จากกระแสข่าวก่อนหน้านี้ได้ระบุถึงวัตถุซีเซียม-137 ได้ถูกหลอม-ถลุง กลายเป็นฝุ่นเหล็กปนเปื้อนกัมมันตรังสี สร้างความกังวลให้แก่ประชาชน และหน่วยงานด้านสิ่งแวดล้อม สาธารณสุขเป็นอย่างมาก ถึงแม้ในครั้งนี้จะมีปริมาณไม่มาก แต่ประชาชนต้องเฝ้าระวัง ป้องกันตนเองไม่ให้ซีเซียมเข้าสู่ร่างกาย เพื่อให้ประชาชนได้ตระหนักรู้อย่างไม่ตระหนก

ล่าสุด วันที่ 24 มีนาคม 2566 ศ.ดร.นพ.สุรศักดิ์ บูรณตรีเวทย์  สถานเวชศาสตร์ชุมชนและเวชศาสตร์ครอบครัว คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์รังสิต ตำบลคลองหนึ่ง อำเภอคลองหลวง ปทุมธานี ได้อธิบายความรู้เกี่ยวกับ ซีเซียม-137 ไว้ว่า ซีเซียมเป็นโลหะชนิดหนึ่ง แบ่งเป็น 2 ประเภท คือ 1. ซีเซียมตามธรรมชาติมีอยู่ตัวเดียว คือ ซีเซียม-133 อยู่ในชั้นหินไม่ปล่อยกัมมันตภาพรังสี ปลดปล่อยออกสู่ธรรมชาติจากการกัดกร่อนสลายของหินหรือกิจกรรมที่มีการขุดเจาะหินที่มีซีเซียม-133 มาใช้ประโยชน์ ซีเซียม-133 ไม่เป็นวัสดุกัมมันตรังสี 2. ซีเซียมที่ปล่อยกัมมันตภาพรังสีที่พบบ่อย คือ ซีเซียม-134 และ ซีเซียม-137 เกิดจากปฏิกิริยา fission ของแร่ยูเรเนียมในการผลิตไฟฟ้าพลังนิวเคลียร์หรือจากระเบิดปรมาณู ซีเซียมทั้ง 2 ประเภทสามารถฟุ้งกระจายในอากาศเป็นระยะทางไกล และถูกแรงโน้มถ่วงหรือฝนชะลงสู่พื้นดิน เมื่อลงสู่ดินซีเซียมจะยึดแน่นกับดินและไม่ซึมลงไปใต้ผิวดิน ทำให้พืชไม่สามารถดูดซึมซีเซียมผ่านรากได้ แต่พืชสามารถได้รับซีเซียม-134 หรือซีเซียม-137 เข้าไปผ่านทางผิวใบขณะที่ซีเซียม-134 หรือซีเซียม-137 ตกลงมาสู่พื้นดิน  

โดย ซีเซียม-137 เป็นวัสดุกัมมันตรังสีชนิดก่อให้เกิดไอออน (มีพลังงานสูงมากกว่ารังสีชนิดไม่ก่อให้เกิดไอออน) ถูกนำมาใช้ในปริมาณน้อยสำหรับการเทียบมาตรฐานเครื่องตรวจวัดรังสี ใช้ปริมาณมากขึ้นในเครื่องมือรังสีรักษามะเร็ง ใช้ในโรงงานเพื่อตรวจสอบการไหลเวียนของเหลวผ่านท่อ ตรวจสอบความหนาของวัสดุ เช่น กระดาษหรือแผ่นโลหะ และเป็นกากกัมมันตรังสีจากเครื่องปฏิกรณ์นิวเคลียร์ในโรงไฟฟ้าพลังนิวเคลียร์ ซีเซียม-137 ปล่อยอนุภาคเบต้า (beta particles) และรังสีแกมม่า (gamma ray)  หน่วยของวัสดุกัมมันตรังสีรวมถึงซีเซียม-137 มีหลายประเภทตามคุณลักษณะที่ใช้แบ่ง สำหรับความสามารถในการแผ่กัมมันตภาพรังสีมีหน่วยเป็นเบ็กเคอเรล (Becquerel, Bq) หรือคูรี (Curie, Ci)  ซึ่ง 1 เบ็กเคอเรลเท่ากับการสลายกัมมันตรังสี 1 อะตอมต่อ 1 วินาที และ 1 คูรีเท่ากับ 37,000 ล้านเบ็กเคอเรล และปริมาณรังสีดูดกลืน (absorbed dose) คือ ปริมาณพลังงานที่เนื้อเยื่อดูดกลืนไว้เมื่อรับรังสี หน่วยเป็นแร็ด (rad) หรือเกรย์ (Gy) โดย 1 เกรย์เท่ากับ 100 แร็ด

