ปฏิเสธไม่ได้ว่า “ไข้หวัดนก” เป็นปัญหาสำคัญที่เกษตรกรผู้เลี้ยงสัตว์ปีกในหลายประเทศทั่วโลกต้องเผชิญอยู่ในขณะนี้ สหรัฐอเมริกา ที่เป็นผู้ผลิตไข่ไก่รายใหญ่อันดับต้นๆ ก็ถือเป็นหนึ่งในประเทศที่ประสบปัญหานี้ จนเกิดภาวะขาดแคลนไข่ไก่และราคาต้องปรับเพิ่มขึ้นมากถึงเกือบ 60% แน่นอนว่าส่งผลกระทบต่อผู้บริโภคอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้  

ส่วนประเทศในเอเชียอย่าง ญี่ปุ่น ก็ต้องเผชิญหน้ากับปัญหาไข้หวัดนกเช่นกัน โดยกระทรวงเกษตร ป่าไม้ และประมงญี่ปุ่น มีการทำลายไก่และนกอื่นๆ ทั่วประเทศ จากโรคนี้ เป็นจำนวนมากถึง 15 ล้านตัว เป็นผลให้ปริมาณไข่ไก่ที่เข้าสู่ตลาดลดลงอย่างหนัก ทำให้ราคาขายส่งไข่ไก่ขนาดกลางในกรุงโตเกียว ขยับขึ้นไปอยู่ที่ 335 เยนต่อกิโลกรัม (ราว 2.49 ดอลลาร์สหรัฐ) เมื่อกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา หรือเพิ่มขึ้นกว่า 81% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน 

เรื่องต้นทุนการเลี้ยงไก่ไข่ที่สูงขึ้น นับเป็นอีกปัจจัยรุมเร้าของเกษตรกรทุกประเทศ ทั้งราคาวัตถุดิบสำหรับผลิตอาหารสัตว์ที่แพงขึ้น จากผลกระทบของความขัดแย้งระหว่างรัสเซียและยูเครนที่ยังคงยืดเยื้อ ค่าแรงงานที่ปรับเพิ่ม รวมถึงค่าบริหารจัดการฟาร์มโดยเฉพาะการจัดการป้องกันโรคที่เข้มงวด ล้วนเป็นปัญหาใหญ่ที่เกษตรกรต้องฝ่าฟัน บางรายยังพอมีแรงสู้ก็อยู่ต่อแม้ต้องเจ็บตัวกับต้นทุนสูง แต่บางรายไปต่อไม่ไหวก็จำต้องถอยทัพปิดฟาร์ม  

อย่างเช่น เกษตรกรในประเทศมาเลเซีย ที่ต้องต่อสู้กับต้นทุนวัตถุดิบอาหารปรับราคาสูงขึ้น สร้างแรงกดดันให้ผู้เลี้ยงไก่ไข่ขนาดเล็กต้องลดปริมาณการเลี้ยง จนเกิดภาวะขาดแคลนอย่างหนัก ถึงขนาดต้องสั่งซื้อไข่ 50 ล้านฟอง จากอินเดีย และนับเป็นการสั่งซื้อล็อตใหญ่ที่สุด เพื่อนำเข้ามาเร่งแก้ปัญหาขาดแคลนดังกล่าว 

ประเด็นการขาดแคลนไข่ไก่ทั่วโลกนี้ นายกสมาคมผู้ผลิต ผู้ค้า และส่งออกไข่ไก่ มงคล พิพัฒสัตยานุวงศ์ ให้ข้อมูลว่า ปัญหาสำคัญอยู่ที่การแพร่ระบาดของโรคไข้หวัดนกในหลายประเทศทั่วโลก ทำให้ยจำเป็นต้องทำลายแม่ไก่เพื่อการควบคุมและป้องกันโรค ภาวะไข่ไม่เพียงพอกับการบริโภคของประชากรในประเทศจึงเกิดขึ้นทั้งในสหรัฐฯ นิวซีแลนด์ ญี่ปุ่น ไต้หวัน ที่ผู้บริโภคต่างได้รับความเดือดร้อนจากราคาไข่ที่สูงขึ้น มีการจำกัดปริมาณการซื้อ และการเข้าถึงที่ยากขึ้น  

