บทความพิเศษ / ทีมงานหญ้าแห้งปากคอก (ท้องถิ่น)  

สนามเลือกตั้งต่างประเทศในปี 2023 หรือในรอบปี 2566 นี้มีประเทศต่างๆ ที่มีการเลือกตั้งรวมกันถึง 5 ประเทศ นับตั้งแต่ (1) ตุรเคีย 18 มิถุนายน 2566 (2) อาร์เจนตินา 29 ตุลาคม 2566 (3) ไนจีเรีย 25 กุมภาพันธ์ 2566 (4) ปากีสถาน เดือนตุลาคม 2566 (5) ซิมบับเว เดือนสิงหาคม 2566 ที่ต่างเน้นที่ "ความโปร่งใสตรวจสอบได้" ของการเลือกตั้ง สำหรับการเลือกตั้ง ส.ส.กรณียุบสภาของไทยในวันอาทิตย์ที่ 14 พฤษภาคม 2566 ครั้งนี้แทบไม่แตกต่างจากการเลือกตั้ง ส.ส.เป็นการทั่วไป กรณีครบวาระแต่อย่างใด เพราะฝ่ายอำนาจรัฐใช้เทคนิคเล็กๆ น้อยยุบสภา จึงเป็นอีกหนึ่งในสนามเลือกตั้งที่โลกจับตามอง

จากถ้อยแถลงของเลขาฯ กกต. วันสำคัญที่สุดใน “วันเลือกตั้ง” (14 พฤษภาคม 2566) ที่คนไทยทั้งหลายจะไปเข้าคูหาเลือกตั้งแล้วกาบัตร 2 ใบเลือกคน (ส.ส.เขต) และเลือกพรรค เพื่อนำไปสู่การคิดสัดส่วน ส.ส.บัญชีรายชื่อต่อไป ซึ่งเป็นการเปลี่ยนแปลงที่สำคัญต่างจากการเลือกตั้งคราวที่แล้ว (ปี 2562) ที่กาบัตรใบเดียวเลือกคนเลือกพรรคไปพร้อมๆ กัน  ที่เปลี่ยนแปลงอีกอย่างคือ คราวที่แล้ว เลือก ส.ส.เขต 350 คน และ ส.ส.บัญชีรายชื่อ 150 คน แต่คราวนี้จะเลือก ส.ส.เขต 400 คน และบัญชีรายชื่อแค่ 100 คน จำนวน ส.ส.ทั้งหมด ซึ่งยังคงอยู่ที่ 500 คนเท่าเดิม ผลที่จะตามมาจากการกาบัตรทั้ง 2 ใบนี้ก็คือ เมื่อมีการนับบัตรเสร็จสิ้นแล้ว เราจะทราบได้ทันทีว่าพรรคไหนจะได้ ส.ส.เขตกี่คน และ ส.ส.บัญชีรายชื่อกี่คน รวมเป็นทั้งหมดกี่คน พรรคใดจะมีโอกาสจัดตั้งรัฐบาลและบุคคลท่านไหนจะมีโอกาสเป็น “นายกรัฐมนตรี” แม้ตำแหน่ง “นายกรัฐมนตรี” จะไปเลือกกันภายหลังในการประชุมร่วมของสภาก็ตาม มาพิเคราะห์วิพากษ์การเลือกตั้งตามประสาบ้านๆ ในข้อจำกัดบางแง่มุมดูบ้าง

มหากาพย์การซื้อสิทธิขายเสียง (Vote Buying)

