บทความพิเศษ / ทีมงานหญ้าแห้งปากคอก(ท้องถิ่น)

ความตอนที่แล้วนำเสนอเรื่อง สุดยอดกฎหมายคือ ร่างกฎหมายอากาศสะอาด ด้วยหวังว่าจะช่วยแก้ไขปัญหาฝุ่นพิษ PM2.5 มลพิษทางอากาศได้อย่างเด็ดขาด แต่ปรากฏว่าพระราชกฤษฎีกาให้ยุบสภาผู้แทนฯประกาศเมื่อวันที่ 20 มีนาคม 2566 ทำให้ร่างกฎหมายที่ค้างท่อสภาอยู่ คือร่างกฎหมายอากาศสะอาดที่เสนอรวม 5 ร่างไม่สามารถไปต่อได้ ทั้งๆ ที่ร่างได้เสนอสภามาตั้งแต่ปี 2563-2564 แต่ร่างกลับไม่ไปไหน บางร่างก็ตกไป เท่ากับว่าประชาชนเสียเวลาและโอกาสไปเปล่าๆ ถึง 2-3 ปี เพราะฝุ่น PM2.5 ยิ่งเพิ่มความเสี่ยงมะเร็งปอด แม้ว่าจังหวัดต่างๆ จะรณรงค์แก้ปัญหาที่ปลายเหตุ ก็เป็นเพียงปลายเหตุเล็กน้อย เช่น ห้ามเผาหญ้าเผาขยะ โดยเฉพาะการเผาอ้อย เผาซังข้าวโพด หรือการเผาวัสดุเหลือใช้ทางการเกษตร ที่มีความผิดโทษทั้งจำทั้งปรับ หรือ การป้องกันไฟป่า บทความนี้ให้ลืมเรื่อง PM2.5 ตัวอันตรายไว้ก่อน แม้จะมีความสัมพันธ์กันกับ “ภาวะโลกร้อน” ที่ประเทศที่ผูกพันตามพิธีสารเกียวโต (Kyoto Protocol) ต้องช่วยการลดภาวะโลกร้อน ซึ่งไทยรับรองปี 1999 และให้สัตยาบันปี 2002

ก๊าซเรือนกระจก (Greenhouse Gases) กับ PM2.5 โยงเกี่ยวข้องกันอย่างไร

ปัจจุบันเนื่องจากมีหลายมาตรการในการลดภาวะอากาศพิษดังกล่าว ทั้งทางตรง ทางอ้อม ไม่ว่าการลดคาร์บอนฟุตพรินต์ (Carbon Footprint) ที่ทุกพฤติกรรมการใช้ชีวิตประจำวัน หรือการทำธุรกิจของมนุษย์ ล้วนสร้าง (รอยเท้า)คาร์บอนฟุตพรินต์ทั้งสิ้น การลดโลกร้อนหรือลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก เพราะในการคำนวณค่าก๊าซเรือนกระจก ที่ปล่อยจากกิจกรรมต่างๆ ของมนุษย์นั้นจะทำให้เกิดภาวะโลกร้อน และการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (Climate change) ถือเป็นมหันตภัยที่ใกล้ตัวมากขึ้น นักวิจัยสิ่งแวดล้อมพบว่า มลภาวะทางอากาศกรณีฝุ่นควัน PM2.5 มีความสัมพันธ์อย่างยิ่งกับปัญหาสภาวะโลกร้อน เป็นความสัมพันธ์ที่ไปด้วยกันที่จะก่อให้เกิดสภาวะโลกร้อนสภาพแวดล้อมที่แย่ลง (Inconvenient Truth โดยรองประธานาธิบดีอัล กอร์) ทำให้เพิ่มอุณหภูมิของโลก มีผลต่อการเปลี่ยนแปลงสภาวะแวดล้อม เช่นน้ำแข็งขั้วโลกละลาย เกิดปรากฏการณ์ลานีญาและเอลนีโญ

