วันที่ 30 มี.ค.2566 ที่ศาลาว่าการ กทม.ดินแดง นายขจิต ชัชวานิชย์ ปลัดกรุงเทพมหานคร เปิดเผยถึงกรณี บริษัทแสนสิริ จำกัด (มหาชน) สร้างสะพานข้ามคลองพระโขนง หรือสะพานแสนสำราญ บนพื้นที่โครงการ T77 บริเวณซอยสุขุมวิท 77 เพื่อออกสู่ถนนปรีดีพนมยงค์ 2 เขตวัฒนา ภายหลังสร้างเสร็จ ได้ตั้งตู้เก็บค่าผ่านทาง ซึ่งไม่เป็นไปตามเงื่อนไขที่กำหนดไว้ในรายงานวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม หรือ EIA ว่า จากการตรวจสอบข้อเท็จจริง ตนได้ทำหนังสือไปถามสำนักงานนโยบายและแผนสิ่งแวดล้อม (สผ.) ว่าก่อนสร้างอาคารและถนนที่เป็นข้อพิพาท บริษัทแสนสิริ จำกัด (มหาชน) ได้กำหนดให้มีการเรียกเก็บค่าผ่านทางก่อนสร้างหรือไม่ ได้รับคำตอบว่า ในกำหนดไม่ได้ระบุให้มีการจัดเก็บค่าผ่านสะพานและถนนภาวะจำยอมแต่อย่างใด และกำหนดมาตรการจัดทำป้ายเพื่อแสดงให้บุคคลภายนอกพื้นที่โครงการได้ทราบว่า ถนนภาวะจำยอมดังกล่าวมีสภาพใช้ประโยชน์เป็นถนนสาธารณะ เปิดให้บุคคลทั่วไปสามารถใช้สัญจรได้

 

นายขจิต กล่าวว่า คำตอบดังกล่าวเป็นข้ออ้างก่อนจะสร้างอาคาร 2 หลัง และสร้างถนน หลังจากนี้สำนักการโยธา จะใช้หนังสือตอบกลับดังกล่าวส่งไปยังสำนักงานเขตในพื้นที่พิพาท เพื่อให้สำนักงานเขตดำเนินการตามอำนาจหน้าที่ต่อไป ในการออกคำสั่งทางปกครองว่าถนนดังกล่าวเป็นสาธารณะต้องเปิดให้ใช้สอยได้ร่วมกัน อย่างไรก็ตามสามารถคัดค้านคำสั่งได้ ขึ้นอยู่กับดุลพินิจของศาลปกครอง ว่าคำสั่งของ กทม.ชอบธรรมหรือไม่ แต่เบื้องต้น กทม.จะออกหนังสือให้รื้อถอนตู้เก็บเงินค่าผ่านทาง และยกเลิกการเก็บเงินทั้งหมด หากศาลปกครองเห็นชอบแล้วไม่ยอมรื้อถอน กทม.จะดำเนินการทางอาญา ข้อหาขัดคำสั่งเจ้าพนักงาน ซึ่งเป็นไปตามขั้นตอนทางกฎหมาย ส่วนเรื่องนำเงินที่มีการเก็บได้ทั้งหมดมาเป็นเงินของกทม.เพื่อนำไปใช้ประโยชน์นั้น ยังสรุปไม่ได้ว่าเงินดังกล่าวเป็นเงินของใคร ต้องผ่านการสอบสวนไปทีละขั้นตอน รวมถึงมีพยานหลักฐานที่ชัดเจนจึงจะดำเนินการได้ อย่างไรก็ตาม ตนมองว่าควรดำเนินการไปทีละขั้นตอน เพราะมีรายละเอียดมาก ไม่ควรรีบสรุป เพื่อความถูกต้องและเป็นธรรม

 

ด้านนางสาวสุชิรา ศิลานนท์ ผู้อำนวยการเขตวัฒนา กทม.กล่าวว่า กองควบคุมอาคาร สำนักการโยธา ได้อนุญาตให้ก่อสร้างสะพานข้ามคลองพระโขนง ตามใบอนุญาตเมื่อวันที่ 2 ส.ค.54 ในที่ดินของนายชัยจำนงค์ บุญฉัตร นางสาวกาญจนา บุญฉัตร และบริษัท แสนสิริ จำกัด (มหาชน) โดยเงื่อนไขท้ายใบอนุญาต ผู้ได้รับอนุญาตต้องยินยอมยกสะพานที่ก่อสร้างให้เป็นสาธารณประโยชน์และมีหน้าที่ดูแลและบำรุงรักษาสะพานดังกล่าวให้มีความมั่นคงแข็งแรงและสามารถใช้งานได้ตลอดเวลา ต่อมาสำนักงานเขตฯ ได้ตรวจสอบพบว่า บริษัท แสนสิริ จำกัด (มหาชน) ได้สร้างสิ่งรุกล้ำที่สาธารณะ ประกอบด้วย (1) ป้ายชื่อสะพาน 2 จุด (2) ติดตั้งตราสัญลักษณ์และชื่อสะพานตรงกลางสะพานทั้งสองฝั่ง (3) ติดตั้งตราสัญลักษณ์ตรงราวรั้วสะพานทั้งสองฝั่ง (4) ติดตั้งป้ายโฆษณาตรงเสาไฟประดับทั้งสองฝั่ง และดำเนินการก่อสร้างอาคารโดยไม่ได้รับอนุญาต โดยก่อสร้างป้อมยามและโครงเหล็กบริเวณสะพานข้ามคลองพระโขนง เชื่อมระหว่างทางส่วนบุคคลจากซอยสุขุมวิท 77 (ข้ามคลองพระโขนง) และซอยปรีดีพนมยงค์ 2 แขวงพระโขนงเหนือ เขตวัฒนา โดยไม่ได้รับอนุญาต สำนักงานเขตฯ จึงมีหนังสือแจ้งให้บริษัท แสนสิริ จำกัด (มหาชน) รื้อถอนอาคารและสิ่งรุกล้ำที่สาธารณะดังกล่าวเมื่อวันที่ 29 พ.ค.63 ซึ่งบริษัท แสนสิริ จำกัด (มหาชน) ได้รื้อถอนสิ่งรุกล้ำที่สาธารณะ 4 รายการ และอาคารป้อมยามที่ไม่ได้รับอนุญาตออกเรียบร้อยแล้วเมื่อวันที่ 17 ส.ค.63