การเลือกตั้งไทยซื้อเสียงซ้ำซากแล้วมันจะชี้ชะตาประเทศได้จริงหรือ เป็นคำถามน่าคิดสำหรับคนโลกสวย ซึ่งแน่นอนว่าในตำรากาลามสูตรสอนไว้ว่า อย่าเชื่อใครง่าย แม้แต่ตัวเอง แต่ให้เชื่อความจริงที่เกิดขึ้นจาก การปฏิบัติจนเห็นผลอย่างแน่ชัดแล้วเท่านั้น เพราะในทางความเป็นจริง (ทางปฏิบัติ) มันไม่ง่ายดังคิดฝันกัน มันมีปัจจัยตัวแปรมาก ภายใต้สภาวะเงื่อนไขที่รู้ๆ กันดี ทั้งนักวิชาการหลากสำนัก ไม่มีสูตรตายตัว จนเกิดศัพท์แสงไทยๆ ขึ้นมาในวงการเลือกตั้งหลายคำ เช่น หัวคะแนน (คนที่ไปหาคะแนนเสียงให้), เวียนเทียน (การทุจริตการเลือกตั้งโดยการเวียนบัตรเลือกตั้งที่ถูกลักลอบนำออกมาก่อนหน้าเพียง 1 ใบ), ยิงกระสุน(คือเงินที่ซื้อเสียง), คืนหมาหอน (คืนก่อนวันเลือกตั้งที่มีการแจกเงินแก่ชาวบ้านผู้เลือกตั้ง), โรคร้อยเอ็ด (การซื้อเสียงในการเลือกตั้งซ่อมที่จังหวัดร้อยเอ็ด เขตหนึ่งเมื่อวันที่ 9 สิงหาคม 2524), บ้านใหญ่ (นักการเมืองอิทธิพลในพื้นที่ที่มีเครือข่ายทั้งตระกูล), พลังดูด (ปรากฏการณ์ดูดเอาตัวอดีต ส.ส.หรือผู้ที่เป็นตัวเก็งมาอยู่ในพรรค), งูเห่า (ส.ส.ที่เปลี่ยนพรรคเปลี่ยนอุดมการณ์), เกี๊ยะเซียะ(สมยอมกันเพราะมีผลประโยชน์ร่วม), ส.ต.(สอบตก), ประชาธิปไตยครึ่งใบ (ระบอบประชาธิปไตยที่ชาวบ้านมีเสียงไม่เต็ม), ประชาธิปไตยกินได้ (ประชาธิปไตยที่มีผลทันทีต่อชาวบ้านเหมือนของที่กินได้ เป็นการทำให้เกิดความเป็นไปได้ในการทำมาหากินสืบเนื่องต่อไป) ฯลฯ

เผลอๆ ยังคิดกันไปว่า เอกลักษณ์บางอย่างของสังคมเช่น “วัฒนธรรมการเมืองแบบบ้านใหญ่” ยังถือเป็น Negative Soft Power แบบไทยๆ ก็ได้ ที่เป็นตำนานนิยายปรัมปราทางลบ (The myth) มิใช่ตำนานเล่าขานเชิดชูทางบวก (The legend) ด้วยวัฒนธรรมการเมืองแบบ “Dynasty Politics” ของสังคมย่านภูมิภาคเอเชีย ที่มักเป็นพวกในตระกูลก๊วนนักการเมืองจากรุ่นสู่รุ่น รุ่นปู่ย่าตายาย สู่รุ่นพ่อ รุ่นแม่ ยันถึงรุ่นลูก รุ่นหลาน ซึ่งมีนักวิชาการเรียกว่าเป็น “การเมืองแบบบ้านใหญ่” ซึ่งในความเห็นของผู้เขียน เห็นว่าไม่เชิงเป็น Dynasty Politics นัก เนื่องจากในกรณีของประเทศไทยมันมีเอกลักษณ์เฉพาะตัวที่ไม่เหมือนกับประเทศอื่นๆ 

