ช่วยกันคิด ช่วยกันทำ / ทหารประชาธิปไตย           

ลัทธิอาณานิคมใหม่ได้เปลี่ยนแปลงวิธีการในการควบคุมประเทศด้อยพัฒนา และประเทศกำลังพัฒนาจากการใช้กำลังทหารเข้าไปควบคุม มาเป็นวิธีการทางอ้อม ที่สำคัญคือการใช้กลไกทางเศรษฐกิจ และองค์การเศรษฐกิจระหว่างประเทศเป็นเครื่องมือสำคัญ

แต่นั่นเป็นเพียงมาตรการสำคัญที่ชัดเจนจับต้องได้ ทว่ายังมีมาตรการอื่นๆในการครอบงำ เช่น การใช้วัฒนธรรม การใช้ภาษา และแม้กระทั่งการใช้สื่อสารมวลชนในการครอบงำความคิดของประชาชนในประเทศโลกที่ 3 หรือแม้แต่การให้ผลประโยชน์ต่อชนชั้นปกครองเพื่อให้ยินยอมอยู่ในการครอบงำของเจ้าอาณานิคมยุคใหม่

ลัทธิอาณานิคมยุคใหม่ได้ถูกนำมาใช้ภายหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 ซึ่งมีการประชุมจัดตั้งองค์การระหว่างประเทศของผู้ชนะสงครามตามข้อตกลง  BrettonWood ทำให้ก่อกำเนิดองค์การสหประชาชาติธนาคารโลก และกองทุนการเงินระหว่างประเทศ เพื่อใช้เป็นเครื่องมือในการควบคุมการจัดระเบียบโลกใหม่ และการปลุกกระแสโลกาภิวัฒน์เพื่อเปิดพรมแดนการติดต่อสื่อสาร การค้าเสรี และการเงินเสรี

หลักการดังกล่าวนั้นเมื่อมองดูผิวเผินก็ดูว่าเข้าท่าดี แต่แท้ที่จริงกลับเป็นการเปิดช่องทางให้ระบบทุนนิยมรวมศูนย์อำนาจได้มากขึ้น และแปรเปลี่ยนไปจาก อุดมการณ์ทุนนิยมเสรี ไปสู่ทุนนิยมผูกขาดทำให้การค้าและการเงินตกอยู่ภายใต้อำนาจของเจ้าอาณานิคมยุคใหม่ ที่มีอำนาจเหนือกว่าทั้งทางทหาร การเมือง และที่สำคัญทางเศรษฐกิจ ใช้เป็นช่องทางในการครอบงำประเทศในโลกที่ 3 แบบละมุนละม่อมไม่รู้ตัว ภายใต้หลักการที่พึ่งพากันและเปิดกว้างภายใต้บริบทของโลกาภิวัฒน์

ตัวอย่างเช่น ในละตินอเมริกา ซึ่งการปกครองโดยตรงจากต่างประเทศสิ้นสุดลงในต้นศตวรรษที่ 19 กลับถูกครอบงำและตักตวงผลประโยชน์จากเจ้าอาณานิคมยุคใหม่ เพราะต้องพึ่งพาทั้งทางเศรษฐกิจ การเมือง โดยมีกลไกขององค์การระหว่างประเทศเป็นเครื่องมือในการตีกรอบควบคุมให้อยู่ในสิ่งที่เรียกว่า “ระเบียบโลกใหม่”

ตัวอย่างอีกอันหนึ่งคือ การประชุมของผู้นำประเทศ 6 ประเทศ ในยุโรป เมื่อปีค.ศ. 1957 เรียกว่าสนธิสัญญากรุงโรม เพื่อจัดตั้งประชาคมเศรษฐกิจยุโรป (EEC) หรือตลาดร่วม (COMMON MARKET) และหนึ่งในข้อตกลงนั้นก็คือการรวมเอาดินแดนโพ้นทะเลของตนไว้ในตลาดร่วม โดยกลุ่มประเทศเหล่านี้จะเป็นผู้จัดการแบ่งปันผลประโยชน์มาจัดสรรกันใน EEC

ทั้งนี้ได้เริ่มต้นด้วยการครอบงำเศรษฐกิจของอาฟริกาที่ถูกปกครอง โดยฝรั่งเศส อิตาลี เบลเยียม เนเธอแลนด์เป็นจุดเริ่มต้น

