ชูวิทย์ประกาศลั่นกูไม่กลัวมึง มอบอนันต์ชัยลุยทนายตั้มใส่ร้ายอีกจะฟ้องเรียกกรรมละ 100 ล้าน ขณะที่ทนายตั้มยอมรับจัดโปรออกข่าว 3 แสนจริง หากโทรปรึกษาคดีครั้งละ 1.5 พัน เจอตัวที่ออฟฟิศ 3 พัน ด้านอัจฉริยะร้องกองปราบฯ เอาผิดยกก๊วน ปมถุงเงิน 6 ล้าน เปิดละครตัวใหม่ยศ พล.ต.อ.อักษร ช พาแทนไทพบเฮียชู

     ที่ศาลอาญา ถนนรัชดา เมื่อวันที่ 27 มี.ค.66 เวลา 08.30 น.  นายชูวิทย์ กมลวิศิษฎ์ อดีตนักการเมืองคนดัง พร้อมด้วย ทนายอนันต์ชัย ไชยเดช ให้สัมภาษณ์ถึงกรณี นายษิทรา เบี้ยบังเกิด หรือทนายตั้ม ออกมาแฉรับเงินจากเจ้าของเว็บพนันออนไลน์  โดย นายชูวิทย์ กล่าวว่า การใช้สื่อเป็นเครื่องมือ เมื่อมีอาชีพทนายก็ต้องใช้กฎหมาย เมื่อมีคนเดือดร้อน ไปคิดเงินเขาตอนแถลงข่าว 3 แสนบาท ตนไม่คิดว่าทนายความจะคิดเงินค่าแถลงข่าว ดังนั้นสมาคมทนายความหรือสื่อมวลชนควรจะพิจารณา
     
 นายชูวิทย์ ยังกล่าวว่า เป็นทนายความต้องใช้ความสามารถ ต้องใช้หลักฐาน ใช้พยานแต่ปรากฏว่าอีกฝ่ายใช้การแถลงข่าว นั่นไม่ใช่วิถีของทนายความ บอกว่าตัวเองเป็นทนายประชาชน ส่วนเงินบริจาคจำนวน 6 ล้านบาท ที่ทางโรงพยาบาลคืนมา อยากให้ติดตามว่าวันพรุ่งนี้จะเอาไปให้ใคร
     
  ตอนนี้มีกระบวนการพยายามที่จะมาปิดปากผม มีทั้งทนาย พวกหิวแสง นักร้องเรียน ใครฟ้องมาผมก็จะฟ้องกลับ จะสู้ในทางกฎหมาย ผมพร้อมสู้ทุกทาง เวลาสู้ก็จะไม่ค่อยเหมือนกัน ฝากไปบอกหมาลอบกัด ผมพร้อมจะกัดตอบ กูไม่กลัวมึง
    
 ด้าน ทนายอนันต์ชัย กล่าวถึงกรณีที่ทนายตั้มออกมาแถลงเรื่องนายชูวิทย์รับเงินสีเทากับสื่อว่า เข้าข่ายหมิ่นประมาท  ซึ่งเมื่อวันศุกร์ที่ผ่านมา ทางนายชูวิทย์ได้โทรมาขอร้องให้ตนเองทำคดีทนายตั้ม ได้มาปรึกษาว่าสิ่งที่ทนายตั้มโพสต์นั้นเจ้าข่ายความผิดไรบ้าง จากการพิจารณาเบื้องต้นจะพิจารณา ใน 3 ประเด็น คือ 1.พฤติกรรมดังกล่าวจะความผิดฐานหมื่นประมาทด้วยการโฆษณาหรือมไม่ จะต้อดูที่พฤติกรรม อย่างตอนนี้นายชูวิทย์กำลังเปิดโปงขบวนการ คอร์รัปชั่นและทุนจีนสีเทา แต่กลับถูกออกมาแฉ มองว่ามีส่วนได้ส่วนเสียหรือไม่ ทั้งที่ไม่มีประจักษ์พยาน เป็นเพียงแค่พยานที่กล่าวอ้างเท่านั้น และการที่ทนายตั้มเอารูปที่ถ่ายแค่ถุงเงินมานั้น เป็นการแบล็คเมล์ แต่กลับไม่มีรูปนายชูวิทย์รับเงิน ส่วนจำนวนเงินที่บอกว่า 10 ล้านนั้น ก็ไม่มีใครรู้ว่าจำนวนเงินที่แท้จริงเท่าไร อาจจะถูกดึงไประหว่างทาง แต่ยันว่ามาถึงนายชูวิทย์เพียงแค่ 6 ล้าน ซึ่งตอนนั้นนายชูวิทย์ก็ปฏิเสธไปแล้วแต่ก็ไม่รับคืนจึงเอาไปทำบุญ 
   
