิจชุมชน ทั้งในเรื่องของนวัตกรรม การออกแบบ และการทำธุรกิจการเกษตร เพื่อเพิ่มมูลค่าเพิ่มให้กับผลิตภัณฑ์ของวิสาหกิจชุมชนและยกระดับขีดความสามารถในการแข่งขันของธุรกิจใหม่ๆ ทั้งตลาดในประเทศและต่างประเทศ
นายฉัตรชัย กล่าวว่า ส่วนนโยบายเร่งด่วนที่ต้องเร่งทำคือการบริหารจัดการหนี้ ซึ่งแยกออกเป็นสองส่วน ส่วนแรกแก้ปัญหาหนี้เสีย ส่วนที่สองคือการป้องกัน ซึ่งส่วนใหญ่ลูกค้าของธนาคารเป็นกลุ่มเกษตรกรเป็นกลุ่มเปราะบางและได้รับผลกระทบจากโควิด รวมถึงจากสงครามรัสเซีย-ยูเครน และผลกระทบดอกเบี้ยที่เป็นขาขึ้นซึ่งส่งผลกับเศรษฐกิจและราคาพืชผลทางการเกษตร ต้องเร่งฟื้นฟูความแข็งแรงของความสามารถในการหารายได้ของเกษตรกรที่เป็นลูกค้า
"การพักหนี้เป็นมาตรการแก้หนี้ที่ไม่ยั่งยืนเพราะพักแค่เงินต้นแต่ดอกเบี้ยยังเดินต่อ การพักหนี้อาจเหมาะกับลูกค้ากลุ่มที่ยังไม่แข็งแรง แต่ลูกค้าที่แข็งแรงต้องใช้มาตรการอื่น ซึ่งเรากำลังมีแนวคิดในการทำรูปแบบของมีน้อยจ่ายน้อยมีมากจ่ายมากและให้แรงจูงใจสำหรับคนที่เต็มใจจะจ่าย"
ขณะเดียวกันต้องใช้เทคโนโลยีมาช่วยใช้ในการทำงาน เพราะกลุ่มลูกค้าครอบคลุมทุกจังหวัดมากกว่า 1,200 สาขา การนำเทคโนโลยีเข้ามายกระดับการทำงานทำให้สามารถให้บริการได้สะดวกรวดเร็ว มีประสิทธิภาพมากขึ้น นอกจากนี้ จะนำนวัตกรรมเข้าไปผสมผสานในการทำการเกษตรกรมีช่องทางการหารายได้เพิ่มนอกเหนือจากการพึ่งพิงการทำเกษตรทั้ง 100%
รวมถึงการพัฒนาและต่อยอดเพิ่มมูลค่าผลิตภัณฑ์ของวิสาหกิจชุมชน ทั้งในเรื่องของนวัตกรรม การออกแบบ และการทำธุรกิจการเกษตร เพื่อเพิ่มมูลค่าเพิ่มให้กับผลิตภัณฑ์ของวิสาหกิจชุมชนและยกระดับขีดความสามารถในการแข่งขันทั้งตลาดในประเทศและต่างประเทศ
และนี่คือความมุ่งมั่นตั้งใจของ “นายฉัตรชัย ศิริไล” ผู้จัดการ ธ.ก.ส. คนที่ 14 ที่จะสร้างคุณภาพชีวิตในชนบทให้ดีขึ้น (Better Life) สร้างชุมชนไทยให้เข้มแข็ง (Better Community) และสร้างความภาคภูมิใจในอาชีพการเกษตรให้มากยิ่งขึ้น (Better Pride) เพื่อยกระดับชีวิตเกษตรกรไทย สู่สังคมที่ภาคภูมิ อย่างยั่งยืน