กนอ.จ่ายเงินเยียวยาผู้ประกอบอาชีพประมงพื้นบ้านที่ได้รับผลกระทบจากการดำเนินโครงการก่อสร้างท่าเรืออุตสาหกรรมมาบตาพุด ระยะที่ 3 (ช่วงที่ 1) ผ่านกองทุนหลักประกันความเสียหายฉุกเฉิน และกองทุนเพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตแล้ว 939 ราย มูลค่ารวมกว่า 93.9 ล้านบาท เผยความก้าวหน้าโครงการล่าสุดคืบหน้า 43.06% เร็วกว่าแผน 0.19% คาดเสร็จทันปี 70 ตามแผน
นายอนุชา นาคาศัย รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี รักษาการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยว่า ได้มอบหมายให้นายวีริศ อัมระปาล ผู้ว่าการการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย ติดตามความคืบหน้าผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นจากโครงการก่อสร้างท่าเรืออุตสาหกรรมมาบตาพุด ระยะที่ 3 (ช่วงที่ 1) ซึ่งทราบว่าขณะนี้ได้จัดตั้งคณะกรรมการติดตามควบคุมด้านสิ่งแวดล้อมในงานก่อสร้าง ประกอบด้วย ภาคประชาชน หน่วยงานราชการ หน่วยงานของโครงการ จำนวน 3 คณะ (กำหนดให้มีประชาชนไม่น้อยกว่ากึ่งหนึ่งของคณะกรรมการทั้งหมด)ดังนี้ 1.คณะกรรมการกำกับการติดตามตรวจสอบและการปฏิบัติตามมาตรการด้านสิ่งแวดล้อม โครงการพัฒนาท่าเรืออุตสาหกรรมมาบตาพุด ระยะที่ 3 และ 2.คณะกรรมการติดตามตรวจสอบด้านสิ่งแวดล้อมและมวลชนสัมพันธ์ โครงการพัฒนาท่าเรืออุตสาหกรรมมาบตาพุด ระยะที่ 3 และ 3.คณะกรรมการมูลนิธิกองทุนหลักประกันความเสียหายฉุกเฉินและพัฒนาคุณภาพชีวิตของประชาชน
ขณะเดียวกัน ยังมีการจัดตั้ง 2 กองทุน คือ กองทุนหลักประกันความเสียหายฉุกเฉิน และกองทุนพัฒนาคุณภาพชีวิตของประชาชน โดยกองทุนหลักประกันความเสียหายฯ มีวัตถุประสงค์เพื่อเป็นเงินสำรองจ่ายเยียวยาความเสียหายโดยเร็ว หากมีความเสียหายที่เกิดจากโครงการพัฒนาท่าเรืออุตสาหกรรมมาบตาพุด ระยะที่ 3 และพัฒนาคุณภาพชีวิตของชุมชนโดยรอบ ขณะที่กองทุนพัฒนาคุณภาพชีวิตฯ มีวัตถุประสงค์เพื่อการอนุรักษ์ธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม บรรเทาความเสียหายในเบื้องต้นจากผลกระทบที่มีสาเหตุมาจากโครงการ
นายวีริศ อัมระปาล ผู้ว่าการการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย กล่าวว่า สิ่งที่ กนอ.ยึดเป็นหลักในการดำเนินโครงการต่างๆ คือ เราให้ความสำคัญกับการสร้างสมดุลทางด้านเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม เพื่อให้ภาคอุตสาหกรรมอยู่ร่วมกับชุมชน สังคม อย่างยั่งยืน ซึ่งสอดคล้องกับนโยบาย MIND ที่นายณัฐพล รังสิตพล ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม ได้มอบไว้ให้เป็นแนวทางปฏิบัติเพื่อให้อุตสาหกรรมอยู่คู่กับชุมชนอย่างยั่งยืน ทั้งนี้ ในส่วนของการเยียวยาผู้ประกอบอาชีพประมงพื้นบ้านที่ได้รับผลกระทบจากโครงการฯ นั้น เราดำเนินการช่วยเหลือเยียวยาไปแล้ว 790 ราย เป็นกลุ่มชาวประมงที่อยู่ในกรอบ EHIA จำนวน 382 ราย และอยู่นอกกรอบ EHIA จำนวน 408 ราย ขณะเดียวกันยังมีคำขอสมบูรณ์ที่พร้อมจ่ายเงินเยียวยาให้อีก 149 ราย รวมทั้งสิ้น 939 ราย มูลค่ารวม 93.9 ล้านบาท ซึ่งเป็นการพิสูจน์ให้เห็นได้อย่างชัดเจนว่า กนอ.ไม่เคยทอดทิ้งผู้ที่ได้รับผลกระทบจากโครงการฯ
โดยโครงการก่อสร้างท่าเรืออุตสาหกรรมมาบตาพุด ระยะที่ 3 (ช่วงที่ 1) มีความก้าวหน้าในการก่อสร้างอย่างต่อเนื่อง ล่าสุดดำเนินงานไปแล้วร้อยละ 43.06 ทั้งในส่วนของการก่อสร้างเขื่อนกันทราย (Revetment) ที่ปัจจุบันลงหินแกนแล้วเสร็จ 100% กำลังอยู่ระหว่างปรับขนาดเสริมหินเกราะชั้นนอก และติดตั้งเขื่อนกันคลื่น (Breakwater) ถมทราย เพื่อก่อสร้างถนน สะพานเข้า-ออกโครงการฯ รวมทั้งเตรียมงานอู่ลอยสำหรับหล่อเขื่อนกันคลื่นสำเร็จรูป (Caisson) ขณะเดียวกันในส่วนของงานขุดลอกและถมทะเล มีการติดตั้งม่านกันตะกอน และตรวจวัดปริมาณสารแขวนลอย (SS) เป็นประจำทุกวัน วันละ 2 ครั้ง
สำหรับโครงการพัฒนาท่าเรืออุตสาหกรรมมาบตาพุด ระยะที่ 3 (ช่วงที่ 1) บริษัท กัลฟ์ เอ็มทีพี แอลเอ็นจี เทอร์มินัล จำกัด ได้เข้าร่วมทุนพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน เพื่อรองรับการขนถ่ายก๊าซธรรมชาติและวัตถุดิบเหลวสำหรับกลุ่มอุตสาหกรรมปิโตรเคมี ในเขตนิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุด ตำบลมาบตาพุด อำเภอเมืองระยอง จังหวัดระยอง มีเนื้อที่ประมาณ 1,000 ไร่ เป็นหนึ่งในโครงการสำคัญเร่งด่วนในการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานในเขตเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (EEC) มีเป้าหมายเพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการขนถ่ายก๊าซธรรมชาติและสินค้าเหลวสำหรับอุตสาหกรรมปิโตรเคมี 19 ล้านตันต่อปี ใน 30 ปีข้างหน้า รวมถึงรองรับการขยายตัวของอุตสาหกรรมเหล็กครบวงจร อุตสาหกรรมปุ๋ยเคมี และการลงทุนในอุตสาหกรรมต่อเนื่องอื่นๆ