ผู้สื่อข่าวรายงานจากจังหวัดแพร่ว่า การส่งเสริมอาชีพและพัฒนาศักยภาพของผู้ทำงานด้านสล่าฝืมือในจังหวัดแพร่ที่นับวันจะเหลือน้อยในการสืบทอดภูมิปัญญาด้านสล่า งานฝีมือต่างๆ ที่บ้านเลขที่ 40 หมู่ที่ 6 ตำบล เหมืองหม้อ อำเภอเมือง จังหวัดแพร่ นายภัทรพงค์ เพาะปลูกหรือ ออฟ สล่าช่างสลุงเงินแท้ ที่เหลือเพียงคนเดียวในจังหวัดแพร่ ที่ยังยึดอาชีพ และสืบสานความเป็นภูมิปัญญามาจากครูช่าง สล่าสลุงเงิน ที่เสียชีวิตไปเกือบหมด ที่ถ่ายทอดวิชาให้ตั้งแต่ อายุ 15 ปี
นายภัทรพงค์ เปิดเผยว่า สนใจความรู้การทำสลุงเงินมาตั้งแต่อายุ 15 ปี สมัยเรียนอยู่ชั้นมัธยมตอนต้น ได้มีโอกาสไปคลุกคลีกับช่างทำเครื่องเงินตีเงินที่บ้านพระนอน ข้างวัดพระนอน เป็นการรวมกลุ่มของสล่าฝีมือ ผู้สูงอายุ ที่ทำเครื่องเงินจำหน่าย แต่เป็นการทำแบบดั้งเดิม ด้วยงานทำมือ และขั้นตอนการทำงาน เป็นแบบดั้งเดิม ไม่ได้มีความรู้หรือเรียนจากที่ไหน แต่อาศัยความชอบ จึงสืบสาน ฝึกฝน และ ทำเรื่อยมาจนปัจจุบัน ส่วนมากเป็นงานตามสั่ง ลูกค้าส่วนใหญ่จะอยู่ที่จังหวัดเชียงใหม่ กรุงเทพมหานคร และ จังหวัดอื่นๆ ที่ติดต่อเข้ามา แต่ต้องสั่งล่วงหน้า เพราะกรรมวิธีการผลิตนั้น มีหลายขั้นตอน ตั้งแต่การหลอมเงิน การขึ้นรูป การตีให้ได้รูปทรง และ ที่สำคัญคือการตอกดอก ตอกลาย ตามรอบ ขันเงิน พานเงิน สลุงเงินที่ขึ้นรูปแล้ว ต้องมานั่งตอกลาย ตามที่ลูกค้าต้องการหรือถาลูกค้าต้องการให้ออกแบบลายให้ ก็จะมีการออกแบบแล้วส่งให้ลูกค้าดูส่วนราคานั้นแล้วแต่น้ำหนักของเงินที่นำมาขึ้นแบบ
สำหรับ เงินที่นำมาหลอมนั้น ส่วนมากจะซื้อจากกรุงเทพมหานคร และแหล่งเครื่องเงินที่เชื่อถือได้ ซื้อมาเป็นกิโลกรัม ราคาตามน้ำหนัก และนำมาหลอม ขึ้นรูปสลุงเงิน พานเงิน ตามออร์เดอร์ลูกค้า ซึ่งตอนนี้ เหลือเพียงตนคนเดียวเท่านั้นที่ยังทำอาชีพนี้ ซึ่งสนใจตั้งแต่อายุ 15ปี ปัจจุบันอายุ 33 ปี อยากจะสืบทอดภูมิปัญญาสล่าสลุงเงินนี้ให้กับผู้ที่สนใจ แต่ต้องมีความอดทนเป็นอันดับแรก เพราะการทำสลุงเงินในขั้นตอนต่างๆ มีความพิถีพิถัน และมีเรื่องของความร้อน เข้ามาช่วยหลอมบางคนที่มาเรียนรู้ไม่มีความอดทน จึงไม่มีใครอยากจะมาทำตรงจุดนี้ แต่ถ้าถามว่าเราอยากสืบทอด อัตลักษณ์นี้ให้สืบต่อไปหรือไม่ อยากให้เป็นเช่นนั้น อยากให้มีการส่งเสริม ในส่วนของรายได้ ราคาพาน หรือขันเงินสลุงเงิน ใบหนึ่งถ้าน้ำหนักเงินมากขนาดใบใหญ่ ราคาจะอยู่ที่ 5-6 หมื่นบาท มีออร์เดอร์เข้ามาตลอดทำไม่ทัน แต่คนที่ชอบงานประเภทนี้ต้องสามารถ รอการผลิตได้เพราะเป็นงานฝีมือ
ขณะที่ อาทิตยา อินนะไชย ว่าที่ผู้สมัครรับเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร พรรคพลังประชารัฐ เขต 1 ที่สนใจในการส่งเสริม และหาแนวทาง เนื่องจากมีประสบการณ์ทางด้านการตลาด การส่งออก และ หาจุดที่สมดุลได้ ได้เข้ามาศึกษาและพูดคุย ซึ่งในเรื่องนี้ ปัญหาคือ การไม่มีผู้สืบทอด และ ช่างฝีมือมีเพียงคนเดียว แต่ความต้องการของลูกค้ามีจำนวนมาก อีกทั้งสินค้าที่ผลิตแล้วต้องส่งให้ลูกค้า ทันทีไม่มีการสต๊อกสินค้าหรือทำเพื่อให้ลูกค้าได้เดินเข้ามาเลือกซื้อ เพราะกระบวนการขั้นตอนที่ใช้เวลานาน แต่ทรงคุณค่า ทางอัตลักษณ์ และงานฝีมือที่สมควรจะรักษาไว้ให้กับคนรุ่นหลัง จากนี้ได้ประสานพูดคุยกับสล่า และสอบถามความต้องการในการต่อยอด โดยได้เก็บข้อมูลในเบื้องต้น เพื่อหาแนวทางส่งเสริมต่อไป เพราะเป็นช่างหนึ่งเดียวที่ยังคงยึดเป็นอาชีพ และสืบสานความเป็นสล่า ทั้งที่อายุยังน้อย และสามารถที่จะต่อยอดให้กับกลุ่มคนสนใจได้อีก