ยิ่งอากาศร้อนและแห้งแล้งจะส่งผลให้ปัญหาฝุ่นควันทวีความรุนแรง ปัญหาไฟป่าและฝุ่นควัน PM2.5 ส่งผลให้สภาพภูมิอากาศร้อนยิ่งขึ้น ส่งผลกระทบต่อเนื่องกันเป็นลูกโซ่ อนุภาคของฝุ่นหยาบชนิดที่มีเส้นผ่านศูนย์กลาง 5 ไมครอนขึ้นไป มีอยู่ในชั้นบรรยากาศโลกในปริมาณสูงกว่าที่คาดหมายถึง 4 เท่า และมีแนวโน้มจะทำให้ภาวะโลกร้อนรวมทั้งปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศรุนแรงขึ้น ปัญหาฝุ่น PM10 หรือฝุ่นหยาบทั้งที่เกิดจากธรรมชาติ และจากอุตสาหกรรม การจราจรบนถนน เมื่อรวมตัวกันเป็นเมฆฝุ่น มีลักษณะคล้ายก๊าซเรือนกระจกที่สามารถกักเก็บความร้อนทำให้อากาศปั่นป่วน และเร่งให้พายุกำลังแรงก่อตัวขึ้น

องค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก (อบก.) Thailand Greenhouse Gas Management Organization (Public Organization :TGO)

เป็นองค์กรที่มีบทบาทสำคัญในเรื่องของการลดการปลดปล่อยก๊าซเรือนกระจก (Mitigation) ของประเทศ ตามพันธกรณีพิธีสารเกียวโต คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบให้จัดตั้งองค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจกเป็นองค์การมหาชนตามกฎหมายว่าด้วยองค์การมหาชนเมื่อวันที่ 15 พฤษภาคม 2550 เพื่อให้การบริหารจัดการโครงการดังกล่าวมีความเป็นเอกภาพและคล่องตัวในการดำเนินงาน รวมทั้งเป็นศูนย์กลางในการประสานความร่วมมือระหว่างภาครัฐ ภาคเอกชนและองค์การระหว่างประเทศ และได้มีการประกาศพระราชกฤษฎีกาจัดตั้งองค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก (องค์การมหาชน) พ.ศ.2550 ภายใต้กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมมีวัตถุประสงค์หลักในการวิเคราะห์ กลั่นกรองและทำความเห็นเกี่ยวกับการให้คำรับรองโครงการที่ลดการปลดปล่อยก๊าซเรือนกระจกตามกลไกการพัฒนาที่สะอาด รวมทั้งติดตามประเมินผลโครงการที่ได้รับคำรับรอง ส่งเสริมการพัฒนาโครงการและการตลาดซื้อขายปริมาณก๊าซเรือนกระจกที่ได้รับการรับรองเป็นศูนย์กลางข้อมูลที่เกี่ยวกับสถานการณ์ดำเนินงานด้านก๊าซเรือนกระจกจัดทำฐานข้อมูลเกี่ยวกับโครงการที่ได้รับคำรับรองและการขายปริมาณก๊าซเรือนกระจกที่ได้รับการรับรอง ส่งเสริมและพัฒนาศักยภาพตลอดจนให้คำแนะนำแก่หน่วยงานภาครัฐและภาคเอกชนเกี่ยวกับการบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก

อบก.มีบทบาทสำคัญเช่น วิเคราะห์กลั่นกรอง โครงการลดก๊าซเรือนกระจก หรือ “โครงการกลไกการพัฒนาที่สะอาด” (Clean Development Mechanism : CDM) วิเคราะห์แต่ละโครงการว่าเป็นโครงการที่เป็นไปในหลักเกณฑ์การพัฒนาที่ยั่งยืน (Sustainable Development Criteria : SD Criteria) ทั้งด้านสิ่งแวดล้อมเศรษฐกิจ และสังคมที่ประเทศไทยกำหนดขึ้นเพื่อให้เกิดประโยชน์ทั้งด้านสิ่งแวดล้อม การลงทุนการพัฒนาเศรษฐกิจ และสังคม แก่ชุมชน ท้องถิ่นที่โครงการตั้งอยู่ นอกจากนี้ ที่สำคัญคือ มีบทบาทในการส่งเสริมและพัฒนาโครงการและการตลาดซื้อ-ขายปริมาณก๊าซเรือนกระจก (Carbon Credit) ที่ได้รับการรับรอง รวมทั้งส่งเสริมและพัฒนาศักยภาพตลอดจนให้คำแนะนำแก่หน่วยงานภาครัฐและภาคเอกชนทั้งในการพัฒนาโครงการลดก๊าซเรือนกระจก (โครงการ CDM) และการบริหารจัดการเกี่ยวกับก๊าซเรือนกระจกรวมทั้ง การให้บริการข้อมูลที่ทันสมัยทั้งเรื่องสถานการณ์ สภาวะการตลาด Carbon Market และการเข้าถึงแหล่งทุน (Access to Fund) ที่จะมาลงทุนร่วมทั้งจากภายนอกประเทศและภายในประเทศ รวมถึงมีบทบาทในการสนับสนุนการดำเนินงานด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศโดยเฉพาะอย่างยิ่งด้านการลดการปลดปล่อยก๊าซเรือนกระจก

ป่าไม้เป็นแหล่งดูดซับคาร์บอนใหญ่ตามธรรมชาติในการสังเคราะห์แสงของพืช

ด้วยกระบวนการที่ใช้ก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ ซึ่งเป็นก๊าซเรือนกระจก (Greenhouse Gas) ที่สำคัญ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) พร้อมให้การสนับสนุนเต็มที่ ตามนโยบาย ปี 2565 “ทส. ยกกำลังเอ็กซ์” ชูนโยบายปี 2565 ป่าไม้ดูดกลับก๊าซเรือนกระจก ปลดล็อค “ป่า” นำไทยสู่ตลาดคาร์บอนเครดิต สร้างความรู้ขายเครดิตคาร์บอน เช่น การรับจ้างปลูกป่าเพื่อเอาคาร์บอนเครดิต ธุรกิจสีเขียวต่างๆ

ข้อมูลปี 2564 จีนปล่อยก๊าซเรือนกระจกเป็นอันดับ 1 รองลงมาสหรัฐฯ และญี่ปุ่น ส่วนไทยอยู่อันดับที่ 20 ปล่อยวันละ 1 ตัน รวม 365 ตันต่อปี โดยมาจากภาคพลังงาน 70% รองลงมา ภาคเกษตร ตัวสำคัญนาข้าว ภาคอุตสาหกรรมเป็นปูนซีเมนต์ ถัดมาการตัดไม้ทำลายป่า ทำให้พื้นที่กักเก็บก๊าซหายไป อย่างไรก็ตาม ประเทศไทยโชคดียังมีป่าไม้ช่วยกักเก็บก๊าซ 91 ล้านตัน ไทยปล่อยก๊าซเรือนกระจก มากสุด คือ ก๊าซคาร์บอน ข้อตกลงปารีส 52 ประเทศทั่วโลกประกาศเป้าหมายลดก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (Net Zero emissions) โดยมีบริษัทไทยจำนวน 44 บริษัท ปี 2565 มีเอกชน เช่น บริษัทบางจาก ร่วมปลูกป่าชุมชน 2,900 ไร่

การขายคาร์บอนเครดิต

ปัจจุบันโลกเผชิญกับวิกฤต “ภาวะโลกร้อน” ที่เป็นผลมาจากตัวการหลัก คือ “ก๊าซเรือนกระจก” ที่มีคุณสมบัติในการดูดซับคลื่นรังสีความร้อน หรือรังสีอินฟราเรดได้ดี เช่น คาร์บอนไดออกไซด์ (CO2) มีเทน (CH4) ไนตรัสออกไซด์ (N2O) ก๊าซไฮโดรฟลูออโรคาร์บอน (HFCs) อาจเกิดปรากฏการณ์เรือนกระจก (Greenhouse effect) หากไม่มีก๊าซเหล่านี้ คือ ขบวนการที่รังสีความร้อนจากพื้นผิวโลกจะถูกดูดซับโดยก๊าซเรือนกระจกในชั้นบรรยากาศ และแผ่รังสีออกไปอีกครั้งในทุกทิศทาง เนื่องจากการแผ่รังสีออกไปอีกครั้งถูกส่งกลับมายังพื้นผิวโลกและบรรยากาศด้านล่าง เป็นผลทำให้ระดับอุณหภูมิพื้นผิวโลกเฉลี่ยสูงขึ้น

