วันที่ 27 มี.ค.2566 นายศรีสุวรรณ จรรยา เลขาธิการสมาคมองค์การพิทักษ์รัฐธรรมนูญไทย เข้ายื่นหนังสือต่อนายชัชชาติ สิทธิพันธ์ุ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร เรื่อง ขอให้ตรวจสอบการปฏิบัติตามมาตรการป้องกันและแก้ไขผลกระทบสิ่งแวดล้อม และมาตรการติดตามตรวจสอบผลกระทบสิ่งแวดล้อมในโครงการ The Base Park East และโครงการ The Base Park West ของบริษัท แสนสิริ จำกัด (มหาชน) ที่ได้รับความเห็นชอบจากคณะกรรมการผู้ชำนาญการพิจารณารายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อมด้านอาคาร การจัดสรรที่ดิน และบริการสาธารณะเมื่อวันที่ 21 มีนาคม 2556 ว่าได้ยึดถือปฏิบัติอย่างเคร่งครัดหรือไม่ อย่างไร เหตุใดจึงมีการตั้งป้อมเรียกเก็บค่าผ่านสะพานข้ามคลองพระโขนงและถนนภาระจำยอม ทั้งๆ ที่ผู้ประกอบการดังกล่าวกำหนดว่ายินยอมให้บุคคลทั่วไปสามารถเข้าใช้ประโยชน์ถนนภาระจำยอมเพื่อเป็นเส้นทางลัดเชื่อมระหว่างถนนซอยสุขุมวิท 77 (อ่อนนุช) ผ่านถนนของการทางพิเศษฯออกสู่ถนนซอยปรีดีพนมยงค์ 2 ได้ หากพบว่าฝ่าฝืนให้บังคับใช้กฎหมายต่อไปโดยเคร่งครัด

 

นายศรีสุวรรณ กล่าวว่า โครงการดังกล่าว ผ่านความเห็นชอบจากคณะกรรมการผู้ชำนาญการฯแล้วทั้ง 2 โครงการโดยได้ระบุไว้ในรายงานว่า ในการดูแล บำรุงรักษา ถนนภาระจำยอมบนโฉนดที่ดิน 8 แปลง และสะพานข้ามคลองพระโขนง ตลอดจนระบบสาธารณูปโภคริมถนน นั้น หากเกิดกรณีสะพานชำรุดเสียหาย นิติบุคคลอาคารชุดจะเป็นผู้ดำเนินการประสานไปยังสำนักงานเขตวัฒนา เพื่อซ่อมแซมด้วยค่าใช้จ่ายของบริษัทที่ถือครองกรรมสิทธิ์เองทั้งสิ้นรวมทั้งรับผิดชอบค่าไฟฟ้าส่องสว่างที่เกิดขึ้นในที่ดินภาระด้วย ซึ่งในการขออนุญาตก่อสร้าง บ.แสนสิริ นำที่ดินถนนภาระจำยอมมายื่นร่วมในการขออนุญาตก่อสร้าง รวมทั้งเจ้าของกรรมสิทธิ์ที่ดินภาระจำยอมทั้ง 8 แปลง ได้ยินยอมให้บุคคลทั่วไป สามารถเข้าใช้ประโยชน์ถนนภาระจำยอม เพื่อเป็นเส้นทางลัดเชื่อมระหว่างถนนซอยสุขุมวิท 77 (อ่อนนุช) ผ่านถนนของการทางพิเศษฯออกสู่ถนนซอยปรีดีพนมยงค์ 2 ได้ และต้องแจ้งให้บุคคลภายนอกทราบว่าถนนภาระจำยอมเปิดให้บุคคลทั่วไปสามารถใช้สัญจรได้ ซึ่งสอดคล้องกับข้อ 14 ของระเบียบ กทม.ว่าด้วยการขออนุญาตก่อสร้างสะพานข้ามคลอง 2549

 

นายศรีสุวรรณ ตั้งข้อสังเกตว่า การดำเนินการดังกล่าวของบริษัท แสนสิริ จำกัด(มหาชน) สำนักงานเขตวัฒนา และสำนักการโยธา มีส่วนรู้เห็นในการออกใบอนุญาตหรือไม่ พร้อมระบุว่า ตั้งแต่ปี 2558 ถึงปัจจุบัน การเก็บเงินค่าผ่านสะพานและถนนคันละ 10-20 บาท ซึ่งมีรายได้สูงถึง 150 ล้านบาท ซึ่งกทม.ควรพิจารณาตรวจสอบเพื่อเรียกรายได้ดังกล่าวย้อนหลังกลับคืนสู่กทม.เพื่อนำไปใช้ประโยชน์เพื่อคนกรุงเทพมหานครต่อไป