แน่นอน "การซื้อสิทธิ์ขายเสียง" หรือ “การซื้อเสียง” (Vote Buying) เป็นคำฮิตที่ต้องกล่าวถึง เพราะมีมานานแล้ว เพียงแต่ในสมัยก่อนๆ กับสมัยปัจจุบันมีบริบทที่แตกต่างกัน ซึ่งหมายถึง  “พฤติกรรมการทุจริตเลือกตั้งโดยใช้เงินแลกเปลี่ยนกับการลงคะแนนเสียงเลือกตั้งซื้อเสียง หรือการเสนอสิ่งตอบแทนในรูปผลประโยชน์หรือทรัพย์สินต่างๆ หรืออาจเป็นการสัญญาว่าจะให้ทรัพย์สินสิ่งตอบแทนแก่ผู้มีสิทธิเลือกตั้ง เพื่อให้ลงคะแนนหรืองดเว้นการลงคะแนนแก่ผู้สมัครรับเลือกตั้งคนใดหรือพรรคการเมืองใดในเขตเลือกตั้งนั้น การซื้อเสียงมีหลายวิธีแตกต่างกันไปตามภูมิภาคและท้องถิ่น ซึ่งมีทั้งการซื้อผู้สมัครรับเลือกตั้งหรือซื้อคู่แข่ง โดยการที่ผู้สมัครเสนอเงื่อนไขต่างๆ แก่คู่แข่งขันเพื่อไม่ให้ลงสมัครแข่งขันกับตน การซื้อบุคคลที่มีอิทธิพลหรือมีความนิยมในหมู่ชาวบ้านรวมทั้งครู กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน พระ หรือผู้นำชุมชน เพื่อดำเนินการช่วยเหลือให้ผู้มีสิทธิเลือกตั้งในท้องถิ่นนั้นๆ ลงคะแนนเสียงให้แก่ตน ...”  (นิยามอ้างจากสถาบันพระปกเกล้า) ที่จริงคำนี้ปัจจุบันให้เหมารวมทั้งหมด ตามความในมาตรา 73 มาตรา 75 แห่ง พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร พ.ศ.2561 เบื้องต้นได้แก่

มาตรา 73 ห้ามมิให้ผู้สมัครหรือผู้ใดกระทำการอย่างหนึ่งอย่างใดเพื่อจูงใจให้ผู้มีสิทธิเลือกตั้งลงคะแนนให้แก่ตนเองหรือผู้สมัครอื่น ให้งดเว้นการลงคะแนนให้แก่ผู้สมัคร หรือการชักชวนให้ไปลงคะแนนไม่เลือกผู้ใดเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ด้วยวิธีการดังต่อไปนี้

(1) จัดทำ ให้ เสนอให้ สัญญาว่าจะให้ หรือจัดเตรียมเพื่อจะให้ ทรัพย์สิน หรือผลประโยชน์อื่นใดอันอาจคำนวณเป็นเงินได้แก่ผู้ใด

(2) ให้ เสนอให้ หรือสัญญาว่าจะให้เงิน ทรัพย์สิน หรือประโยชน์อื่นใดไม่ว่าจะโดยตรงหรือโดยอ้อมแก่ชุมชน สมาคม มูลนิธิ วัด สถานศึกษา สถานสงเคราะห์หรือสถาบันอื่นใด

(3) ทำการโฆษณาหาเสียงด้วยการจัดให้มีมหรสพหรือการรื่นเริงต่างๆ

(4) เลี้ยงหรือรับจะจัดเลี้ยงผู้ใด

(5) หลอกลวง บังคับ ขู่เข็ญ ใช้อิทธิพลคุกคาม ใส่ร้ายด้วยความเท็จ หรือจูงใจให้เข้าใจผิดในคะแนนนิยมของผู้สมัครหรือพรรคการเมือง

ความใน (3) มิให้ใช้บังคับแก่ผู้สมัครที่ใช้ความรู้ความสามารถทางศิลปะของตน หาเสียงให้แก่ตนเองโดยไม่ใช้อุปกรณ์ในการแสดงมหรสพ

ความผิดตาม (1) หรือ (2) ให้ถือว่าเป็นความผิดมูลฐานตามกฎหมายว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน และให้คณะกรรมการมีอำนาจส่งเรื่องให้สำนักงานป้องกันและปราบปรามการฟอกเงินดำเนินการตามหน้าที่และอำนาจได้

