วันที่ 29 มี.ค.66 รศ.นพ.ธีระ วรธนารัตน์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊ก Thira Woratanarat ระบุข้อความว่า... 

 

เมื่อวานทั่วโลกติดเพิ่ม 61,977 คน ตายเพิ่ม 242 คน รวมแล้วติดไป 683,452,958 คน เสียชีวิตรวม 6,827,884 คน

5 อันดับแรกที่ติดเชื้อสูงสุดคือ ฝรั่งเศส เกาหลีใต้ รัสเซีย ญี่ปุ่น และชิลี

เมื่อวานนี้จำนวนติดเชื้อใหม่มีประเทศจากยุโรปและเอเชียครอง 8 ใน 10 อันดับแรก และ 16 ใน 20 อันดับแรกของโลก

จำนวนติดเชื้อใหม่ในแต่ละวันของทั่วโลกตอนนี้ มาจากทวีปเอเชียและยุโรป รวมกันคิดเป็นร้อยละ 91.03 ของทั้งโลก ในขณะที่จำนวนการเสียชีวิตคิดเป็นร้อยละ 87.6

...อัพเดตเรื่องแนวทางการฉีดวัคซีนจาก WHO

เมื่อคืนนี้ ทางองค์การอนามัยโลก ได้เผยแพร่สรุปรายงานการประชุมของ Strategic Advisory Group of Experts on Immunization (SAGE) ในช่วง 20-23 มีนาคมที่ผ่านมา

สาระสำคัญเกี่ยวกับคำแนะนำในการฉีดวัคซีนโควิด-19 สำหรับสถานการณ์ปัจจุบันมีดังนี้

กลุ่มที่มีความเสี่ยงสูง ได้แก่ ผู้สูงอายุ, คนที่มีโรคประจำตัวคือ เบาหวาน และโรคหัวใจ, คนที่มีภูมิคุ้มกันบกพร่อง เช่น เอชไอวี ผู้ป่วยที่ได้รับการปลูกถ่ายอวัยวะ, เด็กอายุตั้งแต่ 6 เดือนขึ้นไป, สตรีที่ตั้งครรภ์, และบุคลากรทางการแพทย์ที่ทำงานด่านหน้า

คำแนะนำ: ควรได้รับวัคซีนเข็มกระตุ้น หลังจากที่ฉีดเข็มสุดท้ายไป 6-12 เดือน โดยระยะเวลาการฉีดเข็มกระตุ้นนั้นให้พิจารณาตามปัจจัยเสี่ยง เช่น อายุ ระบบภูมิคุ้มกัน

ทั้งนี้เด็กเล็กๆ อายุน้อยกว่า 6 เดือนลงมานั้น หากติดเชื้อจะมีโอกาสป่วยรุนแรงได้ ดังนั้นจึงแนะนำให้สตรีที่ตั้งครรภ์ได้รับวัคซีน โดยระหว่างตั้งครรภ์นั้นหากเข็มสุดท้ายได้รับไปเกิน 6 เดือนก็ควรได้รับเข็มกระตุ้น เพื่อป้องกันทั้งแม่และลูก

ส่วนกลุ่มประชากรอื่นๆ ที่แข็งแรงดีนั้น ควรได้รับการฉีดวัคซีนสองเข็มแรกและได้รับเข็มกระตุ้นอย่างน้อย 1 เข็ม

...บทเรียนโควิด-19 ในสายตาของ Anthony Fauci

จากปาฐกถาที่ Georgetown University ประเทศสหรัฐอเมริกา เมื่อเย็นวันจันทร์ที่ผ่านมา Dr.Anthony Fauci ได้เล่าถึงบทเรียนในมุมมองของเขา สาระสำคัญดังนี้

1. ไม่ควรประมาท แต่ควรเตรียมพร้อมเสมอที่จะรับมือกับสิ่งที่ไม่คาดคิด

2. ควรตัดสินใจดำเนินมาตรการทางด้านสาธารณสุขเพื่อควบคุมป้องกันโรคตั้งแต่เนิ่นๆ และทำอย่างรวดเร็วทันเวลา

3. ความร่วมมือระหว่างประเทศต่างๆ ทั่วโลก และการแชร์ข้อมูลแก่กัน เป็นเรื่องจำเป็นอย่างยิ่ง

4. ควรประยุกต์ใช้โครงสร้างพื้นฐานที่มีอยู่เดิมเพื่อให้สามารถดำเนินการศึกษาวิจัยได้อย่างรวดเร็ว

5. ความรู้ทางวิทยาศาสตร์ที่มีอยู่เดิมนั้นช่วยให้สามารถคิดค้นวิธีการควบคุมป้องกันโรคได้อย่างรวดเร็วขึ้น

6. การรับมือโรคระบาดทั่วโลกนั้นสามารถทำได้ทั้งแนวทางการจัดการเชื้อโรคชนิดนั้น (Priority pathogen approach) และแนวทางการวางแผนจัดการเชื้อโรคแบบทั้งกลุ่ม (Prototype pathogen approach)

7. ควรให้ความสำคัญกับความสัมพันธ์ระหว่างคนและสัตว์ เพราะจะเกี่ยวข้องกับการแพร่ระบาดของโรค

8. ความไม่เป็นธรรมทางด้านสังคมและสุขภาพที่มีมาอย่างยาวนานนั้นส่งผลต่อสถานการณ์โรคระบาดของทั่วโลก

9. การเผยแพร่ข้อมูลลวงโลกนั้นถือเป็นศัตรู เป็นอุปสรรคต่อการควบคุมป้องกันโรค

10. สำหรับโรคโควิด-19 นั้น มันยังไม่จบ จนกว่ามันจะจบจริง

...สำหรับไทยเรา ควรใช้ชีวิตอย่างมีสติ ป้องกันตัวอย่างสม่ำเสมอ

ปรับสภาพแวดล้อมรอบตัวเรา ที่บ้าน ที่ทำงาน ที่เที่ยว ที่กินดื่ม ให้มีการระบายอากาศให้ดี

การใส่หน้ากากอย่างถูกต้องจะช่วยลดความเสี่ยงลงไปได้มาก

จดจำบทเรียนวิกฤติและความสูญเสียที่เกิดขึ้นในช่วงที่ผ่านมา เชื่อในสิ่งที่ควรเชื่อ ทำในสิ่งที่ควรทำ ใช้ความรู้ที่ถูกต้องเพื่อประกอบการตัดสินใจประพฤติปฏิบัติในชีวิตประจำวัน ไม่หลงต่อกิเลสและคำลวง

โควิด-19 ยังไม่จบ

ติดเชื้อแต่ละครั้ง ป่วยได้ รุนแรงได้ ตายได้ และเสี่ยงต่อ Long COVID

ความใส่ใจสุขภาพเป็นหัวใจสำคัญที่จะประคับประคองให้เราปลอดภัยไปด้วยกัน ทั้งตัวเรา ครอบครัว และสังคม

อ้างอิง

1. SAGE updates COVID-19 vaccination guidance. WHO. 28 March 2023.

2. Fauci A. The Maloy Distinguished Lecture in Global Health. Geogetown University. 27 March 2023.