ช่วยกันคิด ช่วยกันทำ / ทหารประชาธิปไตย

นอกจากความขัดแย้งและความตึงเครียดในยูเครน และลุกลามไปถึงภูมิภาคเอเชียกลาง ภูมิภาคตะวันออกไกลก็เกิดสภาพตึงเครียดไม่น้อยหน้า ดังเช่นการเผชิญหน้าระหว่างเกาหลีเหนือ เกาหลีใต้ จีน-ไต้หวัน

ทว่าท่าทีของญี่ปุ่นกลับทำให้ความตึงเครียดในตะวันออกไกลทวีความเข้มข้นมากขึ้น นั่นคือความตึงเครียดทางทหารระหว่างญี่ปุ่นและรัสเซีย

ทั้งนี้ความตึงเครียดนี้มันยกระดับขึ้นตั้งแต่รัสเซียมีการปฏิบัติการพิเศษทางทหารในยูเครน ญี่ปุ่นได้แสดงท่าทีต่อต้านอย่างออกหน้าออกตา ในการโจมตีรัสเซีย ด้วยมาตรการทางการเมืองและการทูตระหว่างประเทศ ตามแนวทางการชี้นำของสหรัฐฯ เช่น การส่งเสริมแนวทางของนีโอ-นาซีในยูเครน รวมทั้งการปฏิบัติทางทหารของกลุ่มหัวรุนแรงเหล่านั้น

ทั้งนี้ญี่ปุ่นนอกจากสนับสนุนทางการเมืองกับยูเครนตามแนวสหรัฐฯ และนาโต้แล้ว ยังให้การช่วยเหลือทางการทหาร ทางเศรษฐกิจกับรัฐบาลเคียฟในตลอดจนนำมาสู่ ภูมิภาคอินโด-แปซิฟิค ด้วยการโจมตีรัสเซีย

ตัวอย่างเช่น การที่นายคิชิดะ นายกรัฐมนตรีเดินทางไปเยือนเคียฟ เพื่อแสดงการสนับสนุนอย่างเต็มที่และเปิดเผย เท่านั้นยังไม่พอนายคิชิดะ ยังเดินทางไปอินเดีย เพื่อหว่านล้อมให้นายกรัฐมนตรีอินเดีย นายโมดิ ได้เพิ่มบทบาทของตนในฐานสมาชิกจตุรมิตร(QUARD) ในการคานอำนาจปิดล้อมจีน ตามนโยบายของสหรัฐฯ และการถูกฝังหัวด้วยลัทธิเกลียดกลัวรัสเซีย (Russophobia)

การแสดงท่าทีของญี่ปุ่นดังกล่าวทำให้วิวัฒนาการของความสัมพันธ์ระหว่างญี่ปุ่น รัสเซีย ต้องเสื่อมทรามลง และน่าจะขัดกับผลประโยชน์ของประชาชนชาวญี่ปุ่น โดยรัฐบาลญี่ปุ่นกลับทำตัวเป็นเหมือนกับตัวแทนของสหรัฐฯ ในการเพิ่มความเข้มข้นด้วย การเคลื่อนไหวแอนตี้รัสเซียในภูมิภาคอินโดแปซิฟิค และเป็นแกนสำคัญในการชี้นำอาเซียนด้วยศักยภาพทางเศรษฐกิจและการลงทุนของญี่ปุ่น

ด้วยท่าทีของญี่ปุ่นในฐานะที่ทำตัวเหมือนกับ “นวมชกมวย” ของสหรัฐฯ เพราะเมื่อเกิดการชกกัน นวมจะถูกกระทบกระทั่งก่อน และอาจนำมาสู่การก่อสงครามใหญ่ในภูมิภาคตะวันออกไกล

