สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) นำโดยนายเกรียงไกร เธียรนุกุล ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย ชูแนวคิดขับเคลื่อนภาคอุตสาหกรรมไทยในอนาคตให้เข้มแข็ง ในการประชุมสามัญประจำปี 2566 ภายใต้แนวคิด "Empowering Thai Industries for Powerful Thailand เสริมสร้างพลังอุตสาหกรรมไทย สู่ประเทศไทยที่แข็งแกร่ง" พร้อมจัดเสวนา “วิสัยทัศน์การขับเคลื่อนภาคอุตสาหกรรมไทย” โดย 9 พรรคการเมือง ณ ห้องประชุม Convention Hall A 22 (ชั้น 22) โรงแรมเซ็นทาราแกรนด์ บางกอก คอนเวนชัน เซ็นเตอร์ แอท เซ็นทรัลเวิลด์

นายเกรียงไกร เธียรนุกุล ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) เปิดเผยว่า “เมื่อโลกมีการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว ประเทศไทยจึงจำเป็นต้องรับมือและปรับตัว โดยเฉพาะภาคอุตสาหกรรม เพื่อขับเคลื่อนเศรษฐกิจให้เดินต่อไปได้ ในฐานะที่ผมเป็นประธานของ ส.อ.ท. ผมพร้อมหลอมรวมความร่วมมือร่วมใจจากทุกภาคส่วนทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน สถาบันการศึกษา องค์กรระหว่างประเทศและภาคประชาสังคมให้เป็นหนึ่งเดียว เพื่อขับเคลื่อนอุตสาหกรรมไทยให้สามารถแข่งขันได้ในตลาดโลก ด้วยการดำเนินงานในวาระปี 2565-2567 นี้ ภายใต้ “ONE FTI” (ONE Vision, ONE Team, ONE Goal)

ทั้งนี้มุ่งเน้นการพัฒนาอุตสาหกรรมเดิม (First Industries) ที่ประกอบด้วย 45 กลุ่มอุตสาหกรรม (11 คลัสเตอร์) 76 สภาอุตสาหกรรมจังหวัด (5 ภาค/คลัสเตอร์จังหวัด) และอุตสาหกรรมใหม่หรืออุตสาหกรรมแห่งอนาคต (Next-GEN Industries) ที่ประกอบด้วย 12 อุตสาหกรรมเป้าหมาย (S-Curves) ไปพร้อมกับการพัฒนาอุตสาหกรรมด้วยโมเดลเศรษฐกิจ BCG ซึ่งเป็นเศรษฐกิจทฤษฎีใหม่ที่ผสมผสานการพัฒนา 3 ด้านหลัก คือ เศรษฐกิจชีวภาพ (Bio Economy) เศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy) และเศรษฐกิจสีเขียว (Green Economy) เพื่อให้เกิดการพัฒนาประเทศในด้านสังคม เศรษฐกิจ ควบคู่ไปกับการรักษาสิ่งแวดล้อมอย่างเป็นรูปธรรม ตลอดจนรับมือกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (Climate Change) ในภาคอุตสาหกรรม และสร้างความร่วมมือไปยังกลุ่มอุตสาหกรรมและสภาอุตสาหกรรมจังหวัด เพื่อนำไปสู่เป้าหมายเดียวกันในการเสริมสร้างความแข็งแกร่งให้อุตสาหกรรมไทย เพื่อประเทศไทยที่เข้มแข็งกว่าเดิม ซึ่งถือเป็นวิสัยทัศน์ในการขับเคลื่อนการดำเนินงานของ ส.อ.ท. ในวาระนี้ครับ”

