สภาอุตฯสะท้อนเสียงภาคเอกชนอยากให้รัฐบาลใหม่ดำเนินการใน 90 วันแรก เสนอปัญหา 5 ด้าน ราคาพลังงานและค่าไฟฟ้าแพง ต้นทุนวัตถุดิบแพง ต้นทุนทางการเงิน ปัญหาแรงงาน และการทุจริตคอร์รัปชั่น

     
เมื่อวันที่ 29 มี.ค.66 นายมนตรี มหาพฤกษ์พงศ์ รองประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย(ส.อ.ท.) เปิดเผยผลการสำรวจ FTI Poll ครั้งที่ 27 ในเดือนมี.ค.66 ภายใต้หัวข้อ สิ่งที่อยากให้รัฐบาลใหม่ดำเนินการใน 90 วันแรก พบว่า สิ่งที่ผู้บริหารส.อ.ท. อยากให้รัฐบาลใหม่ที่จะเข้ามาบริหารประเทศ เร่งดำเนินการภายใน 90 วันแรกของการทำงาน โดยการสำรวจความเห็นครั้งนี้ได้แบ่งตามปัญหา 5 ด้าน ที่เกี่ยวข้องกับการประกอบการของภาคอุตสาหกรรมในปัจจุบัน ได้แก่ ปัญหาราคาพลังงานและค่าไฟฟ้าแพง ปัญหาต้นทุนวัตถุดิบแพง ปัญหาต้นทุนทางการเงิน ปัญหาแรงงาน และปัญหาทุจริตคอร์รัปชั่น ซึ่งในแต่ละเรื่องมีข้อเสนอที่ผู้บริหารส.อ.ท. ส่วนใหญ่ให้ความสำคัญเลือกสูงสุดดังนี้ 1.ปรับปรุงโครงสร้างราคาพลังงานทั้งระบบ เช่น ค่าไฟฟ้า น้ำมันเชื้อเพลิง ก๊าซธรรมชาติ รวมทั้งปรับสัดส่วนเชื้อเพลิงที่นำมาผลิตไฟฟ้าให้สมดุล 2.ทบทวนปรับลดโครงสร้างอัตราภาษีนำเข้าในกลุ่มสินค้าวัตถุดิบที่ไม่กระทบต่อผู้ผลิตในประเทศ 3.ออกมาตรการช่วยลดภาระต้นทุนการผลิตให้แก่ SMEs ที่อยู่ในระบบภาษี เช่น ลดค่าน้ำ ค่าไฟฟ้า ลดค่าธรรมเนียมต่างๆ เป็นต้น 4.สนับสนุนระบบการจ่ายค่าจ้างแรงงานตาม ทักษะฝีมือ (Pay by Skill) และรัฐปรับปรุงระบบสวัสดิการแรงงานเพื่อลดค่าใช้จ่ายให้กับแรงงาน 5.ปรับปรุงกฎหมายลำดับรองที่เกี่ยวข้องกับการอนุมัติอนุญาตภาครัฐ และที่เป็นอุปสรรคต่อการประกอบธุรกิจ รวมทั้งยกเลิกกฎหมายที่ล้าสมัย
   
  ทั้งนี้ ส.อ.ท.ได้มีการนำเสนอผลสำรวจ FTI Poll นี้ ให้แก่ผู้แทนพรรคการเมืองทั้ง 9 พรรค ที่เข้าร่วมเสวนา วิสัยทัศน์การขับเคลื่อนภาคอุตสาหกรรมไทย ในการประชุมสามัญ ส.อ.ท. ประจำปี 2566 พร้อมทั้งได้ส่งมอบรายงานข้อเสนอแนะต่อภาครัฐเพื่อบรรเทาผลกระทบต่อผู้ประกอบการจากปัญหาเงินเฟ้อและต้นทุนการผลิตที่เพิ่มขึ้น ซึ่งเป็นการสะท้อนความเห็นและข้อเสนอแนะในการแก้ไขปัญหาให้กับภาคอุตสาหกรรม และเป็นการบ้านสำคัญให้กับพรรคการเมืองที่จะเข้ามาบริหารประเทศในอนาคตต่อไป
  
   จากการสำรวจผู้บริหาร ส.อ.ท. (CEO Survey) จำนวน 427 ท่าน ครอบคลุมผู้บริหารจาก 45 กลุ่มอุตสาหกรรม และ 76 สภาอุตสาหกรรมจังหวัด มีสรุปผลการสำรวจ FTI Poll ครั้งที่ 27 จำนวน 5 คำถาม ดังนี้ 1.การแก้ปัญหาพลังงาน และค่าไฟฟ้าแพง โดยผู้ตอบแบบสอบถามส่วนใหญ่ 77.8% เห็นว่าควรปรับปรุงโครงสร้างพลังงานทั้งระบบ เช่น ค่าไฟ น้ำมัน ก๊าซธรรมชาติ รวมทั้งลดสัดส่วนเชื้อเพลิงที่นำมาผลิตไฟฟ้าให้สมดุล รองลงมาเห็นว่าขอให้ลดค่าไฟฟ้าผันแปร (Ft) งวด ก.ย.- ธ.ค.66 เพื่อลดภาระผู้ประกอบการ 70.0% ขอให้ตั้งคณะกรรมการร่วมภาครัฐและภาคเอกชน (กรอ.พลังงาน) เพื่อให้เอกชนร่วมแก้ปัญหาพลังงาน 50.6% ขอให้เอกชนขายไฟฟ้าส่วนที่เกินจากการใช้งานผ่านระบบส่งหรือจำหน่ายของการไฟฟ้าฯ และมีระบบหักลบหน่วยใช้ไฟฟ้าที่ขายคืนการไฟฟ้าฯ เข้าระบบ (Net Metering) 49.6% และขอให้ปลดล็อกเงื่อนไขผลิตไฟฟ้าให้สามารถมีกำลังการผลิตไฟฟ้าได้เกิน 1 เมกะวัตต์ โดยไม่ต้องขอใบอนุญาตโรงงาน (รง.4) 43.8% 