วัตถุประสงค์สำคัญคือการชะลอการพัฒนาและการเติบโตของประเทศเหล่านั้นเพื่อเป็นแหล่งวัตถุดิบและแรงงานราคาถูกป้อนการขยายตัวทางอุตสาหกรรมของยุโรป

ยิ่งสถานการณ์ทางการเมืองดำเนินไปสู่สภาพสงครามเย็น ผลพวงจากการวางแผนของสหรัฐฯ เช่น แผนการมาแชลที่สหรัฐฯไปเพิ่มการลงทุนในยุโรป ตามแนวคิดของลัทธิทรูแมน สหรัฐฯจึงได้ขยายขอบเขตของอิทธิพลด้วยการเสนอความช่วยเหลือทางการเงินกับประเทศใดๆ ก็ได้ที่ยอมรับการคุ้มครองจากสหรัฐฯ จากภัยคอมมิวนิสต์ นั่นจึงทำให้สหรัฐฯขยายอิทธิพลของตนเข้าไปอย่างมากในโลกที่ 3 ด้วยกลไกต่างๆ รวมทั้งการใช้อำนาจในทางทหารผ่านการยินยอมของชนชั้นปกครองเข้าไปตั้งฐานทัพกระจายไปทั่วโลก

อย่างไรก็ตามในช่วงเปลี่ยนผ่านครั้งสำคัญจาก ศตวรรษที่ 20 ไปสู่ศตวรรษที่ 21 โลกได้มีการเปลี่ยนแปลงอย่างรุนแรง จากการก้าวกระโดดของเทคโนโลยี โดยเฉพาะด้าน IT และผลพวงของการแพร่กระจายข้อมูลข่าวสาร องค์ความรู้ที่แม้ยังไม่เท่าเทียมกันในกลุ่มประเทศกำลังพัฒนา แต่มันก็ก่อกำเนิดให้มีการพัฒนาอย่างก้าวกระโดดในหลายๆประเทศ โดยเฉพาะในเอเซีย เช่น จีน ญี่ปุ่น และเกาหลีใต้ ทำให้ดุลของอำนาจเริ่มเปลี่ยนไป

เจ้าอาณานิคมยุคใหม่ จึงจำต้องปรับเปลี่ยนแนวทางจากการที่จะทำสงครามโดยตรงกันเอง มาสู่การร่วมมือเพื่อสร้างสงครามตัวแทนและการใช้กลไกต่างๆรวมทั้ง Soft Power ในการบริหารจัดการระเบียบโลกใหม่เพื่อให้ยังคงสนองประโยชน์ของกลุ่มประเทศตะวันตกที่พัฒนามาก่อน

โดยเฉพาะการผงาดขึ้นมาเป็นผู้นำเดี่ยวในโลก ภายหลังจากการล่มสลายของสหภาพโซเวียต ของสหรัฐอเมริกา

ด้วยความได้เปรียบทางเศรษฐกิจ การทหาร ตลอดจนการมีบทบาทในการใช้องค์การระหว่างประเทศ ทั้งสหประชาชาติ ธนาคารโลกองค์การการเงินระหว่างประเทศเป็นเครื่องมือ สหรัฐฯ จึงใช้วิธีการกดดันประเทศที่ไม่ยอมศิโรราบต่อตน ด้วยนวตกรรมใหม่นั่นคือ การใช้การปิดกั้นทางเศรษฐกิจหรือคว่ำบาตรทางเศรษฐกิจ(Sanction) และกดดันให้ประเทศกำลังพัฒนาที่มีความอ่อนแอทางเศรษฐกิจต้องปฏิบัติตามคำบงการของตน เพราะถ้าไม่ปฏิบัติตามก็อาจถูก Sanction ได้

สหรัฐฯ ได้นำเอาวิธีการดังกล่าวเข้าสู่กระบวนการทางกฎหมายจนดูเป็นความชอบธรรม ทั้งๆที่ขัดต่อกฎหมายระหว่างประเทศจนดูเป็นความชอบธรรม โดยเฉพาะหลักการของการค้าเสรี และวิธีการนี้ก็เริ่มใช้ตั้งแต่เริ่มศตวรรษที่ 21 ซึ่งเป็นการแสดงพลังอำนาจทางเศรษฐกิจในการสร้างอิทธิพลทางภูมิรัฐศาสตร์ สำหรับประเทศที่อยู่ตรงกันข้ามและขัดผลประโยชน์ของตน

