ปากกาขนนก / สกุล บุณยทัต

[email protected]

“ครอบครัวทุกๆครอบครัวล้วนมีโชคชะตาเป็นเครื่องกำกับความเป็นชีวิตอย่างที่ไม่อาจจะคาดหมายถึงภาพปรากฏหรือผลแห่งการเกิดมามีชีวิตอยู่ร่วมกันล่วงหน้าได้... เหตุนี้ความทุกข์ ความสุข ความอับจนและขมขื่นใดใดก็ตามที่เกิดขึ้นกับครอบครัวแต่ละครอบครัวจึงเป็นบทแสดงแห่งสิ่งที่ไม่อาจคาดหมาย... มันเป็นวิถีที่ต้องยอมรับอย่างไม่มีทางหลีกเลี่ยงหากโชคชะตาเล่นตลกและสร้างสิ่งที่ไม่งดงามมอบให้เป็นภาระอันขมขื่นแก่ครอบครัวนั้นๆ... นี่คือบทพิสูจน์อันแท้จริงที่จะโยงใยไปถึงรากฐานของความรัก แก่นแท้แห่งการอยู่ร่วมกันอย่างเข้าใจและเข้มแข็งโดยไม่อาจปฏิเสธไปเป็นอื่นได้”

บทเริ่มต้นแห่งสาระดังกล่าวนี้ถูกตีความและขยายความมาจากหนังสือที่เป็นข้อคิดและประสบการณ์อันหนักหน่วงแห่งชีวิตของนักเขียนรางวัลโนเบลเมื่อปี ค.ศ.1994... “เคนซาบุโร โอเอะ”... นักเขียนฝีมือเยี่ยมชาวญี่ปุ่นที่มีลูกชายคนโตเป็นเด็กพิการ... “บ้านสมานใจ” (A Healing Family) ถูกแปลและเรียบเรียงโดย “นุชจรีย์ ชลคุป” จากฉบับภาษาอังกฤษของ “Stephen Snyder” ได้อย่างลึกซึ้งและเปี่ยมไปด้วยความรู้สึกของความเห็นใจในความหมายของการต่อสู้และดำรงอยู่ด้วยพลังแรงแห่งความรักอันยิ่งใหญ่... ที่เคนซาบุโร โอเอะ ได้สื่อผ่านบทบันทึกของเขาที่ร่วมกับภรรยาเลี้ยงดูลูกคนแรก... อันเป็นลูกชายที่เกิดมาเป็นคนพิการ... เขาชื่อ “ฮิคาริ”... เกิดมาพร้อมกับความพิการอันเนื่องมาจากความผิดปกติทางสมอง เมื่อปีค.ศ.1963 โดยก้อนสมองของเขาเติบโตจนดูเหมือนว่าทารกน้อยผู้นี้มีสองหัว... อุบัติการณ์แห่งชีวิตอันน่าโศกเศร้าดังกล่าวได้รับการชี้แจงและบอกกล่าวต่อพ่อและแม่จากหมอในเบื้องต้นว่า... เขาอาจจะเป็นได้แค่ “มนุษย์ผัก”ซึ่งจะต้องได้รับการดูแลเอาใจใส่อย่างต่อเนื่อง... เหตุนี้เองที่พ่อและแม่... อันหมายถึงโอเอะและภรรยาได้ตัดสินใจเลี้ยงดูบุตรชายผู้พิการคนนี้อย่างดี... แต่จิตวิญญาณที่งดงาม ไม่อับอาย ไม่ทิ้งขว้างของความเป็นพ่อและแม่ ได้ทุ่มเทความรักและความเสียสละทั้งหมดทั้งมวลให้แก่ “ฮิคาริ”... เหมือนดั่งว่าเขาเป็นสิ่งที่สวยงามอันยิ่งใหญ่แห่งหัวใจของเขาทั้งสอง... พ่อและแม่... ที่ไม่ถือเอาโชคชะตาตรงส่วนนี้มาเป็นบ่อเกิดของความทุกข์เศร้าและยอมจำนน... แม้ว่าเมื่อฮิคาริเริ่มเติบโต... เขาจะมีสภาพเป็นเพียงเด็ก “ออทิสติก” มองเห็นไม่ชัดและมีอาการลมชักเป็นคราวๆ... แต่อย่างไรเสียฮิคาริก็ยังนับว่าโชคดี... ก้อนสมองที่ใหญ่โตผิดปกติของเขาได้รับการผ่าตัดเพื่อแก้ไขความปกตินี้โดยแพทย์ผู้ชำนาญการและมีจิตเมตตาซึ่งได้ดูแลเขาต่อมาอีกหลายปีจนเติบโตเป็นผู้ใหญ่... “คุณหมอ โนบุโอะ โมริยาสึ” จึงเป็นเหมือนญาติสนิทของครอบครัว เป็นผู้ให้ชีวิตใหม่แก่ “ฮิคาริ”... และเป็นบุคคลที่ฮิคาริฝังจำด้วยความรัก... เขาเป็นเหมือนดั่งเป็นผู้ “สมานใจ” สมานรอยแผลทางใจให้แก่ความเป็นครอบครัวของโอเอะ... อย่างน้อย... ฮิคาริก็ยังมีชีวิตอยู่... เติบโตและพัฒนาทางด้านสติปัญญา แม้จะช้ากว่าเด็กอื่น แต่เขาก็มีความรู้สึกไวต่อเสียงดนตรีตั้งแต่ยังแบเบาะ กระทั่งอายุยังไม่ถึงสามขวบดี ฮิคาริก็จำได้แล้วว่าเพลงไหนเป็นของ “เบโธเฟน” หรือเพลงไหนเป็นของ “โชแปง”... นอกจากนี้ฮิคาริยังมีการตอบสนองเป็นพิเศษต่อเสียงนกร้อง... เหล่านี้นับเป็นของขวัญจากพระเจ้า... เป็นพรสวรรค์ที่ฮิคาริได้รับติดตัวมาครั้นเมื่ออายุได้ 5 ขวบ... ท่ามกลางป่าทึบที่ห้อมล้อมกระท่อมฤดูร้อนของครอบครัว จู่ๆเขาก็เลียนเสียงผู้บรรยายในแผ่นเสียงที่รวมเสียงนกร้องเป็นร้อยๆชนิดที่โอเอะได้ซื้อมาสนองการตอบรับในการได้ยินและรับฟังของลูก... “นั่นคือนกอัญชันดอกสีไพล” ฮิคาริเอ่ยด้วยน้ำเสียงเคร่งขรึมแบบผู้บรรยาย ซึ่งแม้มันจะเป็นประโยคเพียงสั้นๆ แต่นั่นก็เป็นครั้งแรกจริงๆที่เขาได้ใช้ภาษาซึ่งฟังรู้เรื่องสื่อสารกับพ่อและแม่... กับครอบครัวของเขา... “เป็นความสุขใจครั้งแรกๆในความหวังที่แทรกตัวออกมาจากความคับแค้นที่จมลึกอยู่ภายใน”... ในความหมายของความเป็นครอบครัว... มันอาจจะหมายถึงบ้าน... หมายถึงการอยู่ร่วมกัน... หมายถึงชีวิตของคนทั้งโลก... หรือหมายถึงสังคมของทุกคนที่มีโอกาสเกิดมามีชีวิตอยู่บนโลกนี้... ความหมายของความเป็นครอบครัวนั้นสมควรจะมองออกไปในด้านกว้าง... มองออกไปสู่ทุกผู้ทุกคนทั้งที่สมบูรณ์แบบในชีวิตหรือขาดพร่องในความเป็นชีวิตที่อิ่มเต็มและงดงาม...

