ศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบภาค 4 พิพากษาอดีตนายกเทศบาลตำบลในจังหวัดกาฬสินธุ์ กรณีเรียกรับเงินจากผู้เสียหายอีก 1 ราย ขณะที่สำนักงาน ป.ป.ช.ประจำจังหวัดกาฬสินธุ์ รายงานผลการดำเนินภารกิจด้านการปราบปรามทุจริต ตรวจสอบเบื้องต้น 106 เรื่อง และเรื่องไต่สวน 43 เรื่อง 

วันที่ 28 มีนาคม 2566 ที่ห้องประชุมฟ้าแดดสงยาง ศาลากลาง จ.กาฬสินธุ์ ชั้น 2 นายปราชญา อุ่นเพชรวรากร รอง ผวจ.กาฬสินธุ์ เป็นประธานแถลงผลการดำเนินงานของคณะผลักดันการดำเนินงานตามแผนแม่บทภายใต้ยุทธศาสตร์ชาติ ประเด็นการต่อต้านการทุจริตและประพฤติมิชอบ จ.กาฬสินธุ์ และสำนักงาน ป.ป.ช. ประจำ จ.กาฬสินธุ์ ไตรมาสที่ 2 (มกราคม-มีนาคม 2566) โดยมีว่าที่ร้อยตรี สมบูรณ์ หัสดม ผู้อำนวยการสำนักงาน ป.ป.ช.ประจำ จ.กาฬสินธุ์ พร้อมด้วยผู้มีส่วนเกี่ยวข้อง ร่วมประชุมอย่างพร้อมเพรียง

นายปราชญา อุ่นเพชรวรากร รอง ผวจ.กาฬสินธุ์ กล่าวว่า ในการแถลงผลการดำเนินงานของคณะผลักดันการดำเนินงานตามแผนแม่บทภายใต้ยุทธศาสตร์ชาติ ประเด็นการต่อต้านการทุจริตและประพฤติมิชอบ จ.กาฬสินธุ์ และสำนักงาน ป.ป.ช. ประจำ จ.กาฬสินธุ์ ไตรมาสที่ 2 ครั้งนี้ ประกอบด้วยผลการดำเนินงานภารกิจด้านการป้องกันการทุจริต  จำนวน 7 โครงการ เช่น โครงการแก้ไขปัญหาการทุจริตในพื้นที่ กิจกรรมการเสริมสร้างองค์ความรู้การจัดซื้อจัดจ้างแก่บุคลากรทางการศึกษา การขับเคลื่อนการประเมินคุณธรรมและความโปร่งใสในการดำเนินงานของหน่วยงานภาครัฐ (ITA) โดยมีการนิเทศติดตามผล การลงพื้นที่เก็บข้อมูลผู้มีส่วนได้ส่วนเสียภายนอก (EIT) ขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น 

นอกจากนี้ ยังมีการสร้างเครือข่ายภาคประชาชนเฝ้าระวังการทุจริต ภายใต้โครงการ STRONG – จิตพอเพียงต้านทุจริต จ.กาฬสินธุ์ โดยการจัดตั้งเครือข่ายชมรมฯ และสร้างเครือข่ายเฝ้าระวังการทุจริต ครบ 18 อำเภอ การเปิดศูนย์ให้คำปรึกษาในการปฏิบัติงานด้านการเงิน การคลัง ภายใต้ชื่อ “คลินิกสุจริต STRONG Mobile Clinic” แก้ปัญหาเจ้าหน้าที่รัฐถูกร้องเรียนทุจริต การเฝ้าระวังการทุจริตในการดำเนินโครงการต่างๆ ตามคำขอรับการจัดสรรงบประมาณรายจ่าย ประจำปี เพื่อกรณีฉุกเฉิน หรือจำเป็นเพื่อก่อสร้าง/ปรับปรุงซ่อมแซมถนน ที่อยู่ในความรับผิดชอบขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น  การติดตามเรื่องที่ได้รับแจ้งจากศูนย์ป้องปรามการทุจริตแห่งชาติ 

ด้านว่าที่ร้อยตรีสมบูรณ์ หัสดม ผู้อำนวยการสำนักงาน ป.ป.ช.ประจำ จ.กาฬสินธุ์ กล่าวว่า ในส่วนผลการดำเนินงานภารกิจด้านการปราบปรามการทุจริต มีเรื่องตรวจสอบเบื้องต้น จำนวน 106 เรื่อง ดำเนินการแล้วเสร็จ จำนวน 15 เรื่อง คงเหลือเรื่องตรวจสอบเบื้องต้นที่อยู่ระหว่างการดำเนินการ จำนวน 91 เรื่อง ขณะที่เรื่องไต่สวนในความรับผิดชอบ จำนวน 43 เรื่อง ดำเนินการแล้วเสร็จจำนวน 8 เรื่อง และคงเหลือเรื่องไต่สวนที่อยู่ระหว่างการดำเนินกานจำนวน 35 เรื่อง

