นายแพทย์ กฤชรัตน์ ตระกูลช่าง ผู้บริหารกลุ่มโรงพยาบาลแพทย์รังสิตและรักษาการผู้อำนวยการโรงพยาบาลแพทย์รังสิต 2 บริษัท แพทย์รังสิตเฮลท์แคร์กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) หรือ PHG เข้าร่วมพิธีบันทึกข้อตกลง (MOU) การให้บริการทางการแพทย์เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการเข้าถึงการรักษาของผู้ประกันตน ในระบบประกันสังคม โดยมี นายบุญสงค์ ทัพชัยยุทธ์ เลขาธิการสำนักงานประกันสังคม (สปส.) เป็นประธานในพิธี พร้อมด้วยผู้บริหารสำนักงานประกันสังคม และผู้บริหารสถานพยาบาลทั้ง 35 แห่งทั่วประเทศเข้าร่วมในพิธี ณ โรงแรมเอเชียกรุงเทพ ถนนพญาไท เขตราชเทวี กรุงเทพมหานคร
นายแพทย์ กฤชรัตน์ เปิดเผยว่า ความร่วมมือระหว่างกลุ่มโรงพยาบาลแพทย์รังสิต สำนักงานประกันสังคม และสถานพยาบาล จำนวน 35 แห่งทั่วประเทศ ที่มีศักยภาพตามมาตรฐานที่สำนักงานประกันสังคมกำหนด ได้นำร่องใน 5 กลุ่มโรค ได้แก่ โรคมะเร็งเต้านม, ก้อนเนื้อที่มดลูก, โรคนิ่วในไตหรือถุงน้ำดี, โรคหลอดเลือดสมอง, โรคหัวใจและหลอดเลือด อย่างไรก็ดี โรงพยาบาลแพทย์รังสิต จังหวัดปทุมธานี ได้เข้ารับและผ่านการคัดเลือกให้เป็นสถานพยาบาลที่มีความพร้อมสามารถให้บริการรักษาถึง 3 กลุ่ม จาก 5 กลุ่มโรค ได้แก่ ด้านหัตถการโรคหัวใจและหลอดเลือด, กลุ่มการให้บริการผ่าตัดก้อนเนื้อที่มดลูก และกลุ่มสถานพยาบาลที่ให้บริการผ่าตัดนิ่วในไตและถุงน้ำดี ซึ่งกลุ่มโรงพยาบาลแพทย์รังสิตมีผู้เชี่ยวชาญคอยดูแลรักษาเป็นอย่างดี
"โรงพยาบาลแพทย์รังสิต มีความยินดีเป็นอย่างยิ่งที่จะดูแลกลุ่มผู้ประกันตนตามสิทธิประกันสังคม เพื่อเข้ารับการดูแลรักษาพยาบาลอย่างมีคุณภาพ โดยเฉพาะอย่างยิ่งถ้าหากเป็นกลุ่มผู้ป่วย 3 โรคดังกล่าว ทางโรงพยาบาลแพทย์รังสิต มีผู้เชี่ยวชาญในด้านนี้เป็นอย่างมาก ซึ่งจะช่วยลดการรอคอยการผ่าตัด ลดระยะเวลาการพักฟื้น โดยจะส่งผลให้ผู้ประกันตนสามารถกลับไปทำงานได้อย่างรวดเร็วและดำเนินชีวิตเป็นปกติอย่างมีประสิทธิภาพ"
ด้าน นายบุญสงค์ กล่าวว่า สำนักงานประกันสังคม จะจ่ายค่าบริการทางการแพทย์โดยตรงกับสถานพยาบาลที่ทำบันทึกข้อตกลง โดยผู้ประกันตนไม่ต้องเสียค่าใช้จ่ายในการรับบริการแต่อย่างใด สำหรับระยะเวลาดำเนินการถึง 30 มิถุนายน 2566 เมื่อดำเนินโครงการแล้วเสร็จ สำนักงานประกันสังคมจะติดตามและประเมินผล เพื่อนำไปพัฒนาต่อยอดการบริการอย่างมีประสิทธิภาพ เพื่อผู้ประกันตนต่อไป ทั้งนี้ สำนักงานประกันสังคม ยังคงมุ่งมั่น และทุ่มเทการทำงาน โดยยึดหลักการดำเนินงาน ภายใต้แนวทางของรัฐบาลที่ให้ความสำคัญในการยกระดับคุณภาพชีวิตของผู้ใช้แรงงาน ด้านการให้บริการทางการแพทย์ ลดความเหลื่อมล้ำ โดยบูรณาการงานด้านบริการทางการแพทย์อย่างเหมาะสม เท่าเทียม มีคุณภาพ อันจะนำไปสู่การพัฒนาประเทศอย่างยั่งยืน