กลุ่มงานโกลบอลมาร์เก็ตส์ ธนาคารกรุงศรีอยุธยา จำกัด (มหาชน) มีมุมมองต่อทิศทางค่าเงินบาทในสัปดาห์นี้ว่า เงินบาทสัปดาห์นี้มีแนวโน้มเคลื่อนไหวในกรอบ 33.85-34.65 บาท/ดอลลาร์ เทียบกับสัปดาห์ที่ผ่านมา เงินบาทปิดแข็งค่าที่ 34.12 บาท/ดอลลาร์ หลังซื้อขายในช่วง 34.00-34.56 บาท/ดอลลาร์ เงินบาทแตะระดับแข็งค่าสุดในรอบกว่า 1 เดือน ขณะที่ราคาทองคำโลกพุ่งสูงขึ้นและอัตราผลตอบแทนพันธบัตรโลกผันผวนสูง ขณะที่เงินดอลลาร์อ่อนค่าเมื่อเทียบกับสกุลเงินสำคัญส่วนใหญ่ในสัปดาห์ที่ผ่านมา ขณะที่ธนาคารกลางสหรัฐฯ(เฟด)ปรับขึ้นดอกเบี้ย 25bp สู่ 4.75-5.00% ตามคาด โดยค่ากลางประมาณการของเจ้าหน้าที่เฟดบ่งชี้ว่าจะปรับขึ้นดอกเบี้ยอีก 25bp ก่อนสิ้นปีนี้ ทางด้านประธานเฟดระบุว่าระบบธนาคารสหรัฐฯมีสภาพคล่องและเงินกองทุนที่แข็งแกร่ง และเฟดจะจับตาดูสถานะของระบบธนาคารอย่างใกล้ชิดโดยพร้อมที่จะใช้มาตรการต่างๆตามความจำเป็น
ทั้งนี้ แถลงการณ์ของเฟดตั้งข้อสังเกตว่าภาวะตึงเครียดในภาคธนาคารมีแนวโน้มที่จะส่งผลให้สินเชื่อสำหรับภาคครัวเรือนและภาคธุรกิจตึงตัวมากขึ้น และจะกดกิจกรรมทางเศรษฐกิจ การจ้างงาน รวมถึงภาวะเงินเฟ้อ แม้เฟดประเมินว่าอัตราเงินเฟ้อยังคงอยู่ในระดับสูงแต่นักลงทุนคาดการณ์ว่าเฟดอาจจะไม่ปรับขึ้นดอกเบี้ยอีกเลยและจะลดดอกเบี้ยลงภายในกลางปีนี้ ทางด้านธนาคารกลางอังกฤษ(บีโออี)ปรับขึ้นดอกเบี้ย 25bp สู่ 4.25% ขณะแรงกดดันด้านเงินเฟ้ออยู่ในระดับสูง ทั้งนี้ นักลงทุนต่างชาติขายหุ้นและพันธบัตรไทยสุทธิ 5,242 ล้านบาท และ 16 ล้านบาท ตามลำดับ
สำหรับภาพรวมในสัปดาห์นี้ กลุ่มงานโกลบอลมาร์เก็ตส์ กรุงศรี มองว่า ตลาดจะให้ความสนใจกับข้อมูลค่าใช้จ่ายบริโภคส่วนบุคคลเดือนก.พ.ของสหรัฐฯ รวมถึงความเห็นของเจ้าหน้าที่เฟดเกี่ยวกับสถานการณ์เศรษฐกิจการเงินหลังความเชื่อมั่นสั่นคลอน ขณะที่ความกังวลเรื่องภาคธนาคารของสหรัฐฯและยุโรปจะยังคงสร้างความผันผวนให้กับราคาสินทรัพย์ต่างๆ โดยหากภาวะดังกล่าวยืดเยื้อหรือขยายวงจะยิ่งสนับสนุนมุมมองของเราที่ว่าเงินเยนจะปรับตัวอย่างโดดเด่นในปีนี้ท่ามกลางทิศทางขาขึ้นที่จำกัดของอัตราผลตอบแทนพันธบัตรโลก
โดยปัจจัยในประเทศ กลุ่มงานโกลบอลมาร์เก็ตส์ กรุงศรี คาดว่าคณะกรรมการนโยบายการเงิน(กนง.)จะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบาย 25bp เป็น 1.75% ในการประชุมวันที่ 29 มี.ค. เพื่อสร้างขีดความสามารถในการดำเนินนโยบาย (Policy Space) ในระยะข้างหน้า โดยเราคาดว่ามีโอกาสที่มติจะไม่เป็นเอกฉันท์เพื่อส่งสัญญาณสำหรับการหยุดพักการขึ้นดอกเบี้ยในการประชุมช่วงสิ้นเดือนพ.ค. นอกจากนี้ รายงานดุลบัญชีเดินสะพัดเดินก.พ.อยู่ในความสนใจเช่นกัน