โอเอะ... แสดงความเห็นด้วยกับคำกล่าวที่มีผู้เน้นย้ำถึงสัจธรรมเชิงคุณธรรมที่ว่า “สังคมใดละเลยคนพิการ สังคมนั้นย่อมเป็นสังคมที่อ่อนแอและเปราะบาง” ซึ่งโอเอะได้พยายามอธิบายเพิ่มเติมผ่านนิยามของคำว่า “ยูโจ” อันมีความหมายที่เป็นนัยอันสูงส่งต่อสภาพของความเป็นมนุษย์และการอยู่ร่วมกันด้วยความเกื้อกูลว่า “ความอบอุ่นแห่งความเป็นมนุษย์อันอ่อนโยน” อันถือเป็นสิ่งที่โอเอะต้องการให้ครอบครัวทุกๆครอบครัวในโลกนี้ได้มองเห็นและประจักษ์แจ้ง... เขาไม่ได้บอกออกมาอย่างตรงไปตรงมาว่าความหมายของคำว่าครอบครัวควรเป็นดั่งนี้ แต่มันเหมือนการส่งสัญญาณให้โลกได้ขบคิดร่วมกันว่า... ความอบอุ่น ความอ่อนโยนในวิถีแห่งความเป็นมนุษย์นั้นสามารถสร้างมิติแห่งการเยียวยาและสมานหัวใจของมนุษย์ผู้ต้องเผชิญหน้ากับความเจ็บปวดได้อย่างดิ่งลึกสักเพียงใด... พอฮิคาริเริ่มเติบโต เขาก็ได้เข้าเรียนชั้นพิเศษในโรงเรียนประถม จนต่อมาได้ย้ายไปเรียนที่โรงเรียนสอนคนพิการเมื่ออยู่ประถมปีที่สี่ ความสนใจของเขาต่อเสียงนกก็ได้เริ่มลดจาง เขาหันมาให้ความสนใจและเน้นไปที่การฟังเสียงดนตรีแทน ทั้งโมสาร์ต และบาค ตลอดจนคนโปรดยุคแรกเริ่มของเขาซึ่งก็คือเบโธเฟน และ โชแปง... บทเพลงของ “คีตกร” ผู้ดังก้องโลกเหล่านี้กลายมาเป็นเพื่อนสนิทของเขาโดยตลอด... แต่ ณ ขณะนั้นเขายังไม่มีโอกาสแต่งเพลงด้วยตนเอง กระทั่งได้เริ่มเรียนเปียโนกับครู “คูมิโกะ ทามูระ” ซึ่งความพิการของเขาก็เป็นอุปสรรคต่อการใช้ความสามารถทางกายภาพ... ครูจึงไม่ได้เคี่ยวเข็ญให้เขาใช้นิ้วมากนัก แต่กลับเพียรพยายามหาวิธีการต่างๆเพื่อช่วยให้ฮิคาริเรียนรู้วิธีจำคอร์ดและแต่งทำนองเป็น... ที่สุดวันที่น่าจดจำของพ่อและแม่ก็มาถึง... เมื่อทั้งโอเอะและครอบครัวได้เห็นแผ่นกระดาษซึ่งเต็มไปด้วยสิ่งที่ดูคล้ายถั่วงอก แต่นั่นคือเพลงแรกที่ “ฮิคาริ” เด็กพิการ... ลูกชายพิการของครอบครัวได้แต่งขึ้น... โอเอะได้แสดงทรรศนะต่อความสามารถของลูกชายตรงนี้ว่า “ผมรู้สึกว่าส่วนที่ดีที่สุดในความเป็นมนุษย์ของเขาคือการได้พบการแสดงออกอย่างลื่นไหลและมีชีวิตชีวา” ครั้นต่อมาเมื่อโอเอะได้ยินบทเพลงที่ฮิคาริแต่งขึ้นซึ่งถูกบรรเลงโดยครูผู้สอนเปียโนและนักดนตรีคนอื่นๆที่กรุณาเล่นให้ โอเอะ... ก็ได้ให้ข้อสรุปต่อความเป็นชีวิตของฮิคาริอย่างน่ารับฟังว่า... “ผมรู้สึกทึ่งในความรุ่มรวยแห่งชีวิตด้านในของเขา... นี่เป็นชีวิตที่หากไม่ได้ดนตรีก็คงจะถูกบดบัง... คงยังเป็นความลับโดยสิ้นเชิง สำหรับผม ภรรยาของผม ตลอดจนน้องชายและน้องสาวของเขา... ผมไม่ใช่คนศรัทธาในลัทธิความเชื่อใดใด แต่ผมก็ได้พบว่าเป็นเรื่องยากที่จะปฏิเสธว่ามีบางอย่าง บางอย่างที่อาจเรียกว่าเป็นความกรุณาอยู่ในบทเพลงนี้” นั่นหมายถึงแม้ฮิคาริจะพิการทางสมองและร่างกาย แต่หัวใจของเขากลับสื่อสารอารมณ์ความรู้สึกออกมาให้คนปกติภายในครอบครัวอย่างพ่อ แม่ และน้องได้รับรู้และซึมซับในส่วนลึกแห่งจิตวิญญาณที่ถูกส่งออกมาจากแรงดลใจที่ก่อเกิดขึ้นอย่างเปี่ยมพลังอยู่ภายใน... โอเอะเหมือนจะค้นพบพลังดังกล่าวนี้... หลังจากที่เขาได้ทุ่มเทความรักความเมตตาแห่งจิตอันกรุณาร่วมกับภรรยาแก่ลูกชายผู้พิการคนนี้ เยียวยารักษาเขา... ปลูกสร้างรากฐานแห่งความเป็นส่วนหนึ่งของครอบครัวแก่เขาอย่างอดทนและไม่ยอมแพ้ ที่สุดฮิคาริก็ได้แสดงการสื่อสารพรสวรรค์ด้านในของเขาผ่านเสียงดนตรีได้อย่างชัดเจน... มีความหมายและงดงามต่อการรับรู้ จนผู้ที่สัมผัสกับ “งานรังสรรค์”ของเขาต้องหลงลืมความพิกลพิการภายนอกที่มีอยู่ไปเสียสิ้น... เมื่อคุณหมอ “โนบุโอะ โมริยาสึ” เสียชีวิตลง... บทเพลงชื่อ “Requiem for M” ก็ได้รับการแต่งขึ้นจากฮิคาริ... มันเป็นบทเพลงที่เต็มไปด้วยความปวดร้าวและเศร้าโศกที่เขามอบให้กับผู้ที่ช่วยเหลือและเยียวยาชีวิตจนเติบโตขึ้นมา... เป็นบุคคลแห่งความเคารพนับถือและมีบุญคุณต่อทั้งตัวเขาและครอบครัว... บทเพลงนี้ทำให้ทุกคนในครอบครัวถึงกับช็อก... ซึ่งโอเอะก็ได้แสดงถึงความเข้าใจตรงนี้ว่า “ดนตรีเป็นหนทางเดียวที่ทำให้พวกเราเข้าใจอารมณ์ความรู้สึกของฮิคาริอย่างเต็มที่”

ฮิคาริมีน้องชายและน้องสาวอย่างละหนึ่งคน... ทั้งคู่เป็นคนปกติและพี่น้องทั้งสามก็รักใคร่กลมเกลียวกันเป็นอย่างดีนับแต่เด็กๆ จนพวกเขาเติบโตมาเป็นผู้ใหญ่ ฮิคาริไม่สามารถที่จะวิ่งเล่นกับน้องๆได้อีกนับแต่อายุได้สิบสาม พัฒนาการด้านร่างกายของเขามาถึงจุดของการแก่ตัวลงนับแต่นั้น... ทุกสิ่งแห่งความเป็นวิถีชีวิตก็ต้องดำเนินไป... และสำหรับเขามันยืนหยัดอยู่ได้ด้วยหัวใจของตนเอง