ดร.ศรีกัญญา ยาทิพย์ เลขาธิการเลขาธิการคณะกรรมการกองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ(กบข.)เปิดเผยว่า ตั้งแต่เข้ามารับตำแหน่ง เลขาธิการ กบข. เมื่อปี 2563 กบข. ได้เดินหน้าด้วยแผนยุทธศาสตร์ 3 ด้านที่ได้สั่งสมมาระหว่างทำงาน “การลงทุน งานสมาชิก และบริหารองค์กร” นำมาพัฒนาต่อยอดยกระดับมาตรฐานให้ได้รับการยอมรับอย่างกว้างขวางในระดับนานาชาติ ภายใต้วิสัยทัศน์กองทุนบำนาญไทย มาตรฐานกองทุนบำนาญโลก โดยหนึ่งในกลยุทธ์หลักที่โดดเด่นและเป็นตัวการขับเคลื่อนสำคัญนั้นก็คือการบริหารกองทุนโดยคำนึกถึงแนวคิด ESG เป้าหมายหลักของการเข้ามารับตำแหน่งในครั้งนี้ คือการสร้างผลตอบแทนที่ดีแก่สมาชิก กบข.แล้วภารกิจที่ท้าทายไม่แพ้กันคือ การวางรากฐานอันแข็งแกร่งด้วยการสร้างความเชื่อมั่นจากภายในองค์กร กบข. และสร้างความไว้วางใจให้กับผู้ที่มีส่วนร่วมกับผลประโยชน์ของ กบข.ไม่ว่าจะเป็นคณะกรรมการ อนุกรรมการ สมาชิก รวมถึงสื่อมวลชน
ทั้งนี้นอกจากผลประโยชน์ด้านสมาชิก กบข.แล้วยังขอนำแนวคิดด้าน ESG มาเป็นหนึ่งในเป้าหมายในการดำเนินงานอีกด้วย โดย ESG หรือ Environment Social Governance แนวคิดของการพัฒนาองค์กรอย่างยั่งยืน โดยคำนึงถึงความรับผิดชอบ สิ่งแวดล้อม สังคม การกำกับดูแลอย่างถูกต้องโปร่งใส โดยสามารถแบ่งได้ดังนี้
E = Environment: หลักเกณฑ์ที่คำนึงถึงในด้านความรับผิดชอบของบริษัทต่อสิ่งแวดล้อม
S = Social: หลักเกณฑ์ที่ใช้วัดว่าบริษัทมีการจัดการความสัมพันธ์ และมีการสื่อสารกับลูกจ้าง,ผู้จัดหาวัตถุดิบ,ลูกค้า หรือผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย (stakeholders) อย่างไร
G= Governance: หลักการที่ใช้วัดว่าองค์กรมีการจัดการความสัมพันธ์ในเชิงการกำกับดูแลอย่างไร เพื่อให้การบริหารจัดการที่มีประสิทธิภาพโปร่งใส ตรวจสอบได้ และคำนึงถึงผู้มีส่วนได้เสีย
“การเดินหน้าแนวคิด ESG เล็งเห็นว่า ปัจจุบันนักลงทุนทั้งนักลงทุนบุคคล (Individual Investor) และนักลงทุนสถาบัน (Institutional Investors) ต่างให้ความสำคัญมากขึ้นในการลงทุนแบบยั่งยืน หรือการลงทุนในหลักทรัพย์ที่มีการดำเนินงานตามกรอบแนวคิดความยั่งยืน ESG ซึ่งผลของการสำรวจพบว่า พอร์ตการลงทุนของผู้ลงทุนสถาบันส่วนใหญ่ร้อยละ 80 มีการจัดสรรเงินลงทุนไปกับองค์กรที่มีการดำเนินธุรกิจตามหลัก ESG และผู้แนะนำทางการเงิน หรือ Financial Advisor มีการแนะนำนักลงทุนหรือได้ลงทุนด้วยตัวเองในกองทุนแบบ ESG มากขึ้น”
ทั้งนี้มองเห็นถึงความสำคัญของ ESG อย่างชัดเจน จึงมีความตั้งใจอย่างแนวแน่ว่าจะพัฒนากองทุนให้เป็น Leader in ESG Investing โดยเริ่มต้นจากการหาสมดุลระหว่างการเป็นกองทุนที่ต้องสร้างผลกำไรกับการเป็นกองทุนที่รับผิดชอบด้าน ESG มีการกระตุ้นภายในองค์กรให้หันมาเข้าใจเรื่อง ESG มากขึ้น ด้วยการร่วมรณรงค์ สร้างพลังที่ยิ่งใหญ่ให้ทุกคนตระหนักถึงความสำคัญของแนวคิด ESG ที่ต้องเดินหน้าควบคู่กับกลยุทธิ์แสวงหาผลกำไร ต้องทำควบคู่กันไปด้วย