จึงส่งผลให้ธุรกิจหนีกระแสคาร์บอนต่ำไม่พ้น หนึ่งในวิธีที่ช่วยลดปริมาณก๊าซคาร์บอนฯ ที่ตัวเองปล่อยได้ คือการ “ซื้อขายคาร์บอนเครดิต” เปลี่ยนปัญหาเป็นโอกาสสร้างธุรกิจสีเขียว แปลงคาร์บอนเครดิตเป็นรายได้ เนื่องจากป่าเป็นแหล่งสะสมคาร์บอนขนาดใหญ่ของโลก การอนุรักษ์และปลูกป่าจึงเป็นกลไกสำคัญในการช่วยกักเก็บคาร์บอน บรรเทาความรุนแรงของปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ อีกทั้งสามารถสร้างรายได้ให้กับพี่น้องประชาชนได้ในทุกปีจากการซื้อขายคาร์บอนเครดิต เมื่อวันที่ 29 สิงหาคม 2565 กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม 3 หน่วยงาน ลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือโครงการจัดการคาร์บอนเครดิต (Carbon Credit) ในป่าเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืนกับมูลนิธิแม่ฟ้าหลวงฯ และภาคเอกชน ขับเคลื่อนดูแลเรื่องป่าชุมชน จัดการคาร์บอนเครดิตในป่า หวังสร้างรายได้แก่ชุมชน พร้อมองค์ความรู้ซื้อขายคาร์บอนเครดิต ต่อการมุ่งสู่การบรรลุเป้าหมายความเป็นกลางทางคาร์บอน ภายในปี ค.ศ.2050 และการปลดปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ ภายในปี ค.ศ.2065

จากข้อมูลย้อนหลัง 5 ปีถึงปัจจุบัน ราคาคาร์บอนเครดิตดีดตัวสูงขึ้นอย่างมีนัยสำคัญถึง 120 บาท/ตันคาร์บอนไดออกไซด์ บวกกับทิศทางด้านการลงทุนเพื่อสิ่งแวดล้อมจากทั่วโลก ก็ถือว่ามีโอกาสที่ราคาจะเพิ่มสูงขึ้นอีก ตามความต้องการของตลาดโลก ซึ่งกลไกการซื้อขายคาร์บอนเครดิตในประเทศไทยดำเนินการโดย องค์การบริหารก๊าซเรือนกระจก (องค์การมหาชน) หรือ อบก.

ตลาดคาร์บอนเครดิต (Carbon Credit)  แบ่งออกเป็น 2 ประเภทหลัก คือ (1) ตลาดคาร์บอนภาคบังคับ ส่วนใหญ่จะเป็นอุตสาหกรรมระดับประเทศ หรือระหว่างประเทศ โดยรัฐบาลจะเป็นผู้กำหนดปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจก มีผลผูกทางกฎหมาย หากธุรกิจใดไม่ปฏิบัติตามจะมีบทลงโทษชัดเจน และการตลาดภาคบังคับจะเกี่ยวข้องกับการซื้อขายคาร์บอนตามพันธกรณีของพิธีสารเกียวโตด้วยเช่นกัน (2) ตลาดคาร์บอนภาคสมัครใจ เป็นตลาดสำหรับเอกชน หรือธุรกิจที่ต้องการลดปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจกโดยสมัครใจ ไม่ผูกพันกับกฎหมาย และโดยสมาชิกสามารถตั้งเพดาน การปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ด้วยตัวเองได้ ซึ่งมีผลดีต่อภาคธุรกิจ SMEs ที่สนใจในพลังงานสะอาด และเริ่มต้นลงทุนเพื่อมุ่งลดปริมาณก๊าซเรือนกระจก ซึ่งอาจนำมาแลกเปลี่ยนเป็นเครดิตคาร์บอนได้ในอนาคต