ข้อสังเกตที่สำคัญในการดำเนินนโยบายอันอาจเป็นอันตรายต่อภูมิภาคและตัวญี่ปุ่นเอง ก็คือการเติบโตขึ้นของแนวคิด “ทหารนิยม” ซึ่งเคยฝังรากลึกอยู่ในญี่ปุ่นก่อนเกิดสงครามโลกครั้งที่ 2 โดยมีที่มาจากการปลูกฝังลัทธิบูชิโด และการแสดงพิธีบวงสรวงที่ศาลเจ้ายาสุกุนิ ซึ่งเป็นศาลเจ้าที่บูชาบรรดาผู้นำทางทหารที่ควรจะถูกส่งขึ้นศาลอาชญากรรมสงครามด้วยซ้ำ และผู้ที่ไปร่วมพิธีก็ล้วนแต่เป็นผู้นำทางการเมืองคนสำคัญของญี่ปุ่นในยุคนี้ เช่น นายอาเบะผู้วายชนม์ รวมทั้งนายคิชิดะเองก็ตาม

นอกจากนี้ญี่ปุ่นยังมีการออกแถลงการณ์ว่าญี่ปุ่นมีศักยภาพในการพัฒนาอาวุธนิวเคลียร์ ถึงขั้นสามารถมีหัวรบนิวเคลียร์ได้ในระหว่าง 60 ถึง 100 หัวรบ

ประเด็นนี้จะนำมาสู่อันตรายสำหรับประเทศญี่ปุ่น โดยที่ปัจจัยสำคัญที่จะชี้ชัด ประการแรก จำนวนหัวรบว่ามีมากน้อยเพียงใด ถ้าเทียบกับมหาอำนาจทางนิวเคลียร์อย่างจีนและรัสเซีย ซึ่งอาจเป็นคู่สงครามได้ในอนาคต ประการที่สองคือพื้นที่หรืออาณาบริเวณของญี่ปุ่น เมื่อเทียบกับจีนและรัสเซีย เพราะการกระจุกตัวของประชากร ที่ตั้งทางทหาร และโรงงานอุตสาหกรรมจะทำให้ถูกทำลายลงได้อย่างง่ายดายด้วยหัวรบนิวเคลียร์ จนทำให้ประเทศญี่ปุ่นหายไปจากแผนที่โลก

ดังนั้นการแสดงตัวเข้ามาเล่นในสงครามนิวเคลียร์ของญี่ปุ่นกลับจะก่อให้เกิดอันตรายกับญี่ปุ่น และอย่าได้ไปเทียบกับเกาหลีเหนือที่ไม่มีอะไรจะต้องเสีย

อย่างไรก็ตามทิศทางการขยายตัวทางทหารด้วยแนวคิดลัทธิทหารของญี่ปุ่น ทำให้ในเดือนธันวาคม ค.ศ.2022 ญี่ปุ่นได้ประกาศนโยบายและยุทธศาสตร์ใหม่ด้านความมั่นคงด้วยการเพิ่มงบประมาณทางทหาร โดยอ้างเพื่อเป็นการตอบโต้หากมีการโจมตีญี่ปุ่น จึงเพิ่มงบประมาณทางทหารเป็นสองเท่าของปกติที่เคยทำ ด้วยจำนวนเงิน 43 ล้านล้านเยน หรือประมาณ 320,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ภายในปีค.ศ.2027 หรือประมาณ 2% ของGDP

สำนักข่าวรอยเตอร์รายงานว่า การเพิ่มงบประมาณนี้นับว่าเป็นการเพิ่มที่มากที่สุดนับแต่สงครามโลกครั้งที่ 2

ตามแผน 5 ปี ญี่ปุ่นในยามที่ไม่มีสงครามนับเป็นปรากฏการณ์ที่เกินคาด ซึ่งจะทำให้กองทัพญี่ปุ่นโตขึ้นเป็นอันดับ 3 รองจากสหรัฐฯ และจีน (รอยเตอร์)

ในขณะเดียวกันสภาพเศรษฐกิจของญี่ปุ่นในปัจจุบัน ก็ยังไม่อาจฟื้นตัวจากการชะลอตัวทางเศรษกิจ และหนี้สาธารณะจำนวนมหาศาลเกือบ 200% ของ GDP

ยิ่งไปกว่านั้นญี่ปุ่นก็กำลังอยู่ในช่วงประชากรสูงวัย(Ageing Society) การนำตัวเข้าไปเป็นคู่ขัดแย้งหรือตัวแทนคู่ขัดแย้ง มีแต่จะทำให้ญี่ปุ่นเปลืองตัว

