วันที่ 30 มี.ค.66 รศ.นพ.ธีระ วรธนารัตน์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊ก Thira Woratanarat ระบุว่า...

เมื่อวานทั่วโลกติดเพิ่ม 59,817 คน ตายเพิ่ม 225 คน รวมแล้วติดไป 683,587,878 คน เสียชีวิตรวม 6,828,770 คน

5 อันดับแรกที่ติดเชื้อสูงสุดคือ เกาหลีใต้ รัสเซีย ฝรั่งเศส ญี่ปุ่น และสหรัฐอเมริกา

เมื่อวานนี้จำนวนติดเชื้อใหม่มีประเทศจากยุโรปและเอเชียครอง 8 ใน 10 อันดับแรก และ 18 ใน 20 อันดับแรกของโลก

จำนวนติดเชื้อใหม่ในแต่ละวันของทั่วโลกตอนนี้ มาจากทวีปเอเชียและยุโรป รวมกันคิดเป็นร้อยละ 88.83 ของทั้งโลก ในขณะที่จำนวนการเสียชีวิตคิดเป็นร้อยละ 87.11

...อัพเดตสถานการณ์วัคซีนทั่วโลก

องค์การอนามัยโลก UNICEF และ GAVI ได้ออกรายงาน COVID-19 Vaccination Insights Report เมื่อ 27 มีนาคมที่ผ่านมา

สรุปสถานการณ์เรื่องวัคซีนให้เห็นว่า จนถึง 23 มีนาคม 2566 มีการฉีดวัคซีนโควิดไปแล้วทั่วโลกกว่า 13,200 ล้านโดส

จำนวนประเทศที่เป็นสมาชิกในองค์การอนามัยโลก 194 ประเทศ มี 69 ประเทศที่ฉีดวัคซีนครอบคลุมประชากรมากกว่า 70% ในขณะที่ 186 ประเทศได้ฉีดครอบคลุมเกิน 40%

โดยประเทศส่วนใหญ่ (186 ประเทศ) มีการฉีดวัคซีนเข็มกระตุ้นให้แก่ประชากรของตน

เจาะลึกดูประชากรกลุ่มที่เสี่ยงต่อการติดเชื้อแล้วจะป่วยรุนแรงได้มากคือ กลุ่มผู้สูงอายุ พบว่า ภาพรวมทั่วโลกมีการฉีดวัคซีนในกลุ่มสูงอายุสองเข็มแรก (primary series) ไปราว 81%

รายงานมีการสะท้อนให้เห็นว่า กลุ่มประเทศที่ยากจนยังมีปัญหาในการเข้าถึงวัคซีน ทำให้ประชากรกลุ่มเสี่ยงได้รับวัคซีนน้อยกว่ากลุ่มประเทศที่รายได้สูง

...อัพเดต Long COVID

Putrino D ได้เผยแพร่บทความวิชาการทบทวนความรู้เกี่ยวกับ Long COVID ลงใน Health Affairs เมื่อวานนี้ 29 มีนาคม 2566

ปัจจุบันความรู้ในเรื่อง Long COVID ชัดเจนขึ้นมาก

เฉลี่ยแล้วอัตราการเกิด Long COVID ในกลุ่มผู้ติดเชื้อที่อาการน้อยและไม่ได้รับการรักษาตัวในโรงพยาบาลจะอยู่ประมาณ 10-30% และในกลุ่มที่ป่วยรุนแรงจนต้องนอนรักษาตัวในโรงพยาบาลจะสูงถึง 50-70%

แต่โอกาสเกิดปัญหา Long COVID ในคนที่ติดเชื้อแต่ได้วัคซีนมาก่อน จะอยู่ราว 10-12%

งานวิจัยทั่วโลกที่ติดตามผู้ป่วย Long COVID เพื่อประเมินดูว่าอาการคงค้างจะคงอยู่ยาวนานเพียงใดนั้น

งานวิจัยชิ้นหนึ่งชี้ให้เห็นว่าส่วนใหญ่อาจดีขึ้นได้ภายใน 12 เดือน แต่งานวิจัยนี้มีจุดอ่อนเกี่ยวกับวิธีการศึกษาอยู่มาก โดยมีงานวิจัยชิ้นอื่นๆ ที่เผยแพร่เมื่อไม่นานมานี้ ชี้ให้เห็นว่า มีผู้ป่วย Long COVID ราว 1 ใน 3 ที่รายงานว่าอาการไม่ดีขึ้น ณ 22 เดือน (หรือเกือบ 2 ปี) โดยที่มีผู้ป่วยเพียง 9% ที่รายงานว่าสุขภาพแข็งแรงเป็นปกติ

สำหรับกลไกที่อธิบายสาเหตุที่ทำให้เกิดความผิดปกติในผู้ป่วย Long COVID นั้น ความรู้ในปัจจุบันพบว่า สามารถตรวจพบชิ้นส่วนของไวรัสที่คงค้างอยู่ในเลือดและอวัยวะต่างๆ, มีความผิดปกติของระบบฮอร์โมนและระบบประสาทอัตโนมัติที่ควบคุมการทำงานของอวัยวะต่างๆ ของร่างกาย, เกิดการกระตุ้นไวรัสที่ติดเชื้อแฝงในร่างกาย, และการกระตุ้นให้เกิดการทำงานของเกล็ดเลือดให้มากผิดปกติ รวมถึงเกิดลิ่มเลือดเล็กๆ ที่นำไปสู่การอุดตันของหลอดเลือดและส่งผลต่อการทำงานของอวัยวะต่างๆ ในเวลาต่อมา

...ด้วยความรู้ปัจจุบัน พิสูจน์ให้เห็นว่า Long COVID is real

โดยที่ยังไม่มีวิธีรักษามาตรฐาน

การป้องกันที่ดีที่สุดคือ การป้องกันตัวไม่ให้ติดเชื้อ หรือคนที่เคยติดแล้วแต่หายดี ก็ควรป้องกันตัวไม่ให้ติดซ้ำ

การฉีดวัคซีนให้ครบเข็มกระตุ้น จะช่วยลดเสี่ยงต่อการป่วยรุนแรง และ Long COVID ได้ด้วย

อย่างไรก็ตาม ควรตระหนักเสมอว่า การติดเชื้อแต่ละครั้ง แม้ฉีดวัคซีนแล้ว ก็ยังป่วยได้ ป่วยรุนแรงได้ ตายได้ และเสียงต่อ Long COVID ได้

ความใส่ใจสุขภาพ ป้องกันตัวอย่างเป็นกิจวัตร จึงมีความสำคัญ

ลดละเลี่ยงพฤติกรรมเสี่ยง สถานที่เสี่ยง

การใส่หน้ากากอย่างถูกต้อง จะช่วยลดความเสี่ยงลงไปได้มาก ทั้งโควิด-19 และ PM2.5

อ้างอิง

1. COVID-19 Vaccination Insights Report. WHO/GAVI/UNICEF. 27 March 2023.

2. Putrino D. Health Affairs. 29 March 2023.