โดยมีโครงการ T-VER  คือ โครงการลดก๊าซเรือนกระจกภาคสมัครใจตามมาตรฐานของประเทศไทย (Thailand Voluntary Emission Reduction Program: T-VER) คือ โครงการลดก๊าซเรือนกระจกที่องค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก (อบก.) พัฒนาขึ้นเพื่อส่งเสริมและสนับสนุนให้ทุกภาคส่วน มีส่วนร่วมในการลดก๊าซเรือนกระจกในประเทศโดยความสมัครใจ และสามารถนำปริมาณการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกที่เกิดขึ้น ที่เรียกว่าคาร์บอนเครดิต ซึ่งภายใต้โครงการ T-VER นี้เรียกว่า “TVER” ไปขายในตลาดคาร์บอนภาคสมัครใจในประเทศได้ ทั้งนี้ อบก. ได้กำหนดหลักเกณฑ์และขั้นตอนในการพัฒนาโครงการ ระเบียบวิธีการในการลดก๊าซเรือนกระจก (Methodology) การขึ้นทะเบียนและการรับรองปริมาณก๊าซเรือนกระจก โดยจะต้องเป็นโครงการที่ก่อให้เกิดการลด/ ดูดซับก๊าซเรือนกระจกที่เกิดขึ้นภายในประเทศไทย

สถานการณ์การซื้อขายคาร์บอนเครดิตเดือน ม.ค.-ก.พ. (อบก. 7 มีนาคม 2566)

เริ่มปี พ.ศ.2566 ตลาดซื้อขายคาร์บอนเครดิตของโครงการ T-VER ในรูปแบบการซื้อขายที่ไม่ผ่านตลาดทางการ หรือ Over-the-Counter (OTC) เริ่มคึกคักมากขึ้น เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีที่ผ่านมา โดยปริมาณและมูลค่าการซื้อขายคาร์บอนเครดิตใน 2 เดือนแรกของปี พ.ศ.2566 เติบโตมากกว่า 5 เท่า เมื่อเทียบกับปี พ.ศ.2565 โดยเฉลี่ยราคาอยู่ที่ 20-218 บาทต่อตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่า สำหรับโครงการ T-VER ที่ผู้ซื้อให้ความสนใจและซื้อไปเพื่อใช้ชดเชยยังคงเป็นโครงการประเภทพลังงานทดแทน เช่น แสงอาทิตย์ ชีวมวล และชีวภาพ ทั้งนี้ ส่วนหนึ่งมาจากสถิติการรับรองคาร์บอนเครดิตของโครงการ T-VER ประเภทพลังงานทดแทนมีการรับรองคาร์บอนเครดิตเข้าสู่ตลาดคาร์บอนมากที่สุด ในจำนวนกว่า 8.3 ล้านตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่า คิดเป็น 59.57% ของปริมาณคาร์บอนเครดิตที่มีการรับรองจาก อบก. ทั้งหมด

สำหรับราคาคาร์บอนเครดิตในรูปแบบ OTC ผู้ซื้อและผู้ขายจะพิจารณากำหนดราคาโดยขึ้นกับปัจจัยดังนี้ (1) ต้นทุนส่วนเพิ่มในการทำโครงการ T-VER เช่น ค่าจ้างที่ปรึกษา ค่าจ้างผู้ทวนสอบ ค่าธรรมเนียมในการขึ้นทะเบียนและรับรองคาร์บอนเครดิตของ อบก. (2) จำนวนปริมาณการซื้อขายในแต่ละครั้ง (3) ผลประโยชน์รวม (Co-benefit) ของโครงการ

ความหวังในการสร้างเศรษฐกิจ

ด้วยความหวังว่า “คาร์บอนเครดิต” จะสร้างโอกาสเศรษฐกิจไทย โอกาสธุรกิจใหม่เปลี่ยนปัญหาเป็นรายได้ ลดมลพิษด้วยแนวคิด ESG (Environment, Social, Governance) หรือการพัฒนาองค์กรอย่างยั่งยืน  