มาตรา 75 ห้ามมิให้ผู้ใดหรือพรรคการเมืองใดเรียกหรือรับทรัพย์สิน หรือผลประโยชน์อื่นใด เพื่อลงสมัครหรือส่งผู้สมัคร หรือไม่ลงสมัครหรือไม่ส่งผู้สมัครอันก่อให้เกิดประโยชน์แก่ผู้สมัครอื่นหรือพรรคการเมืองอื่นในการเลือกตั้ง และทำให้การเลือกตั้งมิได้เป็นไปโดยสุจริตหรือเที่ยงธรรม

การซื้อเสียงไม่ใช่เพียงการใช้เงินทุ่มฟาดก็ชนะ “หัวคะแนน” ก็สำคัญ

ภาษาชาวบ้านเรียกการยิงกระสุน หากกระสุน (เงินที่แจก) เยอะก็จะชนะ เพราะแนวโน้มคนที่รับเงินก็จะลงคะแนนให้แก่ผู้จ่ายเงินสูง พอหลังเลือกตั้งก็จะมีการเช็กข่าวถามไถ่กันว่า ฝ่ายใคร ใครบ้างที่จ่ายเงิน และจ่ายกันหัวละเท่าใด ซึ่งมีการจ่ายแบบเกทับกัน หรือจ่ายกันหลายรอบ โดยปกติจะจ่ายกันตอนกลางคืนก่อนการเลือกตั้ง ที่เรียกกันว่า “คืนหมาหอน” เป็นต้น หากพบว่าใครจ่ายเงินมาก แล้วชนะการเลือกตั้ง (ไม่สอบตก) คนก็จะเรียกขานคนที่จ่ายเงินรายนั้นว่า “เพราะยิง (กระสุน) เยอะ จึงทำให้สอบได้” มองว่าผลการเลือกตั้งที่ได้เพราะอิทธิพลของเงิน เป็นการชี้ถึงคุณภาพของคน เป็นเรื่องที่ไม่พึงปรารถนาของระบอบประชาธิปไตย

