วันที่ 24 มี.ค.66 รศ.นพ.ธีระ วรธนารัตน์ อาจารย์คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โพสต์เฟซบุ๊กส่วนตัว "Thira Woratanarat" ระบุว่า ...

เมื่อวานทั่วโลกติดเพิ่ม 65,349 คน ตายเพิ่ม 310 คน รวมแล้วติดไป 682,969,753 คน เสียชีวิตรวม 6,823,186 คน

5 อันดับแรกที่ติดเชื้อสูงสุดคือ รัสเซีย เกาหลีใต้ ฝรั่งเศส ญี่ปุ่น และเม็กซิโก

เมื่อวานนี้จำนวนติดเชื้อใหม่มีประเทศจากยุโรปและเอเชียครอง 7 ใน 10 อันดับแรก และ 16 ใน 20 อันดับแรกของโลก

จำนวนติดเชื้อใหม่ในแต่ละวันของทั่วโลกตอนนี้ มาจากทวีปเอเชียและยุโรป รวมกันคิดเป็นร้อยละ 81.69 ของทั้งโลก ในขณะที่จำนวนการเสียชีวิตคิดเป็นร้อยละ 70.32

...อัพเดตความรู้โควิด-19

1. ทารกเพศชายจะเสี่ยงต่อการเกิดปัญหาพัฒนาการทางสมองและระบบประสาท หากแม่ติดเชื้อโควิด-19 ระหว่างตั้งครรภ์

Edlow AG และทีมงานจากมหาวิทยาลัย Harvard ทำการศึกษาติดตามผลลัพธ์ของการตั้งครรภ์ในบรรดาทารกที่คลอดจำนวน 18,355 คน

พบว่า หากแม่เกิดการติดเชื้อระหว่างตั้งครรภ์จะทำให้เกิดความเสี่ยงต่อลูก โดยทารกเพศชายที่เกิดจากแม่ที่ติดเชื้อระหว่างตั้งครรภ์จะเสี่ยงที่จะเกิดปัญหาพัฒนาการทางสมองและระบบประสาทในช่วง 12 เดือนหลังคลอด มากกว่าปกติราว 1.94 เท่า (ช่วงความเชื่อมั่นตั้งแต่ 1.12-3.17 เท่า)

2. ปัจจัยเสี่ยงที่จะทำให้เกิดปัญหา Long COVID

Tsampasian V และคณะจากสหราชอาณาจักร ทำการทบทวนงานวิจัยอย่างเป็นระบบและวิเคราะห์อภิมาน เพื่อดูว่าปัจจัยใดบ้างที่ทำให้คนติดเชื้อเสี่ยงต่อการเกิด Long COVID ตามมา

จากงานวิจัย 41 ชิ้นทั่วโลก โดยมีกลุ่มประชากรที่ศึกษารวมแล้วทั้งสิ้น 860,783 คน

พบว่าปัจจัยเสี่ยงที่จะทำให้เกิดปัญหา Long COVID มากขึ้นได้แก่

การมีโรคประจำตัวอยู่เดิม จะเสี่ยงมากขึ้น 2.48 เท่า

การติดเชื้อแล้วป่วยจนต้องนอนรักษาตัวในโรงพยาบาล จะเสี่ยงมากขึ้น 2.37 เท่า

เพศหญิง เสี่ยงกว่าเพศชาย 1.56 เท่า

น้ำหนักเกิน/อ้วน/ดัชนีมวลกายสูง จะทำให้เสี่ยงเพิ่มขึ้น 1.15 เท่า

อายุยิ่งมาก ยิ่งเสี่ยงเพิ่มขึ้น ทั้งนี้อายุตั้งแต่ 40 ปีขึ้นไป จะเสี่ยงกว่าอายุน้อยกว่า 40 ปีราว 1.21 เท่า

การสูบบุหรี่ ทำให้เสี่ยงเพื่มขึ้น 1.1 เท่า

3. การป้องกัน Long COVID

ด้วยความรู้ปัจจุบัน "NOVID" หรือการป้องกันตัวไม่ให้ติดเชื้อ ย่อมดีที่สุด แต่หากเคยติดมาก่อน โดยโชคดีไม่เป็น Long COVID การป้องกันตัวไม่ให้ติดเชื้อซ้ำย่อมเป็นทางที่สมควรทำอย่างยิ่ง

การป้องกันตัวพื้นฐาน ปฏิบัติได้เอง และมีประสิทธิภาพดี ได้แก่ การใช้ชีวิตอย่างมีสติ ไม่ประมาท ไม่ปรามาสว่าโควิดกระจอก ไม่แชร์ของกินของใช้กับคนอื่นนอกบ้าน เลี่ยงที่แออัด ทำงาน/เรียน/กินดื่ม/เที่ยวในสถานที่ที่ระบายอากาศดี และการใส่หน้ากากอย่างถูกต้องสม่ำเสมอเวลาตะลอนนอกบ้าน จะช่วยลดความเสี่ยงที่จะติดเชื้อแพร่เชื้อลงไปได้มาก

หากได้รับวัคซีนครบ จะช่วยลดความเสี่ยงที่เกิดปัญหา Long COVID ได้ราว 43% (ช่วงความเชื่อมั่นตั้งแต่ 24%-57%)

ทั้งนี้ความรู้จากงานวิจัยทางการแพทย์ ชี้ให้เห็นว่าหากติดเชื้อแล้วได้รับยาต้านไวรัส Paxlovid จะช่วยลดเสี่ยงต่อ Long COVID ได้ราว 26% และหากได้รับยา Metformin จะช่วยลดเสี่ยงได้ราว 42%

4. การรักษา Long COVID

ยังไม่มีวิธีรักษามาตรฐานในปัจจุบัน มักดูแลตามอาการ

ทั้งนี้มีงานวิจัยมากขึ้นเรื่อยๆ ที่กำลังหาทางรักษา Long COVID โดยล่าสุดทางทีมงานจากมหาวิทยาลัยเยล ประเทศสหรัฐอเมริกา กำลังจะเริ่มเปิดรับอาสาสมัครผู้ป่วยที่เป็น Long COVID เข้าร่วมงานวิจัยรักษาด้วยยา Paxlovid ตั้งแต่เดือนเมษายนนี้เป็นต้นไป คงต้องรอติดตามผลการศึกษากันอย่างใกล้ชิด

...บทเรียนความสูญเสียจากโรคระบาดตลอดหลายปีที่ผ่านมานี้ ย้ำเตือนให้เราตระหนักถึงความสำคัญของการป้องกันตัว ไม่ประมาท

ความใส่ใจสุขภาพ หรือมี Health consciousness จะช่วยให้เรามีโอกาสที่จะประคับประคองตนเองและสมาชิกในครอบครัวให้มีสวัสดิภาพและความปลอดภัยในชีวิต ช่วยลดความเสี่ยงลงไปได้ไม่มากก็น้อย ไม่ว่าภัยคุกคามจะมาในรูปแบบใด

อ้างอิง

1. Edlow AG et al. Sex-Specific Neurodevelopmental Outcomes Among Offspring of Mothers With SARS-CoV-2 Infection During Pregnancy. JAMA Network Open. 23 March 2023.

2. Tsampasian V et al. Risk Factors Associated With Post−COVID-19 Condition: A Systematic Review and Meta-analysis. JAMA Internal Medicine. 23 March 2023.

3. Topol E. Preventing Long COVID. 23 March 2023.