และความรักความใส่ใจจากครอบครัวที่ทุกคนได้มอบให้... แท้จริงฮิคาริเป็นคนอ่อนไหวมากที่สุดกับสัญญาณต่างๆ... เมื่อคุณยายของเขาซึ่งเปรียบดั่งเป็นศูนย์กลางของครอบครัวได้ล้มป่วยลง... เขาจะคอยเฝ้าดูท่านด้วยท่าทางที่ซึมเศร้าอย่างเห็นได้ชัด... คุณยายผู้ที่ดีกับเขามากเป็นพิเศษและความสัมพันธ์ของคนทั้งคู่ก็เปรียบเสมือนแกนกลางของบุคคลในครอบครัวที่เหลือซึ่งหมุนวนอยู่รอบๆ... “ผมชอบตอนเย็นของทุกวัน แม่เอาอาหารเย็นมาให้ เป็นเหมือนกันทุกครอบครัว” ความคิดของฮิคาริที่ว่า “เป็นเหมือนกันทุกครอบครัว” เป็นสิ่งที่กระทบจิตใจโอเอะเป็นอย่างยิ่ง... มันกลายเป็นความหมายแห่งความทรงจำที่ดี... โอเอะได้อ้างถึงเรื่องราวของ “แฟลนเนอรี โอ’ คอนเนอร์” ผู้เขียนเรื่องสะเทือนอารมณ์ซึ่งเกี่ยวกับทัศนคติต่อบรรดาเด็กพิการเหมือนเป็นข้อสรุปโดยรวมของหนังสือเล่มนี้ “บ้านสมานใจ” และเป็นเหมือนข้อสรุปของทุกๆครอบครัว... ทุกๆครอบครัวในโลกนี้ที่มีคนพิการอยู่ร่วมไม่ว่าจะเป็นใครก็ตามว่าจะจัดวางพวกเขาอยู่ในสถานะไหนในฐานะของความเป็นมนุษย์... “เด็กพิการพยายามจะซ่อนเร้นความเจ็บปวดจากสายตาของบุคคลอื่น เป็นทัศนคติที่มาจากวิธีคิดแบบเดียวกับการปล่อยควันพิษจากปล่องควันในเอาชวิตต์ อันเป็นค่ายกักกันที่ใหญ่ที่สุดของเยอรมันนาซีที่สังหารผู้คนจากประเทศต่างๆไป ณ ที่นี้ประมาณ 1.5 ถึง 4 ล้านคน” โอเอะ... ได้แสดงมิติความคิดส่วนตัวเปรียบเทียบต่อประเด็นของข้อเขียนนี้กับการกระทำต่อคนพิการที่บังเกิดขึ้นในครอบครัวของเขาเอาไว้อย่างน่าชื่นชมว่า “ในแง่ส่วนตัวผมนึกถึงตัวเองอย่างชัดเจนได้เลยว่าจะเกิดอะไรขึ้นกับสังคมที่ปิดประตูกั้นขวางคนพิการโดยการถามตนเองว่า พวกเราตระกูลโอเอะ... จะเป็นอย่างไรถ้าเราไม่ให้ฮิคาริเป็นส่วนหนึ่งที่สำคัญของครอบครัว... ผมมองเห็นภาพบ้านอันแห้งแล้งที่ซึ่งกระแสลมอันเยียบเย็นพัดผ่านช่องว่างที่ขาดหายไปเนื่องจากฮิคาริไม่อยู่ และภาพครอบครัวที่สายใยระหว่างกันยิ่งเปราะบางลงทุกทีๆหลังจากเรากันฮิคาริออกไป... ในกรณีของครอบครัวเราผมรู้ดีว่าผลจากการรวมฮิคาริเข้าไว้เป็นหนึ่งในครอบครัวของเขานั่นเอง จึงทำให้เราสามารถผ่านพ้นวิกฤตการณ์ต่างๆที่เกิดขึ้นมาได้ด้วยดี”