ในการศึกษาวิจัยประสบการณ์การซื้อเสียงตั้งแต่การเลือกตั้งปี 2544-2554 บอกว่า "เงินไม่ใช่ปัจจัยที่เพียงพออีกต่อไปแล้ว" ในการชนะคู่แข่งเลือกตั้งในพื้นที่ การเลือกตั้งของชาวบ้าน คือ ความหวังในการมี "น้ำไหล ไฟสว่าง ทางดี" มันมีวิธีการหาเสียงที่เปลี่ยนแปลงไปจากเดิมที่ไม่ใช่จากการ “ซื้อเสียง” ด้วยเงินสดๆ เพียงอย่างเดียว หรือสมัยก่อนๆ มีการแจกสิ่งของ แจกข้าวสาร ซึ่ง “หัวคะแนน” ในระยะหลังๆ นอกจากปกติคือ "คนที่ไว้ใจได้" วงญาติพี่น้อง มิตรสหาย ก็มาใช้บุคคลอื่นที่มีเทคนิคประชิดถึงตัวและได้ผลมากคือ การผูกใจกับกลุ่ม อสม.(อาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน) ที่มีอยู่ตามหมู่บ้านชุมชนทุกหย่อมหญ้า เป็นต้น สอดคล้องกับทัศนะสายตาของคนรุ่นใหม่และคนหัวก้าวหน้าเสรีนิยม (Progressive/Liberal) ด้วยกระแสโลกโซเชียลออนไลน์ คนกลุ่มใหญ่ที่มีสิทธิเลือกตั้งปี 2566 ส่วนใหญ่คือ คน Gen X (คนรุ่นอายุ 43-58 ปี) และ คน Gen Y (คนรุ่นอายุ 27-42 ปี) ที่มีจำนวนรวมกันถึง 59.6 % ซึ่งเกินกว่าครึ่งของผู้มีสิทธิเลือกตั้ง หรือมีจำนวนรวม 31.3 ล้านคน จากยอดผู้มีสิทธิเลือกตั้งทั้งสิ้น 52.5 ล้านคน ที่อาจมีผลต่อกลุ่มนักการเมืองบ้านใหญ่ และการเมืองแบบเดิมๆ หรือการเมืองแบบอนุรักษ์ก็ได้ ส่วน “พฤติกรรมการซื้อเสียง” ดังกล่าวในปัจจุบันไม่มีผล เพราะการรับเงินแล้วไม่อาจโน้มน้าวจูงใจให้ผู้ที่ได้รับเงินต้องลงคะแนนให้แต่อย่างใด พฤติกรรมของผู้เลือกตั้งเปลี่ยนแปลงไป โดยเฉพาะในเขตเมืองไม่สามารถซื้อตรงๆ กับคนในเขตเมืองที่เป็นคนชั้นกลาง หรือเศรษฐีได้ แต่ในชนบทยังพอหวังผลได้จากปริมาณจำนวนเม็ดเงินที่จ่ายไป แม้จะผ่านหัวคะแนนก็ตาม เพราะกลุ่มเป้าหมายที่จะใช้ซื้อเสียงคือ คนชาวบ้านทั่วๆ ไปที่มีสถานะการเงินไม่ดี หรือไม่มีความรู้สึกว่าเป็นเงินสินบนเงินซื้อเสียง คิดเพียงว่ามีคนที่จะเป็น ส.ส.มาแจกให้ เหมือนทุกครั้งที่ผ่านๆ มา หรือ ตามสโลแกนใหม่ที่ว่า "รับเงิน(ห)มา กาอีกเบอร์(พรรค)”

ที่จริง “หัวคะแนน” ตัวสำคัญที่ไม่ควรมองข้ามก็คือ “ข้าราชการหรือเจ้าหน้าที่ของฝ่ายอำนาจรัฐ” ในทุกกลุ่มทั้งที่เป็นข้าราชการ พนักงานราชการ และลูกจ้าง แต่ “ข้าราชการต้องวางตัวเป็นกลางทางการเมือง” ฝ่ายราชการเจ้าหน้าที่ฝ่ายรัฐจึงถือเป็นธรรมเนียมปฏิบัติในการวางตัวเป็นกลางในการเลือกตั้ง มีบทบัญญัติให้ห้ามช่วยหาเสียง ห้ามช่วยเหลือ ห้ามให้คุณให้โทษ ซึ่งมีบัญญัติไว้ทั้งในกฎหมาย มติคณะรัฐมนตรี และวินัย รวมทั้งในจริยธรรมข้อควรปฏิบัติของบุคคลที่มีอำนาจฝ่ายรัฐทุกฝ่าย การปฏิบัติของเจ้าหน้าที่ดังกล่าวหากผิดไป ก็จะต้องถูกลงโทษได้ 

อย่างไรก็ตามในส่วนของสมาชิกสภาท้องถิ่น และผู้บริหารท้องถิ่น แม้ว่าจะเป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐต้องไม่เข้าหลักเกณฑ์มาตรา 78 วรรคหนึ่ง แห่ง พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส. พ.ศ.2561 กกต.ได้ซักซ้อมตอบข้อหารือของกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น ให้สามารถช่วยหาเสียง ส.ส.และพรรคการเมืองได้ แต่ต้องนอกเวลาราชการ เพราะถือว่าเป็นฝ่ายการเมืองที่มาจากการเลือกตั้ง เป็นการลดผ่อนคลายในเส้นสายทางการเมือง ที่รู้ทั้งรู้ว่าบรรดานักการเมืองท้องถิ่นเหล่านี้ต่างก็มีสังกัดทางการเมืองระดับชาติเช่นกัน