  ข้อ 2.พฤติกรรมของทนายตั้มมีผิดมรรยาททนายความ มีการแถลงข่าวที่คลาดเคลื่อน ไม่มีหลักฐาน แต่เป็นการยกข้อมูลขึ้นมาลอยๆ ซึ่งนายชูวิทย์ไปแจ้งร้องสภาทนายความให้ตรวจสอบข้อ3.ทางทนายความได้พูดถึงกรณีที่พ.ต.อ.ศิริวัฒน์  ดีพอ โฆษกกองบัญชาการตำรวจสอบสวนกลาง และผู้บริหาร ปปง. ที่ออกมา ให้สัมภาษณ์กับสื่อมวลชนว่าการนำเงินของนายชูวิทย์ไปบริจาคอาจเข้าข่ายการฟอกเงิน ซึ่งตนมองว่า ไม่ควรให้สัมภาษณ์ในลักษณะชี้นำแบบนั้น ควรจะให้สัมภาษณ์ว่าอยู่ระหว่างการตรวจสอบหรือรวบรวมพยานหลักฐาน ซึ่งการกระทำดังกล่าวจะเข้าข่ายความผิด ม.157 และ ม.200
     
ทนายอนันต์ชัย ยังกล่าวอีกว่า หลังจากนี้จะไม่ให้นายชูวิทย์พูดถึงกรณีทนายตั้มอีกแล้วกับสื่อมวลชน เพื่อจะได้ไม่เสียรูปคดี และขอให้ทุกอย่างเป็นไปตามกระบวนการยุติธรรม ส่วนหากทนายตั้มมีการพูดพาดพิงก็จะฟ้อง กรรมละ 100 ล้านบาท ใช้สติจะมีปัญหา ทำในสิ่งที่ถูกต้องอย่าทำในสิ่งที่ถูกใจ
      
   ทนายอนันต์ชัย กล่าวต่อว่า ตรงกันข้ามที่ทนายตั้มกล่าวหรือชี้ช่องจะดำเนินคดีฟอกเงินกับนายชูวิทย์นั้น เท่ากับทนายตั้มยอมรับข้อเท็จจริงแล้วว่าเงินที่นำมาให้นายชูวิทย์เพื่อปิดปากมิให้แถลงข่าวเปิดโปงสารวัตรซัวเป็นเงินสกปรก เป็นทรัพย์สินที่เกี่ยวกับการกระทำความผิด  บุคคลที่ทนายตั้มกล่าวถึงหรือเจ้าของเงินนั้นจึงเป็นผู้ครอบครอง ใช้เงิน รวมทั้งปกปิดแหล่งที่มาของเงิน ครบองค์ประกอบความผิดฐานฟอกเงิน ตามพ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน พ.ศ.2542 มาตรา 5(1) (2) (3 ) แล้ว บุคคลนั้นๆ ต้องถูกดำเนินคดีในความผิดฐานฟอกเงิน
     
   นับแต่วันนี้เป็นต้นไปคุณชูวิทย์จะไม่ออกมาตอบโต้ทนายตั้มอีก ไม่ใช่กลัวนะครับ แต่ไม่มีประโยชน์ต่อประชาชน คุณชูวิทย์จะใช้กระบวนการยุติธรรมคือศาลพิสูจน์ข้อเท็จจริง และหากทนายตั้มมีการแถลงข่าวหรือให้สัมภาษณ์ใดๆ ในลักษณะใส่ความให้คุณชูวิทย์ได้รับความเสียหายอีก คุณชูวิทย์ก็จะใช้สิทธิทางศาลทั้งทางอาญาและทางแพ่งและเรียกค่าเสียหายทุกครั้งไปครั้ง 100 ล้านบาท
   