โดยจากผลการสำรวจในหลายๆประเทศทั่วโลกรวมถึงประเทศไทย จะเห็นได้ว่าปัจจุบันการลงทุนแบบยั่งยืนกำลังมีอิทธิพลในตลาดการลงทุนมากขึ้นเรื่อยๆ โดยในปัจจุบันมีองค์กรต่างๆในการจัดตั้งดัชนีความยั่งยืน (Sustainability Index) เพื่อเป็นดัชนีชี้วัดว่าบริษัทต่างๆมีการดำเนินการธุรกิจที่สอดคล้องกับแนวคิด ESG โดยบริษัทจำกัดที่ได้รับคะแนนผ่านการประเมินทั้ง 3 มิติจะถูกจัดอยู่ในกลุ่มหุ้นยั่งยืนที่สามารถดึงดูดความสนใจในการลงทุนในกลุ่มนักลงทุนได้ นักลงทุนสถาบันให้ความสำคัญกับ ESG มากขึ้นนี้จะส่งผลกระทบเชิงบวกในระยะยาวต่อตลาดหลักทรัพย์
เลขาธิการ กบข.กล่าวอีกว่า สิ่งแวดล้อมคือภาวะเร่งด่วนที่ทุกคนให้ความสนใจ และหันมาให้ความสำคัญเป็นอย่างมาก เพราะปัจจุบันจากกิจกรรมในชีวิตประจำวันของมนุษย์รวมไปถึงภาคอุตสาหกรรมที่ได้ปล่อยก๊าซเรือนกระจกขึ้นสู่ชั้นบรรยากาศอย่างต่อเนื่อง ก่อให้เกิดสภาพภูมิอากาศที่เปลี่ยนแปลงมากขึ้น ยังไม่นับรวมการตัดไม้ทำลายป่าและการเกิดไฟป่าที่ส่งผลให้ก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ หรือ CO2 พุ่งทะยานสูงที่สุดในรอบ 20 ปี
“นานาประเทศรวมถึงประเทศไทยเองก็เริ่มหันมาให้ความสำคัญและตระหนักถึงผลกระทบจากปัญหาด้าน ‘สิ่งแวดล้อม มากขึ้น โดยมีไอเดียในการพัฒนานวัตกรรมด้านสิ่งแวดล้อมเกิดขึ้นมากมาย ดังนั้น กบข. ต้องเป็นองค์กรที่ให้ความสำคัญในด้านสิ่งแวดล้อม หันมาประหยัดพลังงาน ลดกระบวนการที่ก่อให้เกิดด๊าซเรือนกระจก” เลขาธิการ กบข. ให้ข้อมูลเพิ่มเติม
ขณะเดียวกัน กบข.ได้มีการจัดการความสัมพันธ์กับบุคคลภายในองค์กรเป็นอย่างดี มีจุดยืนโดยคำนึงถึงประเด็นความรับผิดชอบต่อสังคม โดย กบข.ได้ให้ความสำคัญกับพนักงานในองค์กรให้เข้าถึงสวัสดิการต่างๆที่ควรจะได้รับได้เป็นอย่างดี มีหลักเกณฑ์ต่างๆที่มีความเหมาะสม รวมถึงผลการตอบแทนต่างๆที่สมควรจะได้รับ ขณะเดียวกัน เลขาธิการ กบข. เผยว่า นอกจากลูกจ้างหรือคนในองค์กรของ กบข.แล้ว กบข.ยังได้จัดการความสัมพันธ์กับผู้จัดหาวัตถุดิบ,ลูกค้า หรือผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย (stakeholders) โดยมุ่งเน้นความรับผิดชอบ และความเสมอภาคในส่วนต่างๆอีกด้วย
ทั้งนี้ กบข. ได้มุ่งมั่นผลักดัน กบข. ในทุกมิติของหลักการ ESG โดยเฉพาะอย่างยิ่งในมิติที่ 3 Governance หรือหลักการที่ใช้วัดว่าองค์กรมีการจัดการความสัมพันธ์ในเชิงการกำกับดูแลอย่างไร เพื่อให้การบริหารจัดการที่มีประสิทธิภาพโปร่งใส ตรวจสอบได้ และคำนึงถึงผู้มีส่วนได้เสีย ซึ่ง Governance หรือธรรมาภิบาล คือฟันเฟืองในการขับเคลื่อนการดำเนินงานภายในองค์กร ให้มีความโปร่งใสเพียงพอในการตรวจสอบหากมีความผิดปกติ มีการกำกับดูแลกิจการเป็นอย่างดี มีจริยธรรมและจรรยาบรรณ แน่นอนว่าการจะนำเสนอภาพต่อสาธารณชนว่าองค์กรมีความรับผิดชอบต่อสังคมจริงๆ อาจจะต้องเริ่มต้นจากโครงสร้างองค์กรที่จะเป็นตัวกำหนดกรอบการดำเนินงานของธุรกิจของ กบข.
สุดท้ายนี้ เลขาธิการ กบข. พร้อมเดินหน้า กบข.ให้เป็นองค์กรที่ครบในทุกมิติของ “ESG” เพราะ ESG ไม่ใช่เป็นเพียงเครื่องมือที่จะช่วยสร้างการเติบโตในระยะยาวให้กับธุรกิจเท่านั้น แต่เป็นสิ่งที่จะผลักดันให้ทุกภาคส่วนไม่ว่าจะเป็นภาครัฐ ภาคเอกชน รวมไปถึงภาคประชาชนได้ลุกขึ้นมาร่วมมือกันยกระดับให้โลกใบนี้ดียิ่งขึ้นในทุกมิติอีกด้วย