ซึ่งซีเซียม-137 สามารถเข้าสู่ร่างกายคนได้ 3 ทาง คือ ผ่านผิวหนังจากการสัมผัส หายใจ หรือกินเข้าไป ผลกระทบต่อสุขภาพของ เกิดจากอนุภาคเบต้าและรังสีแกมม่าที่ถูกปล่อยออกมา ความรุนแรงของผลกระทบต่อสุขภาพขึ้นกับปริมาณกัมมันตภาพรังสีที่ได้รับ เวลาที่สัมผัส และระยะห่างจากซีเซียม-137 โดยแบ่งเป็นผลกระทบระยะสั้นเกิดหากรับสัมผัสซีเซียม-137 ในปริมาณสูง ทางผิวหนังทำให้เกิดการไหม้ของผิวหนังและซึมผ่านผิวหนังเข้าไปทำให้เกิดกลุ่มอาการจากการได้รับรังสีสูงแบบเฉียบพลัน (acute radiation syndrome) ต้องได้รับปริมาณรังสีดูดกลืนมากกว่า 0.75 เกรย์ (75 แร็ด) ในระยะเวลาเป็นนาทีหรือชั่วโมง โดยมีอาการเริ่มต้น คือ คลื่นไส้ อาเจียน ท้องเสียในช่วงเวลาเป็นนาทีถึงวันหลังรับสัมผัสซีเซียม-137 จากนั้นอาการจะดีขึ้นชั่วขณะและกลับทรุดลงไปโดยความหนักเบาของอาการขึ้นกับปริมาณรังสีที่ได้รับเข้าไป อาการดังกล่าวมีตั้งแต่เบื่ออาหาร อ่อนเพลีย ไข้ คลื่นไส้ อาเจียน ท้องเสีย ชัก หมดสติ และเสียชีวิต  

สำหรับผลกระทบระยะยาว องค์กรวิจัยมะเร็งนานาชาติ (International Agency for Research on Cancer) ได้สรุปว่าวัสดุกัมมันตรังสีที่ปล่อยรังสีแกมม่ามีหลักฐานชัดเจนว่าก่อให้เกิดมะเร็งต่อมน้ำลาย หลอดอาหาร กระเพาะอาหาร ลำไส้ใหญ่ กระดูก ปอด ผิวหนัง เต้านม ไต กระเพาะปัสสาวะ สมองและระบบประสาทส่วนกลาง ต่อมธัยรอยด์ และเม็ดเลือดขาวในคน โดยไม่มีระดับปริมาณขั้นต่ำที่ได้รับที่ก่อให้เกิดมะเร็ง เนื่องจาก รังสีแกมม่าทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในสารพันธุกรรม (DNA) เมื่อเข้าสู่ร่างกายคน และกลไกการซ่อมแซมสารพันธุกรรมให้กลับมาปกติมีโอกาสทำให้เกิดการกลายพันธุ์และเป็นมะเร็งได้  

