วันที่ 27 มี.ค.66 ที่ศูนย์ปฏิบัติการน้ำอัจฉริยะ (SWOC) กรมชลประทาน ถนนสามเสน กรุงเทพฯ ดร.ทวีศักดิ์ ธนเดโชพล รองอธิบดีกรมชลประทาน เป็นประธานการประชุมคณะอนุกรรมการติดตามและวิเคราะห์แนวโน้มสถานการณ์น้ำ ครั้งที่ 10/2566 ผ่านทางระบบ Video Conference ไปยังสำนักงานชลประทานที่ 1-17 และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง อาทิ กรมอุตุนิยมวิทยา สถาบันสารสนเทศทรัพยากรน้ำ กรมทรัพยากรน้ำ กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย สำนักการระบายน้ำกรุงเทพมหานคร การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) เพื่อติดตามและวิเคราะห์สถานการณ์น้ำในอ่างเก็บน้ำ แหล่งน้ำ และแม่น้ำสายหลักต่าง ๆ สำหรับเป็นข้อมูลในการบริหารจัดการน้ำให้สอดคล้องและเหมาะสมในแต่ละพื้นที่

ดร.ทวีศักดิ์ ธนเดโชพล รองอธิบดีกรมชลประทาน เปิดเผยว่า ปัจจุบัน (27 มี.ค. 66) อ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่และขนาดกลางทั่วประเทศ มีปริมาณน้ำรวมกันประมาณ 49,308 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็นร้อยละ 65 ของความจุอ่างฯรวมกัน เฉพาะ 4 เขื่อนหลักลุ่มน้ำเจ้าพระยา (เขื่อนภูมิพล เขื่อนสิริกิติ์ เขื่อนแควน้อยบำรุงแดน และเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์) มีปริมาณน้ำรวมกันประมาณ 15,240 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็นร้อยละ 61 ของความจุอ่างฯรวมกัน ในขณะที่มีการใช้น้ำทั้งประเทศไปแล้วกว่า 20,151 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็นร้อยละ 73 ของแผนฯ (แผนจัดสรรน้ำทั้งประเทศ 27,685 ล้าน ลบ.ม.) เฉพาะลุ่มเจ้าพระยามีการใช้น้ำไปแล้วประมาณ 7,279 ล้าน ลบ.ม. หรือคิดเป็นร้อยละ 80 ของแผนฯ (แผนจัดสรรน้ำลุ่มเจ้าพระยา 9,100 ล้าน ลบ.ม.) สำหรับการเพาะปลูกข้าวนาปรังทั้งประเทศ มีการเพาะปลูกไปแล้ว 9.96 ล้านไร่ คิดเป็นร้อยละ 96 ของแผนฯ เฉพาะลุ่มน้ำเจ้าพระยามีการเพาะปลูกไปแล้ว  6.31 ล้านไร่ คิดเป็นร้อยละ 95 ของแผนฯ

ทั้งนี้ จากการคาดการณ์ของกรมอุตุนิยมวิทยาแจ้งว่าปริมาณฝนในปีนี้จะต่ำกว่าค่าเฉลี่ย กรมชลประทานได้เน้นย้ำให้โครงการชลประทานทั่วประเทศติดตามสภาพอากาศและแนวโน้มปริมาณฝนอย่างใกล้ชิด เพื่อเตรียมการวางแผนบริหารจัดการน้ำช่วงฤดูฝนที่จะถึง โดยให้ทุกโครงการดำเนินการสำรวจความพร้อมของอาคารระบายน้ำ ความมั่นคงของเขื่อน และอ่างเก็บน้ำต่างๆเพื่อใช้ในการกักเก็บน้ำเพื่อรองรับสถานการณ์ในอนาคต นอกจากนี้ยังขอความร่วมมือประชาชนให้ปฏิบัติตาม 10 มาตรการรับมือฤดูแล้ง ที่กองอำนวยการน้ำแห่งชาติ (กอนช.) กำหนดอย่างเคร่งครัด และให้หน่วยงานในพื้นที่บริหารจัดการน้ำอย่างประณีต ให้เกิดประโยชน์สูงสุด พร้อมทั้งร่วมบูรณาการกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการประชาสัมพันธ์ขอความร่วมมือไปยังประชาชนกลุ่มผู้ใช้น้ำ และทุกภาคส่วน ให้ช่วยกันประหยัดน้ำเพื่อให้ปริมาณน้ำที่มีอยู่เพียงพอสำหรับทุกกิจกรรม