วันที่ 27 มี.ค.66 นายปรเมศวร์ อินทรชุมนุม ประธานกรรมการดำเนินการ สันนิบาตสหกรณ์แห่งประเทศไทย (สสท.) แถลงข่าวถึงปัญหาที่เกิดขึ้นต่อการดำเนินงานของสหกรณ์ต่างๆ และจากข้อมูลเห็นได้ว่าจำนวนสหกรณ์ในประเทศไทย มีจำนวนลดลงจาก 8400 แห่ง ในปี 2562 เหลือเพียง 6,000 กว่าแห่ง ในขณะนี้ รัฐจะต้องส่งเสริมสนับสนุนและคุ้มครองและสร้างเสถียรภาพให้กับระบบสหกรณ์ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 75 วรรคที่ 3  

1.ระเบียบนายทะเบียนสหกรณ์มีอำนาจเหนือกว่าพระราชบัญญัติสหกรณ์หรือไม่??? เรื่อง ระเบียบนายทะเบียนสหกรณ์ว่าด้วยการกำหนดข้อบังคับเกี่ยวกับการพ้นจากตำแหน่งของผู้จัดการสหกรณ์ พ.ศ.2566 ได้รับแจ้งจาก สหกรณ์แห่งหนึ่งในจังหวัดอำนาจเจริญว่าเจ้าหน้าที่กรมส่งเสริมสหกรณ์สั่งให้แก้ไขระเบียบข้อบังคับของสหกรณ์ให้เป็นไปตามระเบียบนายทะเบียนสหกรณ์ว่าด้วยการกำหนดข้อบังคับเกี่ยวกับการพ้นจากตำแหน่งของผู้จัดการ มิฉะนั้น จะดำเนินการกับคณะกรรมการสหกรณ์ โดยอ้างว่าเป็นคำสั่งนายทะเบียน ประเด็นคือ ระเบียบนายทะเบียนสหกรณ์มีอำนาจเหนือกว่าพระราชบัญญัติสหกรณ์หรือไม่??? อย่างไรก็ตามในเรื่องระเบียบผู้จัดการสหกรณ์ฯ  สสท. ดำเนินการฟ้องร้องไปแล้วกว่า 30 คดี เดือนหน้าจะเห็นผลในบางเรื่องและจะแจ้งความคืบหน้าอีกครั้งในวันที่ 11 เมษายน 2566 ภายหลังการประชุมประจำเดือนของ คณะกรรมการฯ สสท. 

2.การปฏิเสธไม่รับจดทะเบียนเป็นสหกรณ์เครดิตยูเนี่ยน : ได้รับแจ้งจากกลุ่มที่ต้องการจัดตั้งเป็นสหกรณ์เครดิตยูเนียน ในจังหวัดหนึ่งว่า ไปขอจัดตั้งเป็นสหกรณ์ประเภท “ เครดิตยูเนี่ยน” แต่ได้รับการปฏิเสธจากเจ้าหน้าที่กรมส่งเสริมฯว่า ไม่สามารถจดทะเบียนให้ได้เนื่องจากใน จังหวัดมีจำนวนครบแล้ว 2 แห่งรวมทั้งอ้างว่า ต้องให้มีหนังสือสั่งการมาจากนายทะเบียนสหกรณ์ รองนายทะเบียนจึงจะรับจดได้ ในเรื่องดังกล่าว สันนิบาตสหกรณ์ฯยังไม่สามารถหาข้อสรุปได้และเตรียมทำหนังสือเพื่อเข้าพบหารือนายทะเบียนสหกรณ์เพื่อรับฟังข้อเท็จจริงอย่างละเอียดพร้อมทั้งหารือแก้ไขปัญหาร่วมกัน

3.หุ้นสหกรณ์: จากการที่ ศาลปกครองตัดสินว่าหุ้นสหกรณ์คืนไม่ได้ นั้นเป็นเพราะนักกฎหมายไม่เข้าใจบริบทของ “หุ้นสหกรณ์” เพราะไม่ได้อ่านข้อกฎหมายทั้งหมด ซึ่งในมาตรา 33 (2) ระบุว่า  ทุนสหกรณ์แบ่งเป็นหุ้นๆละเท่าๆกันเป็นการเขียนคล้ายๆกับบริษัทแต่ของบริษัทระบุชัดว่า กลุ่มคนที่ตั้งบริษัทต้องตั้งเพื่อจะประกอบกิจการแต่สหกรณ์ไม่ได้ตั้งเพื่อประกอบกิจการ เพียงแต่ตั้งเพื่อช่วยเหลือสมาชิก ทางด้านเศรษฐกิจและสังคม คือส่วนต่างที่ทำให้ความหมายต่างกัน และในพระราชบัญญัติสหกรณ์ไม่มีคำว่าผู้ถือหุ้นมีแต่คำว่า “ สมาชิก”  ผู้ถือหุ้นในบริษัทคือผู้แสวงหาผลประโยชน์จากการทำธุรกิจร่วมกัน การลงหุ้นของสหกรณ์นั้นคือ การลงขันเพื่อจัดสรรปันผลตามมาตรา 60 ตามหุ้นตามสัดส่วนที่ได้ลงขันกันไว้ เงินที่ลงขันเมื่อเราไม่อยากเป็นสมาชิก ตาย หรือถูกให้ออก ต้องได้รับคืน รวมถึงหุ้นสหกรณ์ไม่เคยเข้าตลาดหลักทรัพย์เพราะไม่เคยแสวงหาผลกำไร แต่การถือหุ้นบริษัทเมื่อลาออกต้องขายหุ้นทิ้ง ต่อไปเมื่อแก้กฎหมายต้องเพิ่มคำจำกัดความด้วยว่า หุ้นสหกรณ์หมายถึงอะไร  การใช้คำๆเดียวกันก่อให้เกิดความสับสน

"สันนิบาตสหกรณ์ฯ  มิได้นิ่งนอนใจกับทุกข้อปัญหาที่ขบวนการสหกรณ์หารือหรือร้องขอความช่วยเหลือ พร้อมเดินหน้าช่วยเหลือและจะได้นำข้อปัญหาต่างๆ ที่สหกรณ์ฯบรรจุในวาระการประชุมคณะกรรมการดำเนินการฯ  ทั้งนี้ ในวันที่ 11 เมษายน 2566 ภายหลังการประชุมฯ จะแถลงความคืบหน้าให้สหกรณ์รับทราบทั่วกัน"ประธานฯ สสท. กล่าว