ในความเป็นจริงการแซงชั่น ถูกก่อตั้งจนเป็นสถาบันทางกฎหมาย จากการระดมความคิดของนักกฎหมายระหว่างประเทศในโลกตะวันตก และกลายเป็นสาขาที่เป็นอิสระ ในบริบททางวิชาการกฎหมาย และยังขยายรวมไปถึงนโยบายกีดกันทางการค้า (Protection policy) ตลอดจนการกดดันทางการเมืองและเศรษฐกิจต่อฝ่ายตรงข้าม

อย่างไรก็ตามด้วยข้อพิจารณาตามหลักกฎหมายสากล และหลักนิติธรรมการแซงชั่นเป็นการกระทำที่ไม่ถูกต้อง เพราะมันเป็นการขยายขอบเขตออกไปนอกดินแดนของสหรัฐฯ และไม่มีความสัมพันธ์ใดๆในหลักการอธิปไตยและสิทธิที่ไม่มีความเกี่ยวข้องกับสหรัฐฯเลย ตัวอย่างเช่น สิ่งที่เรียกว่าการแซงก์ชั่นอันดับ 2 (S econdary Sanction) ได้พุ่งเป้าไปที่บุคคล หรือ นิติบุคคลในประเทศพัฒนามิให้ทำการเกี่ยวข้องทางธุรกิจกับบุคคลหรือรัฐที่ตนกำหนด

ทว่าสหรัฐฯ ก็ยังก็ใช้อิทธิพลในการละเมิดพื้นฐานของสิทธิหรืออธิปไตย ของรัฐและปัจเจกชน ภายใต้เงื่อนไขที่สหรัฐฯจะกำหนด

นั่นคือการเปลี่ยนรัฐเหล่านั้นให้กลายเป็นอาณานิคมยุคใหม่ โดยมีสหรัฐฯเป็นมหานครแห่งการแซงชั่น ที่จะทำการกำหนดวิถีของประเทศอื่น ตามความปรารถนาทางการเมืองของวอชิงตัน

สหราชอาณาจักร อดีตเจ้าอาณานิคม ก็มีการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมของตน คือ การตอบสนองแนวทางของสหรัฐฯ จนดูเหมือนจะเป็นเมืองขึ้นเสียเองอีกด้วย

สหราชอาณาจักร นั้นโดยสถานภาพเป็นที่ยอมรับทั้งความสัมพันธ์ทางการตลาดและเศรษฐกิจระหว่างประเทศ ตลอดจนเป็นต้นแบบของพื้นฐานทางกฎหมาย และหลักธรรมาภิบาล

สหราชอาณาจักรจึงเป็นแหล่งหรือหัวขบวนที่เผยแพร่หลักการตามพื้นฐานของหลักนิติธรรม ไปยังประเทศอาณานิคมต่างๆของตน แม้ว่าจะสูญสิ้นอำนาจปกครองโดยตรงแล้วก็ตาม

นอกจากนี้การตัดสินของศาลอังกฤษก็ยังมีอิทธิพลต่อพื้นฐานทางกฎหมายของเครือจักรภพ และประเทศกำลังพัฒนาอื่นๆที่ยึดถืออังกฤษเป็นแม่แบบแห่งกฎหมายที่ยึดหลักนิติธรรมโดยเคร่งครัด

ที่น่าสมเพชคือสหราชอาณาจักรได้ยอมกลืนหลักการทั้งหลายและทิ้งลงในถังขยะ เมื่อทำการละเมิดหลักการของตนเองด้วยการขยายคำตัดสินของศาลอื่นอันมีผลไปละเมิดอำนาจอธิปไตย และสิทธิของนิติบุคคลหรือบุคคลในประเทศอื่นที่อยู่นอกขอบเขตบังคับใช้กฎหมายของตนเอง ด้วยการร่วมมือกับสหรัฐฯบังคับใช้กฎหมายกับประเทศอื่นๆด้วยนโยบายแซงก์ชั่น จนทำให้หลักการของกฎหมายระหว่างประเทศต้องสูญเสียไป

อนึ่งแม้โลกเก่าจะเปลี่ยนไปแต่ก็ใช่ว่าประเทศในโลกที่ 3 จะพ้นไปจากการครอบงำของเจ้าอาณานิคมใหม่ในยุคหลายขั้ว

นี่คือข้อพิจารณาสถานภาพของการเป็นอาณานิคมโดยปริยาย