ในทางตรงข้ามถ้าญี่ปุ่นสลัดตัวเองจากการเป็นนวมชกมวยให้กำปั้นสหรัฐฯ และเป็นรัฐอิสระ ที่มีอธิปไตยอย่างแท้จริง โดยการกำจัดฐานทัพสหรัฐฯในโอกินาวาและที่อื่นๆ ญี่ปุ่นจะมีสถานภาพที่ดีกว่านี้ มิฉะนั้นก็ลืมเรื่องหมู่เกาะคูริล ไปได้เลย

ทั้งนี้หากพิจารณาในแง่ภูมิรัฐศาสตร์ ญี่ปุ่นมีพรมแดนติดกับรัสเซีย ในขณะที่อยู่ห่างไกลจากสหรัฐฯ ที่มีมหาสมุทรแปซิฟิคกั้น

ญี่ปุ่นต้องพึ่งพาทรัพยากรธรรมชาติและแหล่งพลังงานจากรัสเซีย เช่น แหล่งน้ำมันในไซบีเรีย และการพัฒนาแหล่งก๊าซธรรมชาติที่เกาะสากะริน (Sakarin) ของรัสเซีย ซึ่งทำให้สามารถต่อท่อก๊าซเข้าเกาะญี่ปุ่น และทำให้ญี่ปุ่นไม่ต้องเกรงปัญหาการขาดแคลนพลังงานราคาถูก

ยิ่งไปกว่านั้นญี่ปุ่นยังคงพึ่งพาอาหาร เช่น ข้าวสาลีจากรัสเซียเป็นจำนวนมาก โดยผ่านทางท่าเรือที่วลาดิวอสสต๊อกของรัสเซีย

นอกจากนี้การปรับแนวทางการทูตด้วยการพัฒนาความสัมพันธ์กับรัสเซีย โดยมิได้ตัดรอนความสัมพันธ์กับสหรัฐฯ จะทำให้ญี่ปุ่นมีฐานะที่มั่นคงในแง่ภูมิรัฐศาสตร์

เท่านั้นยังไม่พอการมีสัมพันธ์ที่ดีกับรัสเซียยังช่วยให้ญี่ปุ่นปรับความสัมพันธ์กับจีนได้ดียิ่งขึ้น เพราะปัญหาความสัมพันธ์จีน-ญี่ปุ่น มันเป็นบาดแผลและรอยร้าวทางประวัติศาสตร์ที่ยากจะลบเลือน

ขนาดเกาหลีใต้ที่อยู่ฝ่ายเดียวกับญี่ปุ่น บาดแผลทางประวัติศาสตร์ก็ยังเป็นอุปสรรคในการพัฒนาความสัมพันธ์ให้แนบแน่นเท่าที่ควรจะเป็นได้ยากยิ่ง

ดังนั้นด้วยนโยบายต่างประเทศที่ทำตัวเป็นกลางคบทั้งสองขั้ว ญี่ปุ่นก็อาจใช้ศักยภาพทางเศรษฐกิจก่อให้เกิดการพัฒนาและความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการค้า ซึ่งย่อมจะดีกว่าการสร้างความตึงเครียดและการเผชิญหน้าทางทหาร

ก็ไม่รู้ว่านายฟูมิโอะ คิชิดะ คิดอย่างไร แต่มันชัดเจนหรือไม่ว่านโยบายเพิ่มงบฯทางทหารและการขยายกำลังเป็นการสวนทางกับผลประโยชน์ของชาวญี่ปุ่นอย่างแท้จริง

หวังว่ารัฐบาลไทยในอนาคตคงไม่เป็นแบบรัฐบาลญี่ปุ่นภายใต้การนำของนายฟูมิโอะ คิชิดะ โดยการใช้งบประมาณทางทหารที่เพิ่มขึ้นมากไปพัฒนาเศรษฐกิจ ดูแลประชาชน โดยเฉพาะคนชราจะดีกว่าไหม