ประกันรายได้ข้าว งวดที่ 24 ราคาข้าวเปลือกยังทรง แต่เกษตรกรยังคงพอใจ คาดปีนี้ไทยส่งออกได้ทะลุ 8 ล้านตันนายอุดม ศรีสมทรง รองอธิบดีกรมการค้าภายใน เปิดเผยว่า คณะอนุกรรมการกำกับดูแลและกำหนดเกณฑ์กลางอ้างอิงโครงการประกันรายได้เกษตรกรผู้ปลูกข้าว ได้พิจารณาราคาเกณฑ์กลางอ้างอิงและการชดเชยส่วนต่างราคาตามโครงการประกันรายได้เกษตรกรผู้ปลูกข้าว ปี 2565/66 ซึ่งเป็นการดำเนินการตามนโยบายของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ (นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์) โดยสัปดาห์นี้เป็นการประกาศราคางวดที่ 24 สำหรับเกษตรกรที่แจ้งวันคาดว่าจะเก็บเกี่ยวระหว่างวันที่ 18 – 24 มีนาคม 2566 ปรากฏว่า ข้าวเปลือกหอมมะลินอกพื้นที่ มีราคาเกณฑ์กลางตันละ 13,591.10 บาท เกษตรกรจะได้รับชดเชยส่วนต่างตันละ 408.90 บาท ได้รับชดเชยสูงสุดครัวเรือนละ 6,542.40 บาท ข้าวเปลือกปทุมธานี มีราคาเกณฑ์กลางตันละ 10,889.72 บาท เกษตรกรจะได้รับชดเชยส่วนต่างตันละ 110.28 บาท ได้รับชดเชยสูงสุดครัวเรือนละ 2,757.00 บาท และข้าวเปลือกเจ้า มีราคาเกณฑ์กลางตันละ 9,878.44 บาท เกษตรกรจะได้รับชดเชยส่วนต่างตันละ 121.56 บาท  ได้รับชดเชยสูงสุดครัวเรือนละ 3,646.80 บาท สำหรับข้าวเปลือกเหนียว มีราคาเกณฑ์กลางตันละ 12,218.98 บาท ซึ่งสูงกว่าราคาประกันที่ตันละ 12,000 บาท จึงไม่มีส่วนต่างชดเชยในงวดนี้ สำหรับข้าวเปลือกหอมมะลิไม่มีราคาเกณฑ์กลางอ้างอิง เนื่องจากสิ้นสุดฤดูเก็บเกี่ยวแล้ว โดยจะจ่ายเงินให้เกษตรกรที่ได้รับสิทธิ์งวดที่ 24 ในวันที่ 29 มีนาคม 2566  

ผู้แทนสมาคมค้าข้าวไทย ให้ข้อมูลว่า สถานการณ์การซื้อขายข้าวในตลาดช่วงนี้เน้นไปที่ข้าวขาว เนื่องจากผู้ส่งออกยังคงมีความต้องการอย่างต่อเนื่อง ในส่วนของราคา มีขยับขึ้นลงบ้างเล็กน้อยยกเว้นข้าวเหนียวที่ราคาขยับขึ้นตามความต้องการของตลาด สำหรับสถานการณ์การส่งออก ผู้แทนกรมการค้าต่างประเทศ ให้ข้อมูลว่า ปริมาณการส่งออกจนถึงวันที่ 22 มีนาคม 2566 สามารถส่งออกข้าวได้แล้วกว่า 1.8 ล้านตัน เนื่องจากสถานการณ์ค่าเงินบาทที่เริ่มมีเสถียรภาพ ส่งผลให้ราคาส่งออกข้าวไทยแข่งขันได้ในตลาดโลก รวมถึงประเทศคู่แข่งที่ยังคงมีนโยบายให้เก็บข้าวไว้บริโภคภายในประเทศ ทำให้การส่งออกของไทยปีนี้คาดว่าจะเป็นไปได้ด้วยดี อาจจะได้ถึง 8 ล้านตัน โดยประมาณ 

นายอุดม ศรีสมทรง รองอธิบดีกรมการค้าภายใน เปิดเผยต่อไปว่า ในงวดที่ 1-23 ที่ผ่านมา มีเกษตรกรได้รับเงินส่วนต่างประกันรายได้แล้วกว่า 2.627 ล้านครัวเรือน วงเงิน 7,861.71 ล้านบาท และการช่วยเหลือไร่ละพันบาท เกษตรกรได้รับเงินแล้วกว่า 4.641 ล้านครัวเรือน วงเงิน 54,004.91 ล้านบาท สำหรับเกษตรกรที่ได้รับสิทธิ์แต่ยังไม่ได้รับเงิน ขอให้ ติดต่อ ธ.ก.ส. สาขาใกล้บ้าน เพื่อให้ ธ.ก.ส. ตรวจสอบต่อไป  

ทั้งนี้ กรมการค้าภายใน ได้เพิ่มการติดตามดูแลการซื้อขายข้าวเปลือก ทั้งในเรื่องของการปิดป้ายแสดงราคารับซื้อ รวมทั้งตรวจสอบความถูกต้องของเครื่องชั่งน้ำหนักและเครื่องวัดความชื้น ซึ่งหากพบเห็นว่า ท่าข้าวหรือโรงสีใด ไม่ปิดป้ายแสดงราคารับซื้อ กดราคารับซื้อ โกงน้ำหนัก หรือมีพฤติกรรมใดๆที่เป็นการ เอาเปรียบชาวนา สามารถร้องเรียนได้ที่สายด่วนกรมการค้าภายใน โทร 1569