  ด้าน นายษิทรา เบี้ยบังเกิด หรือทนายตั้ม แถลงโต้กลับพร้อมเปิดเผยหลักฐานกรณีนายชูวิทย์โพสต์เฟซบุ๊กเป็นภาพใบเสร็จรับเงิน 3 แสนบาท ในชื่อของบริษัทนายษิทรา โดยระบุว่าเป็นค่าแถลงข่าวออกสื่อ และกล่าวหาว่านายษิทรา เป็นตัวแทนเว็บพนันออนไลน์ ว่า ย้อนกลับไปปี 2547 หลังตนเรียนจบเนติบัณฑิตและเป็นทนายความ ได้ให้คำปรึกษาและให้ความรู้ประชาชนทางกฎหมายโดยไม่เสียเงิน และได้ช่วยเหลือครอบครัวหนึ่งก่อนได้รับคำชมว่า สมกับเป็นทนายประชาชน ก่อนจะนำมาทำเสื้อ และตั้งมูลนิธิคอยให้คำปรึกษาและบรรยายข้อกฎหมาย กระทั่งตนมามีชื่อเสียงจากคดีหวย 30 ล้านบาท และคดีของลุงพล ไชยพล วิภา ที่กลายเป็นจุดเปลี่ยนทำให้ตนไม่มีงานเลยเป็นเวลา 6 เดือน จนครอบครัวต้องลำบาก ก่อนเปลี่ยนแนวคิดหันมาทำธุรกิจเปิดบริษัท ษิทราลอว์เฟิร์ม เป็นเวลา 1 ปี มีคดีความนับพันคดี
     
นายษิทรา กล่าวยอมรับว่า มีคดีที่ตนเรียกเก็บเงินจริง แต่ไม่ใช่ทุกคดี เว้นแต่เป็นคดีที่ต้องต่อสู้กับผู้มีอิทธิพล ซึ่งลูกความต้องมีกำลังจ่าย และตนจะถูกฟ้องร้องแน่ โดยเงินดังกล่าวจะไปใช้กับทุกคนที่จะถูกฟ้อง ไม่ใช่เพียงตนเท่านั้น ยกตัวอย่างคดีความขัดแย้งในครอบครัวอดีตรองนายกฯ ยและอีกคดีที่เรียกเก็บเงินคือคดีที่ น.ส.พรรณิการ์ วาณิช โฆษกคณะก้าวหน้า ฟ้องร้องกับพรรคภูมิใจไทย เป็นเงิน 3 แสนบาท จนตนถูกฟ้องร้องต้องเดินทางไปจ.นครพนม 
    
 ดังนั้นจึงคิดค่าแถลงข่าวและการติดตามเรื่องโดยทำในรูปแบบของใบเสนอราคา ซึ่งภาพดังกล่าวที่นายชูวิทย์ โพสต์เป็นเหตุการณ์วันที่ 17 ก.พ.ที่ผ่านมา มีนายตี้ที่เกี่ยวข้องกับเว็บพนันมาปรึกษาตนว่ามีญาติกดโทรศัพท์ตัวเองโอนเงิน 40 ล้านบาท เข้าเว็บพนัน จึงต้องการให้ตนตามเรื่องกับกองบัญชาการตำรวจสืบสวนสอบสวนอาชญากรรมทางเทคโนโลยี(บช.สอท.) แต่เรื่องดังกล่าวเกี่ยวข้องกับนายตำรวจใหญ่ ตนจึงเรียกเงินค่าฟ้องร้อง และเก็บเพิ่มอีก 15 เปอร์เซ็นต์ แต่เรื่องนี้ไม่ได้ตกลงกัน และผู้เสียหายจึงไปพบ ทนายเดชา กิตติวิทยานนท์ แทน ทำให้ใบเสนอราคากลายเป็นที่มาของการแฉครั้งนี้ ยืนยันตนไม่ได้ไถเงิน ส่วนคดีอื่นๆ ที่ไม่เก็บเงินเช่นคดีน้องพอร์ช yes indeed ที่ทำผิดสัญญาค่ายเพลง ซึ่งตนก็ถูกฟ้องแต่ไม่ได้เรียกเก็บเงิน 
    