โดยการจัดประชุมในวันนี้ ถือเป็นโอกาสอันดีที่เพื่อนสมาชิก ส.อ.ท. กว่า 15,000 รายทั่วประเทศ รวมทั้งสื่อมวลชน จะได้ร่วมกิจกรรมต่างๆ ที่น่าสนใจมากมาย อาทิ การชมภาพกิจกรรมของ ส.อ.ท. ในรอบปี 2565 ชมสิทธิพิเศษและโครงการสำคัญต่างๆ ที่ ส.อ.ท. กำลังขับเคลื่อน การแลกเปลี่ยนความเห็นและข้อเสนอแนะผ่านการจัดทำ FTI Poll ในหัวข้อ “สิ่งที่อยากให้รัฐบาลใหม่ดำเนินการใน 90 วันแรก” เพื่อนำไปสู่ความร่วมมือในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจในอนาคต และอีกหนึ่งกิจกรรมที่เรียกได้ว่าเป็นไฮไลท์ของการประชุมสามัญประจำปี 2566 คือ การเสวนาเรื่อง "วิสัยทัศน์การขับเคลื่อนภาคอุตสาหกรรมไทย" โดย 9 พรรคการเมือง ประกอบด้วย 1) นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรคก้าวไกล 2) ผศ.สันติ กีระนันทน์ กรรมการนโยบายและยุทธศาสตร์ พรรคชาติไทยพัฒนา 3) นายสุวัจน์ ลิปตพัลลภ ประธานพรรคชาติพัฒนากล้า 4) นายสุพันธุ์ มงคลสุรี รองหัวหน้าพรรคและประธานคณะกรรมการด้านเศรษฐกิจ พรรคไทยสร้างไทย 5) นายเกียรติ สิทธิ์อมร คณะกรรมการนโยบายเศรษฐกิจ พรรคประชาธิปัตย์ 6) นายอุตตม สาวนายน ประธานคณะกรรมการจัดทำนโยบาย พรรคพลังประชารัฐ 7) นายแพทย์พรหมินทร์ เลิศสุริย์เดช ประธานคณะกรรมการด้านเศรษฐกิจ และประธานคณะกรรมการนโยบายพรรคเพื่อไทย 8) นางสาวภาดาท์ วรกานนท์ ว่าที่ผู้สมัครเขตดินแดง-พญาไท พรรคภูมิใจไทย และ 9) นายสุชาติ ชมกลิ่น กรรมการกำหนดแนวทางและยุทธศาสตร์พรรคการเมือง พรรครวมไทยสร้างชาติ โดยได้รับเกียรติจาก ดร.วิทย์ สิทธิเวคิน จาก The Standard มาร่วมเป็นพิธีกรในช่วงเสวนา 

จากการเสวนา แสดงให้เห็นว่า การสนับสนุนจากภาครัฐด้านนโยบายขับเคลื่อนเศรษฐกิจต้องมีความต่อเนื่อง และภาคเอกชนควรได้เข้าไปมีส่วนร่วมมากขึ้น เพิ่มความอำนวยความสะดวกในการดำเนินธุรกิจ การใช้งบประมาณให้มีประสิทธิภาพ รวมไปถึงการปราบปรามคอรัปชั่นในประเทศไทยให้หมดสิ้น

นอกจากนี้ การประชุมสามัญประจำปี 2566 ครั้งนี้ เป็นกิจกรรมในรูปแบบที่มุ่งสู่ความเป็นกลางทางคาร์บอน หรือที่เรียกว่า "Carbon Neutral Event”  เนื่องจากการเล็งเห็นปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่เริ่มทวีคูณ ในส่วนของรัฐบาลได้ประกาศเป็นนโยบายระดับชาติและมีการดำเนินงานอย่างจริงจังในการลดปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจก สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทยในฐานะหน่วยงานภาคเอกชนที่ส่งเสริมและพัฒนาภาคอุตสาหกรรม จึงพร้อมเดินหน้าดำเนินงานเพื่อสอดรับกับนโยบายของภาครัฐ และขอเป็นส่วนหนึ่งในการลดปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจก

“พวกเราตั้งใจจัดกิจกรรมในรูปแบบนี้ เพื่อแสดงถึงความมุ่งมั่นในการมีส่วนร่วมในการลดก๊าซเรือนกระจกที่นอกจากจะช่วยโลกและประเทศให้รอดพ้นจากผลกระทบการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศแล้ว ยังช่วยเหลือผู้ประกอบการในประเทศ โดยเฉพาะภาคการส่งออกที่ต้องรับมือกับแรงกดดันจากทั้งลูกค้า คู่ค้าและผู้ลงทุนให้ลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกให้ได้ ซึ่งวันนี้เราได้ทำการประเมินปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจก โดยพิจารณาจากข้อมูลที่เกี่ยวข้อง ได้แก่ การเดินทางของผู้เข้าประชุม การใช้ไฟฟ้า พลังงานในการปรุงอาหาร และอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง ซึ่งจากการคำนวณเบื้องต้นจากองค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก (องค์การมหาชน) หรือ อบก. มีปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจกเท่ากับ 122 ตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่า โดยหลังการจัดงานจะมีการคำนวณปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจกที่เกิดขึ้นจริงและทำการชดเชยทั้งหมดอีกครั้ง ทั้งนี้ อบก. รับรองแล้วว่าการประชุมวันนี้ เป็นกลางทางคาร์บอนหรือเรียกว่าเป็น Carbon Neutral Event ครับ”

สำหรับภาคอุตสาหกรรมไทยจะเติบโตขึ้นได้ ก็ต่อเมื่อมีการสนับสนุนและผลักดันสิ่งที่เป็นจุดแข็งของประเทศไทย เพื่อก้าวข้ามความเปลี่ยนแปลงและความท้าทายของโลก โดยในอนาคต จะต้องมีการส่งเสริมอุตสาหกรรมภายในประเทศให้เติบโตด้วยนวัตกรรมและเทคโนโลยีอย่างเต็มรูปแบบ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและเสริมสร้างความแข็งแกร่งให้อุตสาหกรรมไทย เพื่อประเทศไทยที่เข้มแข็งกว่าเดิม