วันที่ 29 มี.ค.2566 ที่สำนักการศึกษา เขตคลองสาน นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าฯกทม. กล่าวภายหลังดำเนินกิจกรรมผู้ว่าฯสัญจร สำนักการศึกษา ว่า เพื่อช่วยลดความเหลื่อมล้ำของเมือง กทม.เน้นสำนักการศึกษา สำนักอนามัย สำนักการแพทย์ โดยเฉพาะสำนักการศึกษา ปัจจุบัน กทม.รับผิดชอบนักเรียนในสังกัดประมาณ 250,000 คน เท่ากับสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) กระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) และยังมีโรงเรียนเอกชน ที่ดูแลนักเรียนอีกประมาณ 3 แสนคน รวมทั้งหมดมีนักเรียนประมาณ 1 ล้านคนในกรุงเทพมหานคร
ทั้งนี้ กทม.เน้นส่งเสริมด้านการเรียนดี ประกอบด้วย 6 มาตรการ คือ 1.สร้างบริการขั้นพื้นฐานให้กับนักเรียนทั่วไปและนักเรียนพิเศษอย่างทั่วถึง เช่น ค่าอาหาร และตำราความรู้ต่างๆ 2.พัฒนาคุณภาพการเรียนรู้ให้ทันสมัย ตอบโจทย์ความต้องการในอนาคต 3.เปิดโรงเรียนแห่งการเรียนรู้ เพื่อพัฒนาการเรียนหลายรูปแบบมากขึ้น 4.พัฒนาพื้นที่นวัตกรรม สร้างต้นแบบ 58 โรงเรียน 5.ปลดล็อกข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา เพื่อให้มีเวลาอยู่กับนักเรียนมากขึ้น เช่น นำบุคลากรด้านธุรการมาช่วย ปรับกระบวนการขอวิทยฐานะให้สะดวกมากขึ้น 6.พัฒนาเทคโนโลยีทางการศึกษาให้เข้มแข็งขึ้น อย่างไรก็ตาม ทั้ง 6 ด้าน กทม.ได้ดำเนินการทุกด้านและเห็นความเปลี่ยนแปลงอย่างชัดเจน
ด้านนายศานนท์ หวังสร้างบุญ รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร กล่าวว่า ด้านสวัสดิการพื้นฐาน กทม.ดำเนินการ เช่น เรื่องค่าอาหารเช้า อาหารกลางวัน เน้นสลัดบาร์ 3 วันต่อสัปดาห์ ค่าชุดนักเรียน ค่าผ้าอนามัยฟรี โดยปีงบประมาณ 2567 ตั้งเป้าให้นักเรียนทั้งหมด 18,000 คน เฉลี่ย 1 คนต่อผ้าอนามัย 3 ชิ้นต่อวัน รวมถึงการปรับหลักสูตรตามสมรรถนะให้สอดคล้องกับทักษะจำเป็นในศตวรรษที่ 21 ประกอบด้วย 1.เพิ่มโรงเรียนสอนภาษา 5 โรงเรียน สอนภาษาต่างๆ เช่น อังกฤษ จีน รวม 5 วิชา 2.อบรมเพิ่มความสามารถครูคนไทยที่สอนภาษาอังกฤษทั้ง 437 โรงเรียนในสังกัด กทม.เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการสอน 3.เพิ่มการเรียนภาษาจากครูต่างชาติผ่านระบบออนไลน์และเทคโนโลยี 4.เพิ่มการเรียนรู้แบบเปิด โดยในปี 2567 ตั้งเป้านำหลักสูตรโรงเรียนวันเสาร์ที่เริ่มนำร่องไว้ 50 โรงเรียน มาบรรจุเป็นหลักสูตรหลักในโรงเรียนสังกัด กทม.ทั้งหมด 5.จากการนำโรงเรียนในสังกัดกทม. 58 โรงเรียน เข้าร่วมโครงการพื้นที่นวัตกรรมการศึกษาร่วมกับสำนักงานศึกษาธิการจังหวัด พบว่า มี 19 โรงเรียนสนใจด้านอาชีพ รองลงมาคือ English Program รวมถึงเรื่องปฐมวัยและเทคโนโลยีตามลำดับ กทม.จะนำไปปรับหลักสูตรและขยายผลให้เหมาะสมกับนักเรียนต่อไป 6.ร่วมกับกูเกิล เปิดโอกาสให้นักเรียนมีส่วนร่วมกับการเรียนรู้ ผ่านเครื่องมือและเทคโนโลยีต่างๆ ปัจจุบันนำร่องแล้ว 1 โรงเรียน และในปี 2567 จะขยายเพิ่มเป็น 11 โรงเรียน 7.พัฒนาระบบอินเตอร์เน็ตในห้องคอมพิวเตอร์ทุกโรงเรียนในสังกัด กทม.ให้ครบภายในเดือน ก.ย.66 8.เพิ่มครู เพิ่มทุนเอราวัณ พัฒนาโครงการครูคืนถิ่น รวมถึงการปรับขบวนการปรับวิทยฐานะให้คล่องตัวขึ้น เพื่อลดปัญหาขาดแคลนครู 9.การปรับด้านกายภาพโรงเรียนทั้ง 50 เขต ตามปีงบประมาณ 2567