สวนทางกับประเทศไทยที่มีการป้องกันโรคนี้เป็นอย่างดี ทำให้ไทยปลอดภัยจากโรคไข้หวัดนก 100% มาใช้ตั้งแต่ปี 2549 จนถึงปัจจุบัน โรคนี้ไม่ได้เป็นปัญหาในฟาร์มสัตว์ปีก มานานกว่า 16 ปีแล้ว ทำให้ประชาชนไทยมีผลผลิตไข่ไก่บริโภคเพียงพอและไม่ต้องประสบปัญหาขาดแคลนดังเช่นประเทศอื่นๆ  

ที่สำคัญราคาไข่ไก่ของไทย ยังถือว่าถูกกว่าประเทศต่างๆ เป็นอย่างมาก และยังเป็นผลผลิตที่ปลอดภัยจากโรคระบาด ราคาไข่ไก่ที่ผ่านมามีการปรับขึ้นลงตามกลไกตลาดและเหมาะสมกับคุณภาพที่ผู้บริโภคได้รับ โดยช่วงนี้ไทยยังมีผลผลิตไข่ไก่เกินความต้องการบริโภค เนื่องจากเป็นช่วงปิดภาคเรียน ทำให้ความต้องการไข่ไก่ลดลง จึงไม่กระทบต่อการบริโภคในประเทศ  

ขณะเดียวกัน ราคาตามกลไกนี้ยังมีส่วนสำคัญยิ่งในการสนับสนุนให้เกษตรกรขายผลผลิตได้ในราคาที่ไม่ขาดทุน ซึ่งราคาอาจปรับขึ้นบ้างตามกลไกตลาด และต้องสอดคล้องกับสถานการณ์ต้นทุนการผลิต ที่นับวันยิ่งจะสูงขึ้น เพราะผู้เลี้ยงไก่ไข่ไทยเองต้องประสบปัญหานี้ไม่ต่างกับผู้ผลิตประเทศอื่นๆ ส่งผลให้อาหารสัตว์ต้องขึ้นประมาณ 3-4 บาทต่อกิโลกรัม ซึ่งราคาไข่ไก่คละหน้าฟาร์มที่เหมาะสมและเกษตรกรพออยู่ได้ ควรอยู่ที่ 4.00 บาทต่อฟอง แต่ขณะนี้ราคาไข่ยังอยู่ที่ 3.60 บาทต่อฟองเท่านั้น ไม่สอดคล้องกับต้นทุนการผลิตที่สูงไปถึง 3.70 บาทต่อฟองแล้ว 

เรื่องนี้เกษตรกรผู้เลี้ยงไก่ไข่ ฝากขอรัฐบาลพิจารณามาตรการช่วยเหลือด้านวัตถุดิบอาหารสัตว์ เพื่อสนับสนุนการผลิตให้ราคาและการผลิตอยู่ในระดับที่เหมาะสม เพียงพอต่อความต้องการบริโภค ไม่เกิดปัญหาขาดแคลน ส่งเสริมความมั่นคงทางอาหารทั้งในไทยและทั่วโลก ให้คนไทยยังคงได้บริโภคไข่ไก่โปรตีนคุณภาพดีในราคาที่เข้าถึงได้ต่อไป  

ที่สำคัญต้องอาศัยความเข้าใจและความเห็นใจต่อตัวเกษตรกรผู้เลี้ยง ที่ต้องแบกรับภาระต้นทุนสูงมาเป็นเวลานาน หากปล่อยให้พวกเขาต้องต่อสู้โดยลำพังก็คงไม่แคล้วต้องล่าถอยม้วนเสื่อปิดฟาร์ม จนต้องพบปัญหาไม่ต่างกับในต่างประเทศเป็นแน่

โดย : กัญจาฤก แว่นแก้ว นักวิชาการด้านปศุสัตว์