นี่คือวิถีแห่งการมองโลกในแง่ดี การกระทำของโอเอะและภรรยาต่อฮิคาริถือเป็นตัวอย่างอันวิเศษต่อการสร้างความมั่นคงและอบอุ่นแก่ครอบครัวเท่าที่มนุษย์พึงมีสำนึกและรับผิดชอบต่อชีวิตที่เกิดมาร่วมโลก... ร่วมชายคาแห่งความเป็นชีวิตแห่งครอบครัวเดียวกัน... ปัจจุบันฮิคาริมีอายุได้ 46 ปีแล้ว... ชีวิตของเขาถูกนำไปสร้างเป็นสารคดีฉายทางโทรทัศน์ มีซีดีอัลบั้มเพลงคลาสสิกที่เขาเป็นผู้แต่งรวมสองอัลบั้ม... มีการเปิดแสดงคอนเสิร์ตบทเพลงของเขาอย่างยิ่งใหญ่... นี่คือโอกาสที่ตัวเขาในฐานะคนพิการได้สร้างขึ้นเพื่อตัวเขาด้วยหัวใจอันบริสุทธิ์และความฝันอันพิลาศพิไลที่ซ่อนลึกอยู่ด้านในหัวใจ แต่ถึงกระนั้นก็มีคนออกมาคัดค้านต่อต้านการแสดงคอนเสิร์ตของเขาด้วยทรรศนะเชิงอคติที่เต็มไปด้วยการหมิ่นแคลนสถานะแห่งความเป็นมนุษย์ด้วยกัน “ถ้าฮิคาริ โอเอะไม่ได้เป็นบุตรชายของเคนซาบุโร โอเอะ ผลงานของเขาจะได้แสดงบนเวทีคอนเสิร์ตระดับใหญ่อย่างนี้หรือไม่ เพลงเหล่านี้จะมีการบันทึกลงซีดีหรือเปล่าและคุณจะได้รับความร่วมมือจากบรรดานักดนตรีชื่อดังในญี่ปุ่นไหม... ทั้งหมดนี้คงดีเหลือเกินแล้วสำหรับพวกคุณ แต่อยากให้คุณรู้ไว้ว่ายังมีนักประพันธ์เพลงที่มีความสามารถอีกมากมายนับไม่ถ้วนซึ่งผลงานของเขาไม่เคยเป็นที่รู้จัก แม้ว่าเขาจะเป็นอัจฉริยะที่แท้จริงก็ตาม”

เคนซาบุโร โอเอะ... ตอบข้อข้องใจในเชิงอคตินี้ด้วยท่าทีที่สงบ ด้วยคำกล่าวสั้นๆที่มีขึ้นก่อนเริ่มงานคอนเสิร์ตว่า “บุคคลที่ท่านจะได้รับฟังผลงานของเขาในวันนี้ เป็นคนที่ไม่เคยร้องไห้ เป็นคนที่อาจไม่เคยมีความฝัน ผมคิดว่าสำหรับบรรดาพ่อแม่ที่ลูกแข็งแรงเป็นปกติดี การที่ลูกไม่เคยฝันคงไม่ใช่เรื่องน่าห่วงอะไรนัก แต่สำหรับเรานี่ดูเหมือนจะบ่งบอกชัดเจนอย่างน่าเจ็บปวดว่า บางสิ่งที่สำคัญยิ่งได้ขาดหายไปจากชีวิตของลูกชายเรา ซึ่งบางทีนี่อาจเป็นเหตุให้เราต้องทุ่มเวลาและความพยายามอย่างหนักในการสอนให้เขารู้ว่าความฝันคืออะไร... เสียงไวโอลินและเปียโนที่คุณได้ยินในผลงานชุดนี้เป็นเสียงที่เราไม่เคยได้ยินได้ฟังมาก่อน... เป็นเสียงที่ผมขอเรียกว่าเสียงแห่งวิญญาณอันโหยไห้... แต่นี่คือเสียงที่มาจากความฝันที่เขามีหรือเปล่า