ปัจจัยสำคัญที่ผู้ใช้สิทธิเลือกตั้งลงคะแนนให้ผู้สมัครหรือพรรคการเมือง

ในบริบทของสังคมไทยเป็นเรื่องยากที่จะวิเคราะห์ปัจจัยที่มีผลจูงใจในการลงคะแนนเสียง อย่างไรก็ตามจากประสบการณ์ที่ได้พบเห็นทั่วไป นับตั้งแต่การเลือกตั้งในระดับท้องถิ่น และ การเลือกตั้งระดับชาติที่ผ่านมา พอจะรวบรวมปัจจัยต่างๆ ได้แก่ (1) ความสัมพันธ์ตัวบุคคล พรรค (2) ความเชื่อถือรักศรัทธา (3) การจ่ายอามิส การโน้มน้าว หลอกล่อ (4) นโยบายที่ตรงกับประโยชน์ของตนเอง (5) ความคาดหวังต่อประโยชน์ส่วนรวม (6) เลือกเพราะไม่มีตัวเลือกอื่นที่ดีกว่า (7) ความผิดหลงจึงเลือก (8) ความคาดหวังให้ไปทำหน้าที่ติดตามควบคุมสภา ฯลฯ

โดยมีปัจจัยส่วนบุคคลปะกอบที่เป็นเรื่องของจิตใจ ความเกรงใจ ความเชื่อใจ ความไว้ใจ ฯลฯ ถือเป็นพฤติกรรมส่วนตัวตั้งแต่ระดับครอบครัว ระดับชุมชน ได้แก่ เห็นแก่หัวคะแนน เห็นแก่ญาติ เห็นแก่เพื่อนพวกพ้อง เห็นแก่เป็นครูเพราะเป็นศิษย์ เป็นนายจ้าง เป็นผู้เคยมีบุญคุณ

ส่วนความคาดหวังด้วยความจริงใจของตนเอง จะมีน้อยกว่า เช่น อยากให้ไปเป็นฝ่ายรัฐบาล อยากให้ไปเป็นฝ่ายค้าน อยากให้เป็นตัวแทนกลุ่มผลประโยชน์ หรือ เพื่อหวังพึ่งพิงอำนาจนอกระบบ

ปัญหาของผู้สมัคร ส.ส.ก็คือ (1) การหาทุน (2) การหาแสง (หาความมีชื่อเสียงในตัวตน) เพราะเมื่อได้ครบทั้งสองสิ่งแล้ว จึงค่อยหาเสียงจะได้สบายตัว มีความได้เปรียบเหนือผู้สมัครคนอื่นๆ การเป็น สส.นอกจากวิ่งหาแสง ดึงแสงเข้าหาตัวแล้ว ยังต้องรักษาแสงตนเองให้มั่นคง

“คนหิวแสง อาการหิวแสง” ของคนที่โหยกระหายหาชื่อเสียง อยากดัง จนสามารถทำอะไรก็ได้ที่คนอื่นไม่คาดคิดได้ เป็นพฤติกรรมการหาแสง หาจุดสนใจ อยากได้รับความสนใจ อยากเป็นที่รู้จัก อยากมีชื่อเสียง การโหยหาแสงก็เพื่อให้ตัวเองเป็นที่จับตามองของคนทั่วไป เปรียบให้เข้าใจง่ายก็คือ การพยายามเป็นจุดสนใจ ช่องทางหนึ่งในปัจจุบันก็คือ คนเหล่านี้มักผ่านการแสดงความคิดเห็น ผ่านโซเชียลมีเดียต่างๆ แม้ว่าสถานการณ์บ้านเมืองยุคโซเชียล มันไม่เรียบง่ายแบบเดิมๆ แล้ว เพราะโลกมัน Disrupt โลกมันเปลี่ยนไปแล้ว