       2.การแก้ปัญหาต้นทุนวัตถุดิบแพงและการสร้าง Supply Chain Security ผู้ประกอบการส่วนใหญ่เห็นว่าควรทบทวนโครงสร้างภาษีนำเข้ากลุ่มสินค้าวัตถุดิบที่ไม่กระทบต่อผู้ผลิตในประเทศ 65.3% ขอให้ลดขั้นตอน และค่าธรรมเนียมศุลกากร และส่งเสริมการใช้งานแพลตฟอร์มการค้าดิจิทัลระหว่างประเทศของไทย เช่น National Digital Trade Platform (NTDP) 58.3% ขอให้จัดทำแผนพัฒนา และรองรับการหยุดชะงักของห่วงโซ่อุปทาน (Supply Chain Disruption) โดยเฉพาะสินค้าจำเป็นของประเทศ 54.6% ขอให้เร่งภาครัฐจัดซื้อจัดจ้างสินค้า และบริการที่เป็นมิตรสิ่งแวดล้อม หรือสินค้าที่สามารถหมุนเวียนเอาทรัพยากรมาใช้ให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุดตามหลักการ Circular Economy 49.6% และขอให้ผ่อนผันมาตรการควบคุมนำเข้าวัตถุดิบที่ขาดแคลนชั่วคราว เพื่อไม่ให้ต้นทุนการผลิตสินค้าสูงขึ้น 41.7%
    
   3.การแก้ปัญหาต้นทุนทางการเงินในภาคธุรกิจ โดยผู้ประกอบการส่วนใหญ่เห็นว่าควรออกมาตรการลดภาระต้นทุนการผลิตให้ SME ที่อยู่ในระบบภาษี เช่น ลดค่าน้ำ ค่าไฟ ลดค่าธรรมเนียมต่างๆ 60.0% ขอให้ปรับเงื่อนไขขอรับส่งเสริมการลงทุน SME ให้สะดวก และง่ายขึ้น รวมทั้งเพิ่มสิทธิประโยชน์ใหม่ 59.5% ขอให้ออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ และเพิ่มกำลังซื้อให้ประชาชน 58.3% ขอให้สถาบันการเงินของรัฐปล่อยสินเชื่อ Supply Chain Finance ดอกเบี้ยต่ำ เพื่อเสริมสภาพคล่องในการดำเนินธุรกิจให้กับ SME 55.0% และขอให้ปรับปรุงหลักเกณฑ์กองทุนที่รัฐจัดเก็บจากเอกชนให้สามารถนำมาใช้ประโยชน์สำหรับภาคธุรกิจ 46.1%
    
   4.การแก้ปัญหาแรงงาน โดยผู้ประกอบการส่วนใหญ่ขอให้สนับสนุนจ่ายค่าจ้างตามทักษะ (Pay by Skill) และรัฐปรับปรุงระบบสวัสดิการแรงงานเพื่อลดค่าใช้จ่ายให้แรงงาน 65.8% ขอให้จัดงบพัฒนา Up-skill , Re-skill , Multi-skill , Future-skill ให้กับบุคลากรอย่างเหมาะสมกับธุรกิจยุคใหม่ 65.1% ขอให้กำหนดให้การเพิ่มผลิตภาพแรงงานเป็นวาระแห่งชาติ (Labour Productivity) เพื่อให้เกิดการบูรณาการการพัฒนาบุคลากรจากทุกภาคส่วน 63.0% ขอให้พัฒนาระบบฐานข้อมูล Big Data เพื่อวางแผนพัฒนากำลังคนทั้งด้านอุปสงค์ และอุปทาน 48.5% และขอให้กำหนดค่าจ้างขั้นต่ำผ่านกลไกคณะกรรมการค่าจ้างกลาง และอนุกรรมการค่าจ้างจังหวัด 46.1%
     
  5.ด้านการแก้ปัญหาคอร์รัปชัน ผู้ประกอบการส่วนใหญ่ 74.7% เห็นว่าควรปรับปรุงกฎหมายลำดับรองที่เกี่ยวข้องกับการอนุมัติอนุญาตของภาครัฐ และที่เป็นอุปสรรคต่อการประกอบธุรกิจ รวมทั้งยกเลิกกฎหมายที่ล้าสมัย ขอให้ปรับปรุงกระบวนการจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐให้เป็นระบบอิเล็กทรอนิกส์เพื่อแก้ปัญหาการฮั้วประมูล 62.1% ขอให้ปรับรูปแบบจากระบบการขออนุมัติอนุญาตจากหน่วยงานภาครัฐ มาเป็นการรายงานผลการปฏิบัติตามกฎหมายและตรวจติดตามผล 58.3% ขอให้เร่งหน่วยงานภาครัฐปรับการทำงานให้สอดคล้อง พ.ร.บ.การปฏิบัติราชการทางอิเล็กทรอนิกส์ 55.5% และขอให้ขยายผลการจัดทำข้อตกลงคุณธรรมในการจัดซื้อจัดจ้างทุกระดับ เพื่อเปิดให้เอกชนมีส่วนร่วมเข้าไปสังเกตการณ์ และตรวจสอบ 52.5%