ปัจจุบัน ผู้ที่ประสงค์จะขายคาร์บอนเครดิตสามารถลงทะเบียนคาร์บอนเครดิตภาคสมัครใจ (T-VER Registry) ของ องค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก (องค์การมหาชน) (อบก.) ได้ ดังนี้

(1) เจ้าของบัญชี T-VER Credits หรือผู้ที่ได้รับมอบอำนาจจากเจ้าของบัญชี T-VER Credits แจ้งความประสงค์ในการขายคาร์บอนเครดิต จำนวนคาร์บอนเครดิต และคาร์บอนเครดิตจากโครงการใด ไปยังเจ้าหน้าที่ อบก.

(2) อบก. พิจารณาความถูกต้อง

(3) อบก. จะดำเนินการโอน (Transfer) หรือหักล้าง (Cancel) คาร์บอนเครดิต ตามที่ได้รับแจ้งแก่ผู้ใช้งาน ภายใน 3วัน ทำการ หลังจากตรวจสอบข้อมูล/เอกสารเรียบร้อยแล้ว

(4) อบก. จะส่งเอกสาร Transfer Notification/Cancellation Notification ไปยังอีเมลของเจ้าของบัญชี T-VER Credits หรือผู้ที่ได้รับมอบอำนาจจากเจ้าของบัญชี T-VER Credits ในการทำธุรกรรม

การซื้อคาร์บอนเครดิตต้องทำอย่างไร มีขั้นตอนคือ

(1) ยื่นทะเบียนการขอเปิดบัญชีกับ อบก. ในระบบ T-VER

(2) เลือกซื้อผ่านศูนย์ซื้อขายคาร์บอนเครดิต (Trading Platform) หรือ ซื้อในระบบทวิภาค (Over-the-counter: OTC) ซึ่งเป็นการตกลงกันระหว่างผู้ต้องการซื้อและผู้ขายโดยตรงไม่ผ่านตลาด

(3) อบก. ถ่ายโอนคาร์บอนเครดิตจากบัญชีผู้ขายไปยังบัญชีผู้ซื้อ

(4) ผู้ซื้อแจ้งความประสงค์ซื้อคาร์บอนเครดิต

(5) อบก. ตรวจสอบ และบันทึกการใช้คาร์บอนเครดิต     

ในความเห็นต่าง ไม่ได้ว่าโลกสวย นโยบายการขายคาร์บอนเครดิตดูจะเป็นเรื่องของธุรกิจเอกชนรายใหญ่ที่มีทุน ส่วนชาวบ้านทั่วไปเข้าไม่ถึง แม้จะมีกิจกรรมการปลูกป่าที่อ้างว่าเพื่อสร้างเศรษฐกิจสีเขียวได้ก็ตาม เพราะการปลูกป่ามิใช่เรื่องง่ายที่ประชาชนทั่วไปในท้องถิ่นจะทำได้ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องทุน หรือพื้นที่ ความหวังประชาชนจึงมีน้อย แต่ในขณะเดียวกันภาครัฐมีกิจกรรมที่รณรงค์ “คาร์บอนเครดิต” เช่น ให้ทุนแผงโซลาร์เซลล์ ให้ลดการเผาหญ้าเผาป่า ให้ทำถังขยะเปียก ที่ประชาชนไม่สามารถขายคาร์บอนเครดิตได้ นโยบายก็คือนโยบายแต่การปฏิบัติมันดูจะลอยเลิศ นอกจากถูกสั่งให้ทำ หรือให้ความร่วมมือไปวันๆ แล้วอย่างนี้ชาวบ้านจะลืมตาอ้าปาก และมีส่วนร่วมอย่างไร คน อปท.สงสัยว่า การรณรงค์สร้างคาร์บอนเครติต จนข้าราชการและชาวบ้านต้องเสียสละให้ความร่วมมืออย่างสูง อปท.และชาวบ้านจะเอาไปขายได้ไหม ขายอย่างไร เพราะทางปฏิบัติกับทางทฤษฎีหลักการดูย้อนแย้ง ชาวบ้านเขาสงสัยถามมา