ว่าที่ร้อยตรีสมบูรณ์ กล่าวอีกว่า สำหรับเรื่องที่คณะกรรมการ ป.ป.ช. มีมติชี้มูลความผิดและรายงานความเคลื่อนไหวคดีในรอบไตรมาสนี้จำนวน 1 เรื่อง กรณีคณะกรรมการ ป.ป.ช. ได้มีมติชี้มูลความผิดอดีตนายกเทศมนตรีตำบลแห่งหนึ่ง ใน อ.ห้วยเม็ก จ.กาฬสินธุ์ ในการประชุมครั้งที่ 892-63/2560 ลงวันที่ 17 สิงหาคม 2560 ซึ่งการกระทำของอดีตนายกเทศมนตรีคนดังกล่าวเป็นการปฏิบัติการฝ่าฝืนต่อความสงบเรียบร้อยหรือสวัสดิภาพของประชาชน ละเลย ไม่ปฏิบัติตามหรือปฏิบัติการไม่ชอบด้วยอำนาจหน้าที่ หรือมีความประพฤติในทางจะนำมาซึ่งความเสื่อมเสียแก่ศักดิ์ตำแหน่ง หรือแก่เทศบาล หรือแก่ราชการตาม พรบ. เทศบาล พ.ศ.2496 และที่แก้ไขเพิ่มเติมมาตรา 73 และมีมูลความผิดทางอาญาฐานเป็นเจ้าพนักงาน เรียก รับ หรือยอมจะรับทรัพย์สิน หรือประโยชน์อื่นใดสำหรับตนเองหรือผู้อื่นโดยมิชอบ เพื่อกระทำการหรือไม่กระทำการอย่างใดในตำแหน่ง ไม่ว่าการนั้นจะชอบหรือมิชอบด้วยหน้าที่ และฐานเป็นเจ้าพนักงานปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ เพื่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้หนึ่งผู้ใด หรือปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยทุจริตตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 149 และมาตรา 157

ว่าที่ร้อยตรีสมบูรณ์ กล่าวเพิ่มเติมว่า ล่าสุด ศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบภาค 4 ได้มีคำพิพากษาเมื่อวันที่ 30 กันยายน 2565 ว่าจำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 149 (เดิม) จำคุก 5 ปี และปรับ 4,000 บาท จำเลยให้การรับสารภาพ เป็นประโยชน์แก่การพิจารณา มีเหตุบรรเทาโทษลดโทษให้กึ่งหนึ่งตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 78 คงจำคุก 2 ปี 6เดือน และปรับ 2,000 บาท พิเคราะห์พฤติการณ์แห่งคดีแล้ว เห็นว่าขณะกระทำความผิดจำเลยมีตำแหน่งเป็นนายกเทศมนตรี ได้อาศัยโอกาสในตำแหน่งหน้าที่เรียกรับเงินจากผู้เสียหาย เพื่อตอบแทนในการที่จำเลยจะดำเนินการช่วยเหลือทางวินัยให้แก่ผู้เสียหาย 

อย่างไรก็ตาม แม้พฤติการณ์แห่งคดีจะเป็นเรื่องร้ายแรง แต่หลังเกิดเหตุจำเลยมีอาการเจ็บป่วยถึงขั้นมีการผ่าตัดสมอง เนื่องด้วยเส้นเลือดในสมองแตก จำเลยจึงต้องได้รับการดูแลทั้งจากแพทย์และญาติพี่น้องอยู่ตลอดเวลา การจำคุกจำเลยจึงไม่ประโยชน์ อีกทั้งไม่ปรากฏว่าจำเลยเคยได้รับโทษจำคุกมาก่อน เห็นควรให้โอกาสจำเลยได้พักรักษาตัวต่อไป โทษจำคุกให้รอการลงโทษไว้มีกำหนด 2 ปี ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 56 ทั้งนี้ การชี้มูลความผิดทางอาญา ของคณะกรรมการ ป.ป.ช.ยังไม่ถือเป็นที่สุด ผู้ถูกกล่าวหายังเป็นผู้บริสุทธิ์ จนกว่าจะมีคำพิพากษาอันถึงที่สุด