หรือมันมาจากสิ่งที่เขาคิดว่ามันเป็นความฝัน... ฮิคาริไม่สามารถถ่ายทอดประสบการณ์ของเขาออกมาเป็นคำพูดได้ คงไม่ผิดนักหรอกหากจะกล่าวว่าสิ่งที่เขาค้นพบช่วยให้เขาได้สัมผัสกับแก่นแท้ของความโศกเศร้า ที่สั่งสมอยู่ภายในใจและการเจาะเข้าไปกลางใจนั้น ทำให้เขาปลดปล่อยสรรพสำเนียงนี้ เสียงแห่ง... วิญญาณอันโหยไห้”

บ้านสมานใจ (A Healing Family) เขียนขึ้นเมื่อปีค.ศ.1996 สองปีหลังจากที่เคนซาบุโร โอเอะ ได้รับรางวัลโนเบล เป็นหนังสือเล่มแรกที่เขียนขึ้นหลังจากได้รับรางวัลในครั้งนั้น... โดยนำเสนอเป็นข้อเขียนถึงคนรอบข้างที่เชื่อมโยงอยู่กับภาวะแห่งความเป็นครอบครัว... อันระทมทุกข์ของเขาอันเนื่องมาแต่การมีลูกที่พิการ... ประสบการณ์แห่งความรัก ความหวัง ความฝัน และความอดทนต่อแรงบีบคั้นทางใจ กลายเป็นสิ่งที่ปลุกจิตวิญญาณแห่งความดีงามให้บังเกิดแก่ “จิตอันเป็นเมตตา” ที่ก่อเกื้อให้วิถีของชีวิตดำเนินไปอย่างมีความหมาย... เข้าใจถึงความเป็นโลกแห่งครอบครัวในลักษณะต่างๆที่ไม่เหมือนกัน... ไม่มีครอบครัวใดที่จะมีโชคดีไปเสียทั้งหมด... และก็คงไม่มีครอบครัวใดที่จะไร้โชคไร้ความสุขไปเสียหมดเช่นกัน หากเราจะมองมนุษย์ให้อยู่ในสถานะของความเป็นมนุษย์ภายใต้ภาพแสดงอันจริงใจของ “ความอบอุ่นแห่งความเป็นมนุษย์อันอ่อนโยน”... ความหมายที่ถูกต้องบริสุทธิ์ย่อมบังเกิดขึ้น เป็นเครื่องมือในการเยียวยารักษาและสมานแผลอันเจ็บปวดและบาดลึกแห่งหัวใจของตนเองได้... นี่คือหนังสือที่สื่อสารถึงแก่นแท้ แห่งความดีงามผ่านข้อกำหนดของโชคชะตาและสำนึกคิดแห่งความเป็นมนุษย์ที่สมบูรณ์และมีพัฒนาการของนัยน์ตาที่ทรงปัญญา... บริสุทธิ์ และแข็งแกร่งอยู่ภายในหัวใจของทุกคนโดยแท้

“ฮิคาริจำเป็นต้องยึดสิ่งเดียวที่เขามีในชีวิตไว้เพื่อความอุ่นใจ นั่นคือดนตรี นับตั้งแต่เขายังเล็ก... เมื่อใดที่เขาฟังเพลง เมื่อนั้นเขากำลังก้าวล่วงไปในดินแดนที่ใครก็ไม่อาจเข้าถึง... และเขาก็ได้ถูกดูดกลืนให้เข้าสู่องค์ความรู้รูปแบบหนึ่งด้วยนัยน์ตาที่ทรงพลังในห้วงเวลานั้น... เขากำลังจ้องมองไปในอนาคตตรงหน้าและพร้อมจะ เผชิญกับสิ่งใดก็ตามที่กำลังจะเกิดขึ้น”