นายไพโรจน์ จันทรอด ผู้อำนวยการเขตหนองจอก เปิดเผยว่า เขตหนองจอกเป็นเขตที่ใหญ่ที่สุดในกรุงเทพฯ มีพื้นที่ประมาณ 240 ตารางกิโลเมตร เป็นหนึ่งใน 7 ของพื้นที่กรุงเทพฯ มีประชากรประมาณ 180,000 คน ประชากร 80% ทำเกษตรกรรมปลูกข้าวเป็นหลัก มีนาข้าวในพื้นที่ประมาณ 50,000 ไร่ ในช่วงฤดูแล้งปลูกแตงโม เพราะเป็นพืชทนแล้งใช้น้ำน้อย ใช้เวลาปลูก 60 วัน สามารถเก็บผลผลิตขายได้ โดยกำหนดปลูกปีละ 1 ครั้ง หลังจากพ้นฤดูแล้งจึงปลูกข้าวสลับกันไป โดยในปีนี้ มีน้ำเพียงพอสำหรับทำการเกษตร เนื่องจากปี 2565 ที่ผ่านมา ฝนตกมากจนทำให้น้ำท่วมระบายไม่ทัน สร้างความเสียหายแก่พื้นที่เกษตรกรรมและถนน แต่ข้อดีคือกรมชลประทานสามารถกักเก็บน้ำไว้ในเขื่อนต่างๆ ได้อย่างเต็มที่ ทำให้ฤดูแล้งปี 2566 มีน้ำใช้เพียงพอ แม้ฝนจะตกน้อยลงกว่าปีที่แล้ว

 

นายไพโรจน์ เปิดเผยว่า จากการสำรวจและสอบถามเกษตรกรในพื้นที่ พบว่า เกษตรกรมีความพอใจกับปริมาณน้ำใช้ในปีนี้อย่างมาก เนื่องจากน้ำมีคุณภาพดี ไม่เสียเกินไป ส่งผลต่อผลผลิตที่ได้ ปัจจุบันมีการขายข้าวอยู่ที่เกวียนละประมาณ 8,500 บาท ถือว่าราคาไม่สูงแต่พออยู่ได้สำหรับเกษตรกร ส่วนแตงโมราคาลูกใหญ่กิโลกรัมละ 8-11 บาท ลูกเล็กราคาลดหลั่นลงไปตามขนาด อย่างไรก็ตาม แตงโมสามารถปลูกได้ตลอดปี แต่เกษตรกรต้องเปลี่ยนแปลงปลูก ไม่ปลูกซ้ำแปลงเดิมถึงจะได้ผลผลิตดี ขึ้นอยู่กับการบริหารจัดการพื้นที่สำรอง ส่วนใหญ่ชาวหนองจอกจะปลูกปีละ 1 ครั้งเท่านั้น นอกจากนี้ยังมีการปลูกเห็ด ถั่วงอก ซึ่งใช้เวลาน้อยสามารถส่งขายได้หลากหลาย ผ่านการส่งเสริมทั้งจากสำนักงานเขตและหน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้องในการประชาสัมพันธ์ การรับซื้อ การหาลูกค้ามาให้

 

นอกจากนี้เขตหนองจอกได้สนับสนุนให้เกษตรกรนำฟางข้าวไปทำปุ๋ยหมักในนาหลังจากเกี่ยวแล้ว เพื่อลดการเผาทำลายก่อเกิดมลพิษ โดยการสูบน้ำเข้านาแล้วแช่ฟางข้าวทิ้งไว้ประมาณ 1-2 เดือน จนฟางเปื่อยกลายเป็นปุ๋ยหมุนเวียนในแปลงเกษตรต่อไป แต่ปัญหาที่พบคือ ต้องสูบน้ำเข้าประมาณ 2 วันต่อ 1 ครั้ง เพื่อไม่ให้น้ำแห้ง ทำให้มีค่าใช้จ่ายเรื่องน้ำมันเครื่องสูบสูงพอสมควร จึงช่วยบรรเทาปัญหาด้วยการส่งเสริมเครื่องอัดฟางจากภาคส่วนเครือข่ายต่างๆ เพื่อให้เกษตรกรนำออกขายสู่ตลาดสร้างรายได้อีกทางหนึ่งทดแทน

 

นายไพโรจน์ กล่าวว่า เขตหนองจอกส่วนใหญ่ทำอาชีพเกษตรกร ดังนั้น น้ำคือหัวใจหลัก หลายปีก่อนเคยประสบปัญหาน้ำแห้งคลอง แต่ปัจจุบันกรมชลประทานเก็บน้ำไว้อย่างเต็มที่จากฤดูฝนปีที่แล้ว ทำให้กรุงเทพมหานครมีน้ำใช้ในภาคการเกษตรไปด้วย เนื่องจากกรุงเทพมหานครไม่มีแหล่งเก็บน้ำในพื้นที่มากพอต่อการทำเกษตรกรรมตลอดปี จึงต้องอาศัยน้ำจากกรมชลประทานซึ่งเก็บไว้ที่เขื่อนต่างๆ ทำให้เกษตรกรในพื้นที่หนองจอกสามารถเลือกปลูกพืชได้หลากหลายมากขึ้น และมั่นใจได้ว่า ปีนี้น้ำไม่แล้งแน่นอน