 นายษิทรา กล่าวว่าตนเรียกเงินแพงเพราะทุกคนทราบดีว่าตัวเองจริงจังและตามคดีถึงที่สุด ในเมื่อลูกความมาพึ่งตนแล้ว หากโดนฟ้องก็ต้องโดนด้วยกัน ถือเป็นคติของตน  ซึ่งค่าใช้จ่ายส่วนต่างๆ ปกติตนคิดเงินค่าโทรศัพท์ปรึกษากับทีมงานเป็นเวลา 20 นาที ราคา 1,000 บาท ปรึกษากับตน 1,500 บาท หากมาพบตนที่สำนักงานครึ่งชั่วโมง 3,000 บาท ยืนยันว่าโปร่งใส สามารถตรวจสอบเส้นทางการเงินได้ เพราะเสียภาษีอย่างถูกต้อง ไม่ผิดมารยาททนายความ เพราะการเรียกรับเงินถือเป็นเรื่องปกติ เพราะตนยังทราบด้วยว่ามีทนายหญิงคนหนึ่งเก็บเงินค่าออกรายการโทรทัศน์ดังถึง 3 แสนบาท
    
 นายษิทรา กล่าวยืนยันว่า ไม่ได้เงินจากการออกมาแฉเรื่องนายชูวิทย์รับเงิน 6 ล้านบาท เพียงแต่ตนทราบข้อมูลมา ทั้งนี้ยืนยันว่าจะยังเรียกเก็บเงินต่อไป เพียงแต่ต้องเปลี่ยนถ้อยคำจากค่าแถลงข่าวเป็นค่าดำเนินการติดตามเรื่องและเงินสำหรับการฟ้องร้อง 
    
 วันเดียวกัน ที่ศูนย์รับเรื่องราวร้องทุกข์กองบัญชาการตำรวจสอบสวนกลาง (บช.ก.) นายอัจฉริยะ เรืองรัตนพงศ์ ประธานชมรมช่วยเหลือเหยื่ออาชญากรรม เดินทางเข้าพบ พ.ต.ต.ปราโมทย์ ศุขศรีไพศาล สว.สอบสวน กก.1 บก.ป. เพื่อแจ้งเอาผิด พล.ต.ต.เอกรักษ์ ลิ้มสังกาศ รองเลขาธิการ ป.ป.ง. ,พล.ต.ท.เปี๊ยก (นามสมมุติ)  และผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับกรณีนำเงินจากสารวัตรซัวพัวพันพนันออนไลน์ไปมอบให้นายชูวิทย์จำนวน 6 ล้านบาท ในฐานความผิดตามพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน พ.ศ.2542
    
 นายอัจฉริยะ กล่าวว่า วันนี้ได้มาแจ้งความเอาผิดพล.ต.ต.เอกรักษ์กับพล.ต.ท.เปี๊ยก และพวกรวม 4 คน ที่เกี่ยวข้องกับการนำเงินจำนวน 6 ล้านบาท จากสารวัตรซัว ไปมอบให้นายชูวิทย์ให้ทางกองบังคับการปราบปรามซึ่งเป็นเจ้าของสำนวนคดีเอาผิดสารวัตรซัวให้อายัดจำนวน 6 ล้านบาท มาตรวจสอบ  และเอาผิดกับนายชูวิทย์ในความผิดเกี่ยวกับการฟอกเงิน นอกจากนี้จากการตรวจสอบยังพบเส้นทางการเงินจากเว็บพนันถูกโอนเข้าบัญชีของภรรยาของพล.ต.ต.เอกรักษ์หลายล้านบาทอีกด้วย 
     
นอกจากนี้ ผมยังทราบยังมีนายตำรวจยศ พล.ต.อ.ช อีกรายที่เป็นคนพานายแทนไทไปหานายชูวิทย์ และมีตำรวจชื่อเด่น สังกัดอยู่ในกองบังคับการตำรวจสืบสวนสอบสวนอาชญากรรมทางเทคโนโลยี 5 คอยรับเคลียร์เว็บพนันทางภาคเหนือ