ทั้งนี้การจัดการเหตุฉุกเฉินทางนิวเคลียร์และรังสี พระราชบัญญัติพลังงานนิวเคลียร์เพื่อสันติ พ.ศ. 2559 มาตรา 100 ได้ระบุว่า ในกรณีที่เกิดอันตรายหรือความเสียหายอันเกิดจากการประกอบกิจการตามใบอนุญาต ผู้รับใบอนุญาตมีหน้าที่ระงับเหตุในเบื้องต้นตามแผนป้องกันอันตรายจากรังสี และต้องแจ้งเหตุดังกล่าว ให้พนักงานเจ้าหน้าที่ทราบทันที รวมทั้งต้องให้ข้อมูลและให้ความร่วมมือแก่พนักงานเจ้าหน้าที่เพื่อแก้ไข บรรเทา หรือระงับซึ่งอันตรายหรือความเสียหายนั้น  

ซึ่ง กระทรวงสาธารณสุขได้ออกแนวทางการป้องกันอันตรายจากรังสีและการเฝ้าระวังทางสุขภาพในกรณีเหตุฉุกเฉินทางนิวเคลียร์และรังสี โดยแบ่งประเภทผู้ป่วยเป็น 5 กลุ่ม คือ กลุ่ม 1 ผู้ป่วยมีอาการให้เห็นว่าเกิดจากการได้รับรังสีและมีบาดแผลหรือแผลไหม้ตามผิวหนัง กลุ่ม 2 ผู้ป่วยไม่มีอาการให้เห็นว่าเกิดจากการได้รับรังสี แต่มีบาดแผล/แผลไหม้ตามผิวหนัง กลุ่ม 3 ผู้ป่วยมีอาการที่คาดว่าอาจได้รับรังสี กลุ่ม 4 ผู้ป่วยไม่มีอาการให้เห็นว่าเกิดจากการได้รับรังสี และไม่มีบาดแผล (ปริมาณรังสีต่ำกว่าค่าที่จะทำให้เกิดการป่วยทางรังสี กลุ่ม 5 ผู้ป่วยที่ได้รับรังสีเกินกว่าขีดกำหนด แต่ยังต่ำกว่าค่าที่จะทำให้เกิดการป่วยทางรังสี ผู้ป่วยในกลุ่มที่ 1 และ 2

ถึงแม้ว่าจะได้รับรังสีหรือไม่ก็ตาม ควรรีบนำส่งโรงพยาบาลที่มีแพทย์ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านการบำบัดรักษาผู้ป่วยทางรังสีโดยด่วน สำหรับผู้ป่วยในกลุ่มที่ 3 นั้นไม่จำเป็นต้องรีบทำการรักษาพยาบาลทันที แต่ต้องประเมินปริมาณรังสีที่ผู้ป่วยได้รับ ผู้ป่วยกลุ่มที่ 4 และ 5 นั้น ตามปกติไม่ต้องเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาล แต่จะต้องมีการติดตามผลของผู้ป่วยกลุ่มที่ 4 เพื่อให้มั่นใจว่าการวินิจฉัยครั้งแรกถูกต้องและเพื่อประเมินปริมาณรังสีที่ได้รับให้ถูกต้องยิ่งขึ้น ส่วนผู้ป่วยในกลุ่มที่ 5 ควรมีการเก็บประวัติปริมาณรังสีที่ได้รับ และหากมีความจำเป็นควรดำเนินการประเมินปริมาณรังสีใหม่

อย่างไรก็ตามประชาชนควรได้รับข้อมูลเกี่ยวกับสารเคมีหรือวัสดุอันตรายที่มีการใช้หรือเป็นของเสียจากการผลิตในโรงงานที่ตั้งอยู่ในชุมชน มีการให้ความรู้ความเข้าใจสารเคมีหรือวัสดุอันตราย มีส่วนร่วมในการตรวจสอบปริมาณสารเคมีหรือวัสดุอันตรายที่ถูกปล่อยจากโรงงาน และเฝ้าระวังสุขภาพของประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากสารเคมีหรือวัสดุอันตรายต่าง ๆ