ความเชื่อมโยงทางสังคม ทางทุน ทางผลประโยชน์ร่วม อื่นๆ ก็สำคัญอยู่ไม่น้อยเช่นกัน การสร้างคอนเน็กชั่น ก็ต้องหมั่นสำรวจการตลาด และหาแสงใส่ตัวด้วย เทคนิคข้อมูลในคอมพิวเตอร์หลายเรื่องนำมาช่วยประมวลผลได้ แน่นอนว่า AI ต้องมีบทบาทแน่นอน ใครเข้าถึงเทคโนโลยีนี้ได้ ย่อมได้เปรียบทางการเมือง

คำเรียกฉายาจึงมีแตกต่างกันเป็น ส.ส.งานบุญ ส.ส.งานประเพณี ส.ส.งานกีฬาชาวบ้าน ซึ่งต้องมีรอบด้าน คือในหลายๆ ด้าน ส่วนทุนต้องหามาเพิ่มเติมเอาไว้ อย่างน้อยเป็นทุนสำรอง ในความแปรปรวนในพรรค ในมุ้งเล็กในพรรค ก็เปลี่ยนแปลงบ่อย การแย่งชิงตัวกันของพรรค ที่เรียก “พลังดูด” การซื้อตัวยังเป็นสิ่งสำคัญ บ่อย อย่างน้อยที่สุดเพื่อการสรรหาตัวผู้สมัครลง ส.ส.เขตให้ครบทุกเขตรวม 400 เขตทั่วประเทศ อย่างน้อยที่สุดเพื่อการดึงคะแนน “ระบบบัญชีรายชื่อ” นั่นเอง

สุดท้ายมาดูอนาคตประเทศไทย พบว่า ข้อมูลผู้มีสิทธิเลือกตั้ง (ณ วันที่ 31 ธันวาคม 2565) ผู้มีสัญชาติไทย จำนวน 64,867,433 คน พบว่ามีคน Gen Z ผู้ที่เกิดปี 2540-2555 หรือมีช่วงอายุ 11-26 ปี นับเฉพาะผู้ที่มีสิทธิ์เลือกตั้ง 18-26 ปี จำนวน 7,670,354 คน Gen Baby Boomer ผู้ที่เกิดปี 2489-2507 หรือมีช่วงอายุ 59-77 ปี จำนวน 11,153,133 คน ซึ่งมีเสียงที่ต่างกันถึง 3.5 ล้านคน คาดว่าพลังเสียงของคน Gen Z ยังไม่มีพลังเพียงพอ เพราะมีจำนวนที่น้อยกว่าคน Gen Baby Boomer

นอกจากนี้ในการเลือกตั้งท้องถิ่นที่ผ่านมา มีการวิเคราะห์ว่าท้องถิ่นที่ใกล้ชิดประชาชนที่สุด แต่กลับได้รับความสนใจน้อยที่สุดคือ องค์การบริหารส่วนตำบล (อบต.) ในการเลือกตั้งปี 2564 แต่การเลือกตั้งกลับ “เงียบเหงาที่สุด” ที่พอคึกคักบ้างก็คือ การเลือกตั้งองค์การบริหารส่วนจังหวัด (อบจ.) เพราะองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) ถูกรัฐราชการส่วนกลางและภูมิภาคกดทับ และใช้การเลือกตั้งสถาปนาระบอบ "ภูมิภาคอำนาจนิยม" และระบอบ “รัฐราชการรวมศูนย์” จากราชการส่วนกลาง นี่คือปัญหาของประชาธิปไตยไทย มองว่าพัฒนาการเมืองไทยคงมิง่ายนักที่ปัจจุบันผูกติดการพัฒนา และการปฏิรูปประเทศอยู่กับ “ยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี” (พ.ศ.2561-2580) ที่ไม่สามารถแก้ไขเปลี่ยนแปลงได้โดยง่าย นี่คือกระบวนการ “กบเลือกนาย” ของประเทศไทย